messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » บพข. ร่วมลั่นระฆังเปิดเส้นทางใหม่รถไฟสายประวัติศาสตร์ 3 จังหวัดล้านนาตอนบน เชียงใหม่ – ลำพูน – ลำปาง นำร่องพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวของประเทศ

บพข. ร่วมลั่นระฆังเปิดเส้นทางใหม่รถไฟสายประวัติศาสตร์ 3 จังหวัดล้านนาตอนบน เชียงใหม่ – ลำพูน – ลำปาง นำร่องพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวของประเทศ

วันที่เผยแพร่ 15 กุมภาพันธ์ 2022 1560 Views

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือตอนบน 1 และมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางกับภาคีเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนแผนงานวิจัย เปิดเส้นทางรถไฟสายประวัติศาสตร์ 3 จังหวัดล้านนาตอนบน เชียงใหม่ – ลำพูน – ลำปาง นำร่องพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์โดยรถไฟบนเส้นทางยุคสมัยแห่งล้านนา มุ่งเน้นการสร้างประสบการณ์ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับเอกลักษณ์วิถีชีวิตของชาวเหนือผ่านการท่องเที่ยวโดยรถไฟในบรรยากาศย้อนยุค เชื่อมโยงย่านเมืองเก่าโดยมุ่งเน้นให้เกิดการส่งมอบคุณค่า อารมณ์และความรู้สึกด้านการหวนอดีตในรูปแบบร่วมสมัย อีกทั้งยังเพื่อเป็นช่องทางขนถ่ายนักท่องเที่ยวจากเมืองหลัก (เชียงใหม่) สู่เมืองรอง (ลำพูนและลำปาง) เพื่อให้ชุมชนได้รับผลประโยชน์ โดยได้มีการทดสอบเส้นทางร่วมกับผู้ประกอบการ สมาคมไทยธรุกิจการท่องเที่ยว (ATTA) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) สื่อมวลชน และนักท่องเที่ยว ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2565 และจัดพิธีเปิดการเดินรถขบวนปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมาโดยมี รศ.(พิเศษ) ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีเปิด

เส้นทางการท่องเที่ยวสายประวัติศาสตร์นี้เริ่มต้นที่สถานีรถไฟเชียงใหม่ โดยรถไฟขบวนพิเศษที่นำพานักท่องเที่ยวสู่เมืองลำพูน และลำปาง ซึ่งนับว่าเป็นเมืองรองที่มีเสน่ห์ มีความโดดเด่นทางศิลปะวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์อันน่าค้นหา โดยนักท่องเที่ยวสามารถนั่งรถรางออกจากสถานีรถไฟลำพูนเพื่อเยี่ยมชมวิถีชีวิตของคนในชุมชน ย่านการค้าเก่า และสถานที่สำคัญของเมืองลำพูน อาทิเช่น กู่ช้าง-กู่ม้า วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี คุ้มเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ เป็นต้น ต่อจากนั้นนักท่องเที่ยวสามารถออกเดินทางสู่จังหวัดลำปางต่อโดยรถไฟขบวนเดิม โดยนักท่องเที่ยวสามารถนั่งรถม้าอันเป็นพาหนะอัตลักษณ์ของเมืองลำปางจากสถานีรถไฟลำปาง เพื่อท่องเที่ยวในย่านการค้าเมืองเก่าและย่านประวัติศาสตร์ของเมืองลำปาง อาทิ ชุมชนประตูป่อง ชุมชนท่ามะโอ ชุมชนสบตุ๋ย ชุมชนรถไฟนครลำปาง วัดศรีรองเมือง และวัดปงสนุกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกจากความโดดเด่นของศิลปะและสถาปัตยกรรมอันเก่าแก่และมีมนต์ขลัง เป็นต้น โดยตลอดเส้นทางการท่องเที่ยวจะมีมัคคุเทศก์คอยให้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของสถานที่แต่ละแห่ง เพื่อเพิ่มอรรถรส อารมณ์ และความรู้สึกร่วมด้านการหวนอดีตแก่นักท่องเที่ยว นอกจากนี้บริเวณสถานีรถไฟของทั้งสองจังหวัดยังมีผลิตภัณฑ์ที่คนในชุมชนและนำมาขายให้นักท่องเที่ยวได้เลือกซื้อระหว่างรอรถไฟ ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการกระจายรายได้สู่ชมชนจากเส้นทางการท่องเที่ยวดังกล่าว

รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ รองผู้อำนวยการ บพข. กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งนับว่าเป็นรายได้สำคัญของประเทศ หลังจากเกิดการแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรน่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงไปกว่า 80% ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับผู้ประกอบกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว รวมถึงคนในชุมชนที่มีรายได้มาจากนักท่องเที่ยว การกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวในประเทศจึงกลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวของประเทศ บพข. ในฐานะหน่วยงานผู้ให้ทุนวิจัยเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เรามีภารกิจในการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น โดยผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ทำให้งานวิจัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์ และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว ก็เป็นหนึ่งในแผนงานของ บพข. ที่เราให้การสนับสนุนและผลักดันเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งโครงการนี้จะเป็นกระจายรายได้จากเมืองหลักสู่เมืองรองเพื่อให้ชุมชุนได้รับประโยชน์ ทำเกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน ยกระดับงานหัตถศิลป์ที่มีอยู่ในท้องถิ่น เพื่อจำหน่ายเป็นของที่ระลึกในเส้นทางการท่องเที่ยว ก่อให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนในพื้นที่ รวมไปถึงผู้ประกอบการด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการบริการด้านที่พัก บริการรถม้า บริการเช่ารถ บริการนำเที่ยว และร้านอาหารต่าง ๆ ที่จะได้รับโยชน์ไปด้วย นอกจากนี้เรายังมองไปถึงการนำร่องพัฒนาการรูปแบบการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวภาคเหนือและภูมิภาคอื่นของไทยควบคู่ไปกับการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน รวมทั้งการต่อยอดเพื่อยกระดับการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและมีมูลค่าสูง เพื่อนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืนต่อไป

ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการท่องเที่ยวเส้นทางรถไฟสายวัฒนธรรมของกลุ่มจังหวัดล้านนาตอนบน (ลำปาง-ลำพูน-เชียงใหม่) เกิดจากความมือระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือตอนบน 1 การรถไฟแห่งประเทศไทยและมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง จากนั้นแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. ได้มีการสนับสนุนทุนวิจัยประเด็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ภายใต้แผนงานการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์โดยรถไฟ บนเส้นทางยุคสมัยแห่งล้านนา โดยมี ผศ.ดร.ณัฐนันท์ ฐิติยาปราโมทย์ และคณะ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง และยังได้มีการสนับสนุนประเด็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร ภายใต้โครงการการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์บนฐานอัตลักษณ์วัฒนธรรมอาหารลำปางและพื้นที่เชื่อมโยง โดยมี ดร.ปัณณทัต กัลยา และคณะ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ดำเนินการวิจัย ทั้งนี้ในระหว่างการวิจัยได้มีการทำบันทึกข้อตกความร่วมมือทางด้านวิชาการและการวิจัย เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาการท่องเที่ยวรถไฟและย่านเมืองเก่าเชิงสร้างสรรค์ กับ 11 หน่วยงาน ได้แก่ (1) การรถไฟแห่งประเทศไทย (2) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (3) จังหวัดลำปาง (4) จังหวัดลำพูน (5) จังหวัดเชียงใหม่ (6) สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดลำปาง (7) สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดลำพูน (8) สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ (9) ตำรวจภูธรภาค 5 (10) สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวภาคเหนือตอนบน และ (11) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สอวช.) (โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)) เพื่อทำให้เกิดการท่องเที่ยวสร้างสรรค์โดยรถไฟจากเมืองท่องเที่ยวหลักสู่เมืองท่องเที่ยวรอง รูปแบบการบริหารจัดการภาครัฐ-ภาคเอกชน-สมาคมในการทำงานร่วมกัน การออกแบบบริการบนรถไฟ รวมทั้งอาหารและสำรับใส่อาหารสำหรับบริการอาหารแก่นักท่องเที่ยวขณะเดินทางท่องเที่ยวบนรถไฟ โดยต่อยอดจากอัตลักษณ์ความเป็นท้องถิ่นลำปาง

