พลวัตการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องทางด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล ในยุคของการใช้ชีวิตหลากหลายขั้น (Multistage Life) โดยมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า (Coronavirus Disease: COVID-19) เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลัน ในขณะที่มีประเด็นความเหลื่อมล้ำที่เรื้อรังเป็นตัวฉุดรั้งความก้าวหน้า ส่งผลกระทบให้ระบบอุดมศึกษาต้อง Re-Adjust, Re-Position และ Reinvent ตัวเองให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยการผลิตบัณฑิตทั้งในและนอกวัยเรียนที่สามารถอยู่รอดและเติบโตในโลกที่เต็มไปด้วยความซับซ้อนและความไม่แน่นอน การพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมให้ทันสมัยต่อโลก การให้บริการวิชาการเพื่อประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม การเผยแพร่องค์ความรู้ตามหลักวิชาการต่อสาธารณะ รวมถึงการส่งเสริมการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่นและของชาติ
สอวช. จึงได้จัดทำรายงานการศึกษา ระบบอุดมศึกษาไทยในบริบทของประเทศพัฒนาแล้ว ฉบับที่ 1: การผลิตและพัฒนากำลังคนตามความต้องการของประเทศ เพื่อตอบโจทย์ความท้าทายต่าง ๆ ที่หลายประเทศกำลังเผชิญ เพื่อทำให้ระบบอุดมศึกษาไทยสามารถก้าวเข้าสู่เวทีโลกได้อย่างเต็มศักยภาพ และเพื่อพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาไทยให้เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักในการพัฒนาไปสู่ประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งเนื้อหาแบ่งออกเป็น 5 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย
- สถานภาพและการปรับตัวของระบบอุดมศึกษาในประเทศไทย
- สถานการณ์ของโลกและการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อการอุดมศึกษา
- นวัตกรรมระบบอุดมศึกษาในศตวรรษที่ 21 พร้อมบทสรุปนวัตกรรมระบบอุดมศึกษาในศตวรรษที่ 21
- ทิศทางการพัฒนาระบบอุดมศึกษาเพื่อพัฒนากำลังคนตามความต้องการของประเทศ
- ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายระดับชาติ และทิศทางสำหรับสถาบันอุดมศึกษาไทยในอนาคต
หนึ่งในเนื้อหาที่น่าสนใจที่ถูกบรรจุไว้ในสมุดปกขาวระบบอุดมศึกษาไทยในบริบทของประเทศพัฒนาแล้ว คือ การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ หรือ Paradigm shift ของระบบอุดมศึกษา ซึ่งประเทศไทยนั้น มีความท้าทายที่สำคัญ คือ ระบบอุดมศึกษาในภาพรวมของประเทศยังไม่สามารถปรับตัวให้เหมาะสมและทันกับสถานการณ์โลกได้ ด้วยเหตุนี้ ระบบอุดมศึกษาของไทยจึงมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ หรือ Paradigm shift ดังนี้
1. จาก Three-stage life ไปสู่ Multistage life: ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ “Aged Society” อย่างเต็มตัว โดยมีประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปีเทียบเท่ากับร้อยละ 14 ของประชากรทั้งหมดในประเทศ คนไทยจะต้องปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตจากเดิมในรูปแบบ Three-Stage Life เป็น Multistage Life ด้วยการมีช่วงระยะเวลาการทำงานที่ยาวนานมากขึ้น ซึ่งสถาบันอุดมศึกษามีหน้าที่ในการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ผ่านการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ที่เปิดโอกาสให้คนทุกช่วงวัย เข้ามามีส่วนร่วมในการ Reskill, Upskill และ New Skill อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้สามารถอยู่รอดในยุคของ Disruption ได้
