สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2563 ได้เห็นชอบระเบียบสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมแก่ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมเพื่อให้นำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ พ.ศ. 2563 โดยได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสนับสนุนทุนสำหรับการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อให้บุคคล คณะบุคคล ชุมชน หรือหน่วยงานภาคเอกชนนำผลงานที่เกิดจากการวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงนโยบาย เชิงพาณิชย์ เชิงสังคม และเชิงสาธารณประโยชน์ ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในภาพรวม และเป็นการสร้างแรงจูงใจให้มีแรงจูงใจให้มีการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพิ่มขึ้น โดยระเบียบฉบับนี้ มีสาระสำคัญ อาทิ ลักษณะโครงการวิจัยและนวัตกรรมที่จะได้รับการส่งเสริมและสนับสนุน ประเภททุน การพิจารณาอนุมัติทุน การขอรับทุนและการดำเนินโครงการ การติดตามและประเมินผลโครงการ รวมถึงความเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมและการนำไปใช้ประโยชน์ เป็นต้น
ผู้รับทุนสามารถขอรับการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมต่อผู้ให้ทุนภายใต้โครงการวิจัยและนวัตกรรมที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้
- มีความจำเป็นเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง รวมทั้งการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการของประเทศ
- สามารถตอบสนองต่อการสร้างความรู้ใหม่ ยกระดับนวัตกรรม ปรับปรุงกระบวนการผลิตและบริการ แก้ปัญหาเชิงเทคนิค ทดแทนการนำเข้าเทคโนโลยี หรือมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ
- มีความเป็นไปได้สูงที่จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และเชิงสังคม
- ส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนหรือวิสาหกิจเพื่อสังคมให้ดำเนินการในเชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ส่งเสริมการนำทรัพย์สินทางปัญญาสาธารณะ ทรัพย์สินทางปัญญาที่ผู้ทรงสิทธิหรือ เจ้าของอนุญาตหรือยินยอมให้ใช้ทรัพย์สินทางปัญญานั้น รวมทั้งทรัพย์สินทางปัญญาที่สิ้นอายุ การคุ้มครองตามกฎหมายไปใช้เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาการวิจัยและนวัตกรรม และการพัฒนา เพื่อต่อยอดความรู้และเทคโนโลยี
- ส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและสังคมและการยกระดับคุณภาพชีวิต
- ลักษณะอื่นตามที่สภานโยบายกำหนด
โดยผู้ให้ทุนมีอำนาจในการพิจารณาให้ทุน 5 ประเภท ได้แก่ ทุนอุดหนุนแบบให้เปล่าทั้งหมด (Grant) ทุนอุดหนุนแบบให้เปล่าบางส่วน (Matching Grant) ทุนอุดหนุนแบบกำหนดเงื่อนไขการใช้คืน (Recoverable Grant) ทุนอุดหนุนเป็นเงินให้กู้ยืมแบบมีกำหนดระยะเวลาชำระคืน (Loans) หรือทุนอุดหนุนแบบอื่นตามที่ผู้ให้ทุนกำหนด ซึ่งขึ้นอยู่กับข้อเสนอโครงการที่ยื่นขอรับทุน และผู้ให้ทุนอาจพิจารณาให้ทุนตามข้อเสนอโครงการทั้งหมดหรือบางส่วนได้ตามเห็นสมควรทั้งนี้ต้องคำนึงความโปร่งใส ความเป็นธรรม รวมถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารจัดการทุนของโครงการด้วย
กรณีผู้รับทุนเป็นหน่วยงานภาคเอกชนหน่วยหนึ่งหน่วยใดหรือหน่วยงานภาคเอกชนร่วมกันหลายหน่วย (Consortium) อาจยื่นขอรับทุนสนับสนุนตามระเบียบได้ โดยหน่วยงานภาคเอกชนจะต้องเป็นนิติบุคคลที่มีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยถือหุ้นอยู่ด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ของทุนจดทะเบียน และมีสถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทย เว้นแต่ในกรณีที่มีความจำเป็น อาจประกาศให้ผู้ขอรับทุนมีคุณสมบัติแตกต่างจากที่กำหนดไว้ได้ ส่วนกรณีผู้รับทุนเป็นภาคประชาสังคม เช่น นิติบุคคลไม่แสวงหากำไร วิสาหกิจเพื่อสังคม วิสาหกิจชุมชน องค์กรชุมชน ก็สามารถยื่นขอรับทุนสนับสนุนตามระเบียบได้เช่นเดียวกัน
สำหรับความเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมและสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมภายใต้โครงการที่ได้รับทุนจากผู้ให้ทุนจะเป็นของผู้ให้ทุน เว้นแต่ผู้รับทุนได้จัดสรรเงินทุนสนับสนุนให้แก่โครงการด้วย ให้ความเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมและสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมเป็นไปตามที่ผู้ให้ทุนและผู้รับทุนตกลงกัน หาก
ผู้รับทุนประสงค์จะเป็นเจ้าของผลงานและสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาจะต้องยื่นคำขอเป็นลายลักษณ์อักษรและเสนอแผนการใช้ประโยชน์และการแบ่งปันผลประโยชน์ต่อผู้ให้ทุนภายในเวลาที่กำหนด โดยผู้ให้ทุนจะออกหนังสือรับรองความเป็นเจ้าของฯ และโอนสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาให้แก่ผู้รับทุนโดยเร็ว