เนื่องจากประเทศไทยมีการลงทุนเพื่อพัฒนาการวิจัยและพัฒนาสาขาพันธุวิศวกรรม (genetic engineering) มาอย่างยาวนาน ทั้งในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการสนับสนุนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีชีวภาพ และการสร้างนักวิจัยในสาขาเทคโนโลยีชีวภาพที่มีความสามารถในการใช้เทคนิคพันธุวิศวกรรม ด้วยศักยภาพพื้นฐานที่ประเทศไทยได้มีการพัฒนาความก้าวหน้าด้านพันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพมาระดับหนึ่ง ประเทศไทยจึงมีโอกาสที่จะพัฒนาต่อยอดจากฐานที่มีอยู่ไปในศาสตร์ทางด้านชีววิทยาสังเคราะห์ (Synthetic Biology) ขาดแต่เพียงการข้อกำหนดทางนโยบายและกฎหมายที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในศาสตร์แขนงนี้อย่างแพร่หลายภายในประเทศ
ซึ่งในขณะนี้สถาบันวิจัย, สถาบันการศึกษา และภาคเอกชนได้เริ่มมีการให้ความสนใจ ในการพัฒนาและการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ ดังนั้นเพื่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับชีววิทยาสังเคราะห์แบบมุ่งเป้า จำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยต้องมีการจัดทำแผนที่นำทาง (roadmap) เพื่อกำหนดเป้าหมายที่จะมุ่งไป ณ ช่วงเวลาต่างๆ โดยมีจุดเริ่มต้นหลักจากการศึกษาความต้องการของผู้ใช้ นำไปเชื่อมโยงกับความสามารถทาง เทคโนโลยีของประเทศทั้งในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ว่าความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานทั้งในระดับการวิจัย และ ความสามารถในการพัฒนาต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ รวมทั้งเปรียบเทียบความสามารถของประเทศกับประเทศอื่น ๆ ที่เป็น ผู้นำในการลงทุนในศาสตร์นี้ เพื่อให้เห็นช่องว่างที่มีอยู่และแนวทางการปรับปรุง
ในปี 2567 SynBio Consortium Working Group นำโดย สอวช. ร่วมกับ มูลนิธิบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (บวท.) ได้มีการจัดทำรายงาน “โครงการศึกษาสถานภาพความพร้อมของเทคโนโลยี ที่เกี่ยวข้องกับชีววิทยาสังเคราะห์ (synthetic biology) ในประเทศไทย” เพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติมในการพัฒนา (ร่าง) แผนที่นำทาง SynBio Ecosystem Development Roadmap ซึ่งได้ถูกร่างครั้งแรกขึ้นในปี 2564 และบรรจุไว้ในในเอกสารข้อมูล “Thailand Synthetic Bioeconomy Outlook and Key Milestones” โดยเอกสารฉบับนี้ได้แนะนำและบอกเล่าถึงความหมายและการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ (Synthetic Biology) ที่จะเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงและสร้างประโยชน์ให้กับโลกของเราได้อย่างมาก (อ่านข่าวเกี่ยวกับเอกสารดังกล่าวได้ที่ https://www.nxpo.or.th/th/synbio-ecosystem-development-roadmap)
โครงการศึกษาดังกล่าว เริ่มต้นจากการทำให้เกิดความชัดเจนของความหมายของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับชีววิทยาสังเคราะห์ที่เหมาะสมในบริบทของประเทศไทย ไปจนถึงการรวบรวมข้อมูลเพื่อให้ทราบสถานภาพความสามารถและศักยภาพในการพัฒนาและการใช้ประโยชน์ รวมถึงความพร้อมของระบบนิเวศเพื่อการพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับชีววิทยาสังเคราะห์ ทั้งนี้ข้อมูลพื้นฐานดังกล่าวจะนำไปสู่การกำหนดแนวทางดำเนินงานการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับชีววิทยาสังเคราะห์ (synthetic biology) และการสร้างแผนที่นำทางเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาระบบนิเวศที่เกี่วเนื่องกับเทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ที่เหมาะสมในระยะถัดไป โดยผู้ที่สนใจสามารถอ่านรายงานโครงการศึกษาดังกล่าวฉบับเต็มได้ที่ https://www.nxpo.or.th/th/report/30477/