
ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “การขับเคลื่อนเศรษฐกิจนวัตกรรม” ภายใต้การอบรมหลักสูตรการออกแบบนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รุ่นที่ 4 (Science Technology and Innovation Policy Design Training Program: STIP04) เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา จัดโดย สอวช. ร่วมกับ สถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (STIPI) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โดยการบรรยายในครั้งนี้จัดขึ้นผ่านระบบออนไลน์


ดร. กิติพงค์ ถ่ายทอดให้เห็นถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยสิ่งที่หลายประเทศทำเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ คือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปสู่ Knowledge-Based Economy หรือ เศรษฐกิจฐานความรู้ เนื่องจากการเติบโตจาก Resource-Based Economy หรือ เศรษฐกิจฐานทรัพยากร ไม่ทำให้เกิดความยั่งยืน แต่การใส่ความรู้เข้าไปจะช่วยให้ภาคเศรษฐกิจเติบโตขึ้นไปได้เรื่อย ๆ นอกจากนี้ยังต้องอาศัยการปรับระบบเศรษฐกิจด้วยการปรับโครงสร้างการผลิตไปสู่การใช้นวัตกรรมในการขับเคลื่อน ซึ่งต้องใช้ทั้งทักษะความรู้ขั้นสูง และการพัฒนาเทคโนโลยีควบคู่กันไป สำหรับประเทศไทย การขับเคลื่อนเศรษฐกิจนวัตกรรม โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เป็นสิ่งที่จะช่วยให้ประเทศออกจากกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางได้ อีกทั้งประเทศไทยมีโจทย์ทางเศรษฐกิจและสังคมจำนวนมากที่ต้องการทางออกใหม่ๆ ที่ต้องใช้ วทน. รวมถึงมีจุดแข็งหลายอย่างที่สามารถเป็นฐานสำหรับการพัฒนาแบบก้าวกระโดดได้


ในประเด็นนวัตกรรมและระบบนวัตกรรม ดร. กิติพงค์ ได้สร้างความเข้าใจในความหมายของนวัตกรรม และปัจจัยที่หนุนให้เกิดนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นโอกาส สิ่งแวดล้อมสนับสนุน การศึกษา วัฒนธรรม และคุณค่า ซึ่งการขับเคลื่อนระบบนิเวศนวัตกรรมต้องการระบบนิเวศที่มีองค์ประกอบทั้งในส่วนของผู้ประกอบการ, การลดความเสี่ยงภาคธุรกิจ, การพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน, รัฐบาล และมหาวิทยาลัย สำหรับมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจนวัตกรรม สอวช. ได้มีการตั้งเป้าหมายการขับเคลื่อนประเทศด้วยเศรษฐกิจนวัตกรรม โดยเฉพาะการเพิ่มจำนวนธุรกิจฐานนวัตกรรม (IDE) ให้มียอดขาย 1,000 ล้านบาท ให้ได้จำนวน 1,000 ราย เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ในส่วนของการพัฒนา และการขับเคลื่อนประเทศในระยะที่ผ่านมา มีหลายนโยบายและมาตรการสำคัญ อาทิเช่น แพลตฟอร์มเร่งการเกิด Technology Enterprises, การปฏิรูปเชิงระบบ, การปลดล็อก และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างระบบนิเวศ, แพลตฟอร์มนวัตกรรมระดับพื้นที่กระจายโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ (อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค), University Holding Company, ระเบียงเศรษฐกิจนวัตกรรม, พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงการจัดตั้งกองทุนนวัตกรรม เป็นต้น โดยหลังการบรรยายได้มีการจัดกลุ่มเวิร์กชอป เพื่อให้ผู้เข้าร่วมการอบรมได้ระดมความเห็น หาคำตอบในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจนวัตกรรมของประเทศด้วย