messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » ขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของไทย ตอนที่ 2

ขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของไทย ตอนที่ 2

วันที่เผยแพร่ 9 กุมภาพันธ์ 2022 2612 Views

ในบทความที่แล้วได้เล่าถึงขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงแนวทางการพัฒนาและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรมของไทย ใน 5 ด้านแรกกันไปแล้ว ในครั้งนี้ สอวช. พาทุกคนมาเพิ่มเติมข้อมูลขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทยอีก 5 ด้าน ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่, เศรษฐกิจสร้างสรรค์, เศรษฐกิจหมุนเวียน, ผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม, และระบบนิเวศนวัตกรรม

1) อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-Generation Automotive) การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-Generation Automotive) และยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle : ZEV) รวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องด้านยานยนต์ขับขี่แบบอัตโนมัติ การเชื่อมต่อ การปรับให้เป็นระบบไฟฟ้า และการแบ่งปันกันใช้งาน (Autonomous, Connected, Electric, and Shared Vehicles : ACES) เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศจากการคมนาคม และการเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนนในประเทศไทย จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 กำหนดเป้าหมายให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถไฟฟ้า 100% ในปี 2578 และจะต้องผลิตรถไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 50 ของปริมาณการผลิตรถทุกชนิดในปี 2573

ขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม รัฐบาลและผู้กำหนดนโยบาย ควรร่วมกันกำหนดตำแหน่งที่ประเทศไทยต้องการจะเป็น เช่น กำหนดวิสัยทัศน์ระบบคมนาคมแห่งอนาคตของประเทศไทย ในอีก 15 ปี ข้างหน้า และการกำหนดเป้าหมายระยะสั้น (5 ปี) ระยะกลาง (10 ปี) ระยะยาว (15 ปี) มีรายละเอียดว่าประเทศไทยจะเป็นแชมป์เปี้ยนในด้านอะไรภายในปีใด การวางแผนยุทธศาสตร์และแนวทางไปสู่เป้าหมายดังกล่าว จะทำให้การบริหารทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเป็นไปอย่างมีกลยุทธ์และมีประสิทธิผลสูงสุด

แนวทางการพัฒนาและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรม ภาครัฐบาลควรมีมาตรการที่สำคัญเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ได้แก่ การกำหนดวิสัยทัศน์และเป้าหมายที่มีความชัดเจนในระยะ 5 ปี 10 ปี 15 ปี, การยกระดับขีดความสามารถของอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการในประเทศ, การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสถานีอัดประจุไฟฟ้า, การสนับสนุนและการสร้างแรงจูงใจทางภาษีและไม่ใช่ภาษีรวมถึงการประชาสัมพันธ์และการสร้างความตระหนักแก่สาธารณะ

2) เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) เศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นการพัฒนาระบบเศรษฐกิจโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์บนฐานขององค์ความรู้ ทรัพย์สินทางปัญญา และการศึกษาวิจัย ซึ่งเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ การสั่งสมความรู้ของสังคมเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อใช้ในการพัฒนาธุรกิจ การผลิตสินค้าและบริการในรูปแบบใหม่ซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจหรือคุณค่าทางสังคม

ขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม จากรายงานของThe Global Creativity Index (GCI) ซึ่งเป็นดัชนีที่ใช้วัดความก้าวหน้าและความเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนดำเนินการโดย Martin Prosperity Institute ที่ประกอบด้วยดัชนี 3 ด้านได้แก่ (1) ด้านเทคโนโลยี (Technology) (2) ด้านความสามารถ (Talent) และ (3) ด้านการรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น (Tolerance) โดยในปี 2558 GCI ได้มีการประเมินศักยภาพด้านความคิดสร้างสรรค์ของ 139 ประเทศ พบว่าประเทศไทยได้มีค่าดัชนี 0.365 อยู่ในอันดับที่ 82 จากทั้งหมด 139 ประเทศ (ด้าน Technology อยู่ที่ 38 ด้าน Talent อยู่ที่ 84 ด้าน Tolerance อยู่ที่ 105)

แนวทางการพัฒนาและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรม คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบร่างแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563-2565) โดยมีการกำหนดเป้าหมาย คือการเพิ่มอัตราการขยายตัวของสินค้าและบริการสร้างสรรค์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 และประเทศไทยมีเมืองที่ได้รับการคัดเลือกและประกาศให้เป็นเมืองสร้างสรรค์จาก UNESCO 1 เมือง โดยมีกลยุทธ์/มาตรการในการดำเนินการให้ได้ตามเป้าหมายดังกล่าว 4 ด้าน ได้แก่ การสร้างและส่งเสริมการจัดการองค์ความรู้เศรษฐกิจสร้างสรรค์, การยกระดับทักษะและความสามารถบุคลากรในธุรกิจสร้างสรรค์และกระตุ้นกระบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์, การยกระดับความสามารถในการดำเนินธุรกิจและสนับสนุนการขยายตัวของธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์, การพัฒนาเมืองและระบบนิเวศสร้างสรรค์ นอกจากนี้ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ยังเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย BCG Model ซึ่งจะทำให้เกิดการสร้างงาน และสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศจากความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย

3) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) ปัจจุบันมีการให้ความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจสีเขียว (Green economy) มากขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy: CE) จึงเป็นแนวคิดและวิธีการที่เข้ามาสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซกระจกของประชาคมโลกร่วมด้วย ผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร ซึ่งภาคธุรกิจมีความจำเป็นที่ต้องปรับตัว และปรับการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับนโยบายและมาตรการการค้าที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียนของประชาคมโลกในปัจจุบัน รวมทั้งเป็นโอกาสทางธุรกิจ และเป็นโอกาสของการสร้างอาชีพสีเขียวด้วย (Green Jobs)

ขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม ในด้านสถานภาพองค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทยจากการวิเคราะห์ผลงานตีพิมพ์ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียนพบว่า มีจำนวน 1,314 บทความ (ค้นหา เมษายน 2563) โดยประเด็นหัวข้อวิจัยที่ตีพิมพ์หลัก ได้แก่ Recycling Municipal, Solid Waste (MSW), Life Cycle Analysis (LCA) และ Fly Ash เมื่อวิเคราะห์ด้านองค์ความรู้พบว่า ยังอยู่ในบริบทเรื่องขยะ รวมทั้งเครื่องมือการวิเคราะห์ผลกระทบการจัดการขยะ ยังไม่ถึงระดับเศรษฐกิจหมุนเวียน ดังนั้น ควรมีการยกระดับการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมของไทยที่ส่งเสริมการขับเคลื่อนปฏิบัติการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนมากกว่าการอยู่กับบริบทการจัดการปัญหาขยะภายใต้บริบทเดิม

แนวทางการพัฒนาและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรม ประเทศไทยสามารถใช้แนวทางการให้ทุนวิจัยในประเด็นเศรษฐกิจหมุนเวียนเฉพาะเช่นเดียวกับในหลายประเทศ เพื่อยกระดับผู้ประกอบการให้สามารถเปลี่ยนผ่านการดำเนินการรูปแบบเดิมเป็นรูปแบบใหม่ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่จากวัตถุดิบรอบสอง และการพัฒนาหน่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มีบริการที่เฉพาะเจาะจง เพื่อปิดช่องว่างและสร้างแพลตฟอร์มระหว่างภาคส่วนและประเภทอุตสาหกรรม ที่เป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนาระบบนิเวศด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและส่งเสริมการเชื่อมต่อระหว่างอุตสาหกรรมและห่วงโซ่คุณค่าอย่างเป็นระบบ

4) ผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม (Innovation-Driven Enterprise: IDE) ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการสร้างเศรษฐกิจนวัตกรรมหลายประเทศต่างให้ความสำคัญต่อการเพิ่มจำนวน IDE เพื่อเป็นเครื่องจักรสำคัญในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ สำหรับประเทศไทยมีการสนับสนุนการสร้าง IDE มาอย่างต่อเนื่อง จากข้อริเริ่มสำคัญของรัฐบาลในการจัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยเมื่อปี 2545 ให้เป็นแหล่งส่งเสริมศักยภาพด้านการวิจัยและสร้างนวัตกรรมของภาคเอกชน มีการจัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค รวมทั้งมีมาตรการสนับสนุน อาทิ มาตรการทางการเงินเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็กให้มีขีดความสามารถในการสร้างนวัตกรรม และมาตรการบัญชีนวัตกรรมไทยเพื่อส่งเสริมให้ภาครัฐซื้อสินค้านวัตกรรมจากภาคเอกชนจึงอาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นในการสร้าง IDE อย่างจริงจัง และเริ่มได้รับความสนใจจากภาคประชาชนและประชาสังคม

แนวทางการพัฒนา IDE ประเทศไทยควรเร่งดำเนินการจัดทำนโยบายและขับเคลื่อนเชิงรุกในการสร้าง IDE ให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยการสนับสนุนผู้ประกอบการทุกระดับทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม และวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ให้ก้าวสู่ IDE อย่างมีศักยภาพเพื่อผลิตสินค้าและบริการนวัตกรรมมูลค่าสูง (High Value Added) เป็นแหล่งสร้างงานและสร้างรายได้ใหม่ของประเทศ และแข่งขันได้ในตลาดโลก รวมถึงเร่งการเติบโตเพื่อยกระดับศักยภาพไปสู่การเป็นผู้ประกอบการ Unicorn โดยมีแนวทาง ได้แก่ การสร้างความสามารถทางนวัตกรรม (Innovation Capability) ให้แก่ผู้ประกอบการ, การสร้างและพัฒนาระบบนิเวศของผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (IDE Ecosystem), การสร้างและพัฒนา Entrepreneurial Mindset และ Innovation Culture

5) ระบบนิเวศนวัตกรรม (Innovation Ecosystem) การมีระบบนิเวศนวัตกรรมที่เข้มแข็งมีความสำคัญอย่างมากต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ อันนำไปสู่ความมั่งคั่งและยั่งยืนเป็นประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง ประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมจึงให้ความสำคัญอย่างมากต่อการกำหนดนโยบายส่งเสริม ปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบที่เป็นข้อจำกัดลดปัญหาอุปสรรค กำหนดมาตรการ แรงจูงใจ และสิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมให้ระบบนิเวศนวัตกรรมมีความสมบูรณ์ นำไปสู่การสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมอันเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนและพัฒนาภาคการผลิตและบริการ ชุมชนและสังคม

แนวทางการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรม ระบบนิเวศนวัตกรรมของประเทศไทยยังมีช่องว่างและจุดอ่อนหลายประการที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรม ปัจจุบันภาครัฐมีการกำหนดนโยบาย มาตรการและกลไกต่าง ๆ เพื่อปิดช่องว่างและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนามากขึ้น ได้แก่การสนับสนุนการพัฒนาผู้ประกอบการและธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม, การสร้างกลไกตลาดนวัตกรรม, การลดความเสี่ยงให้ภาคธุรกิจ, การสร้างแรงจูงใจและสิทธิประโยชน์, การปรับปรุงกฎหมายและระเบียบ ให้เอื้อต่อการวิจัยและนวัตกรรมของภาครัฐและเอกชน, การปรับโครงสร้างระบบสนับสนุนและระบบบริหารจัดการ อววน. ให้มีประสิทธิภาพ, และการเพิ่มสมรรถนะการวิจัย โครงสร้างพื้นฐานทาง ววน. และบุคลากรที่มีคุณภาพ

รอติดตามข้อมูลขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงแนวทางการพัฒนาและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรมของไทย ใน 5 ด้านสุดท้าย ได้ทางเว็บไซต์และแฟนเพจ สอวช.

ผู้สนใจสามารถติดตามอ่านรายละเอียดขีดความสามารถในแต่ละด้านเพิ่มเติมได้จากรายงานการพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ประจำปี 2564: การฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 สู่ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสังคม : https://www.nxpo.or.th/th/report/9727/

และอ่านบทความ ขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของไทย ตอนที่ 1 ได้ที่ : https://www.nxpo.or.th/th/9985/

เรื่องล่าสุด