2. จาก Institution-based ไปสู่ National credit bank: สถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งที่มีความเชี่ยวชาญแตกต่างกันแต่ไม่ได้ทำงานร่วมกัน ทำให้นักศึกษาไม่สามารถสะสมหน่วยกิตข้ามสถาบันอุดมศึกษาและได้รับหลักฐานการเรียนมาใช้ประโยชน์ในการหางานทำได้ ฉะนั้นควรมีการลดขั้นตอนความซ้ำซ้อนโดยการจัดตั้งหน่วยงานกลางที่สถานศึกษาและผู้เรียนสามารถสะสมหน่วยการเรียนรู้และเรียกใช้ข้อมูลจากหน่วยงานกลางดังกล่าวได้ เพื่อรับรองผลการเรียนหรือการเทียบโอนผลการเรียนได้อย่างคล่องตัว
3. จาก กระจุก ไปสู่ กระจายโอกาสทางการศึกษา: ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นหนึ่งในปัญหาหลักของประเทศไทยที่เกิดขึ้นจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะการกระจุกตัวของความมั่งคั่งในเมืองใหญ่ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น การติดกับดักรายได้ปานกลางของประเทศ และการว่างงาน เป็นต้น จึงเป็นหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษาในการตอบโจทย์นี้ ผ่านการเพิ่มการเข้าถึงการศึกษา ทั้งในเชิง Accessibility และ Affordability ในรูปแบบต่าง ๆ ที่ทันสมัยต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อสร้างโอกาสให้กับคนทุกกลุ่มและทุกช่วยวัยของประเทศ
4. จาก Supply-driven ไปสู่ Co-creation: ความต้องการของภาคเอกชนเปลี่ยนแปลงไปเป็นการรับนักศึกษาเข้าร่วมทำงานก่อนจบการศึกษา สถาบันอุดมศึกษามีความจำเป็นต้องออกแบบหลักสูตรและโมเดลการศึกษาร่วมกับภาคเอกชนเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการทำงานไม่ตรงตามสาขาที่จบ (Skill mismatch) สามารถส่งมอบการเรียนรู้ในรูปแบบสหวิชาการ (Multi-discipline) และการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิต (Life-long learning) ซึ่งในส่วนของผู้เรียนนั้นก็มีความต้องการที่จะเรียนในสาขาที่มีผลตอบแทนที่คุ้มค่า (Return on Investment) กับการลงทุนด้านการศึกษา
5. จาก Degree-oriented ไปสู่ Employability-oriented: ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมมีลักษณะเป็นพลวัต (Dynamism) หากสถาบันอุดมศึกษาไม่มีความยืดหยุ่นในการปรับรูปแบบการเรียนการสอนจะทำให้การจัดการศึกษานั้นไม่สอดคล้องกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น สถาบันอุดมศึกษาสามารถสร้างการมีส่วนร่วมกับอุตสาหกรรมได้ (Real-sector engagement) โดยสถาบันอุดมศึกษาที่ตั้งอยู่ในหัวเมืองหลัก ควรสร้างความพร้อมให้บัณฑิตที่จะก่อนที่เข้าสู่การทำงานจริง ได้เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมในภาพใหญ่ ในขณะที่สถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ ควรเน้นการสร้างบัณฑิตให้ตรงกับความต้องการงานในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการจ้างงาน (Employability) โดยการสร้างประสบการณ์การทำงาน (Work experience) และการสร้างความสัมพันธ์ (Relationship) กับอุตสาหกรรมและนายจ้าง
6. จาก Content-based ไปสู่ Competency-based: สถาบันอุดมศึกษาในอดีตที่ผ่านมามีการจัดการศึกษาในเชิง “เนื้อหา (Content) และ “อาชีพ (Employment)“ สำหรับกลุ่มเป้าหมายในวัยเรียน อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันประเทศมีความจำเป็นต้องสร้างทรัพยากรมนุษย์เชิงสมรรถนะ (Competence) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ดังนั้น สถาบันอุดมศึกษาจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนระบบการศึกษาโดยการจัดการศึกษาเชิงสมรรถนะ (Competence) และการปรับการเรียนการสอนที่เน้นผลลัพธ์การเรียนรู้ (Outcomes based Education) ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนจากการศึกษาที่เน้นการสอนของอาจารย์ ให้เป็นการสร้างการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นหลัก เพื่อการเรียนรู้และเพื่อผลิตบัณฑิตที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent)
7. จาก Local perspective ไปสู่ Global perspective: ในยุคสมัยของโลกไร้พรมแดน การสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพและสามารถแข่งขันได้ในระดับสากลนั้นสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากการขาดแคลนบุคลากรศักยภาพสูงดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญไปยังประเทศใกล้เคียง ดังนั้น การสร้างเมืองในประเทศให้กลายเป็น “ศูนย์กลางทางการศึกษา” (Education Hub) ไม่ว่าจะเป็นระดับโลกหรือภูมิภาค นอกจากจะสามารถดึงดูดชาวต่างชาติเข้ามาศึกษาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการและงานวิจัย จนนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาระดับสากลให้กับประชาชนภายในประเทศได้แล้วนั้น ยังเป็นการเตรียมความพร้อมกำลังแรงงานเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย
8. Towards Creative Ecosystem: การพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ (Creative economy) เริ่มต้นมาจากความคิดสร้างสรรค์ของคน อาจถือได้ว่าเป็นทรัพยากรที่ไม่มีต้นทุน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทุนมนุษย์ (Human Capital) เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะถ้าปราศจากแนวคิดและทักษะของคนแล้ว การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ย่อมเป็นไปด้วยความยากลำบาก จึงเป็นที่มาของการพัฒนานิเวศสร้างสรรค์ การสร้างบรรยากาศสร้างสรรค์ ทั้งจากการสร้างพื้นที่เปิดในการแสดงความคิด การจัดกิจกรรมต่าง ๆ หรือโครงสร้างพื้นฐานด้านศิลปะและวัฒนธรรม เช่น พิพิธภัณฑ์ หอศิลปะ ห้องสมุด ศูนย์การเรียนรู้ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นจินตนาการ เอื้ออำนวยต่อการคิดสิ่งใหม่ การกล้าแสดงออกทางความคิดที่สร้างสรรค์ รวมถึงการปรับเปลี่ยนแนวคิด (Mindset) ทัศนคติ (Attitude) เพื่อให้เกิด Creative ecosystem อย่างแท้จริง
9. จาก Limited access ไปสู่ Opened access: ธรรมาภิบาลในระบบอุดมศึกษา (Good governance) ในส่วนของการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะและหน่วยงานต่าง ๆ โดยเปลี่ยนจากรูปแบบการใช้กลไกกำกับสถาบันอุดมศึกษาเป็นการตรวจสอบสถาบันอุดมศึกษาด้วยการเปิดเผยข้อมูล ประกอบกับในอนาคตประชาชนจะมีความต้องการให้มีการเปิดเผยข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์ในการเรียน การเข้าศึกษาต่อ เป็นต้น
10. จาก Supply-side ไปสู่ Demand-directed financing: ในปัจจุบัน ความล้มเหลวของตลาด (Market Failure) และภาครัฐ (Government Failure) ในการจัดสรรงบประมาณและการใช้ทรัพยากรในระบบอุดมศึกษา ทำให้การศึกษาในระดับนี้ไม่สามารถตอบโจทย์ของทั้งประเทศและนักศึกษาได้ โดยเฉพาะในยุคของ Disruption ที่ความต้องการของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา จึงต้องมีนโยบายที่นำสัญญาณความต้องการ (Demand Signals) เหล่านี้มาพิจารณาเพื่อเพิ่มคุณภาพ ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการจัดการศึกษา สำหรับการนำประเทศไปสู่ความยั่งยืนทางการเงิน (Financial Sustainability) เช่น นโยบายการสนับสนุนงบประมาณเพื่อตอบสนองต่ออุปสงค์ (Demand-Directed Financing) เป็นต้น
Download : รายงานการศึกษา ระบบอุดมศึกษาไทยในบริบทของประเทศพัฒนาแล้ว ฉบับที่ 1: การผลิตและพัฒนากำลังคนตามความต้องการของประเทศ ได้ที่ : https://www.nxpo.or.th/th/report/10563/