 โครงการนี้จะช่วยตอบโจทย์เป้าหมายของ ววน. ปี 2565 ในการเพิ่มรายได้เมืองรองทางการท่องเที่ยว ซึ่งการวิจัยครั้งนี้มุ่งเน้นการกระจายนักท่องเที่ยวจากเมืองหลัก คือ จังหวัดเชียงใหม่ เชื่อมเมืองรอง คือ ลำพูน และลำปาง ซึ่งในรอบปฐมฤกษ์นี้ จะมีนักท่องเที่ยวเข้าร่วมต่อวันเฉลี่ย 120 คน ซึ่งจะมีกิจกรรมในเมืองรองทั้งสองเมือง คาดว่าจะทำให้เกิดการใช้จ่ายจากกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ ที่มุ่งเน้นการสัมผัสวิถีชีวิตท้องถิ่นและเรื่องราวเชิงวัฒนธรรม นำไปสู่มูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์

ดร.ณัฐนันท์ ฐิติยาปราโมทย์ หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า โครงการท่องเที่ยวเส้นทางรถไฟสายวัฒนธรรมของกลุ่มจังหวัดล้านนาตอนบน เกิดขึ้นมาในปี 2559 เพื่อจัดกิจกรรมรถไฟเพื่อการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมโดยเชื่อมโยง 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน และจังหวัดลำปาง ซึ่งได้เปิดดำเนินการมาระยะหนึ่งและได้ยุติการดำเนินการลงเนื่องจากหมดระยะเวลาดำเนินการ และเนื่องจากปัจจุบันวิกฤตการณ์ไวรัสโคโรน่า (COVID-19) ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมหาศาลทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวในภาคเหนือ การรื้อฟื้นการท่องเที่ยวรถไฟสำหรับกลุ่มตลาดนักท่องเที่ยวในประเทศ จึงกลายเป็นโอกาสในการที่จะนำรายได้จากการท่องเที่ยวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อทดแทนในภาวะที่ประเทศขาดรายได้จากกลุ่มตลาดนักท่องเที่ยวนานาชาติ ประกอบกับนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และหน่วยงาน บพข. ที่จะเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมถึงการสนับสนุนและให้ความช่วยเหลืออย่างดีจากการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ร่วมผลักดัน จึงก่อให้เกิดการทำวิจัยในครั้งนี้

จุดเด่นของโครงการนี้คือการร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา หน่วยทุน การรถไฟแห่งประเทศไทยและชุมชน ในการสร้างสรรค์เส้นทางท่องเที่ยวโดยรถไฟ เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจและรายได้จากทุกภาคส่วน โดยการเดินรถในครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการยึดเรื่องการนำเสนอการท่องเที่ยวโดยรถไฟในบรรยากาศย้อนยุคตามประวัติศาสตร์การดำเนินกิจการรถไฟในสมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ครอบคลุมการท่องเที่ยวทางราง (Railroad Tourism) และการท่องเที่ยวเชื่อมโยงในย่านเมืองเก่า (Old Town and Commercial Quartier) โดยมุ่งเน้นให้เกิดการส่งมอบคุณค่าและอารมณ์และความรู้สึก (Sensory Appeal) ด้านการหวนอดีต (Nostalgic Sense) ในรูปแบบร่วมสมัยโดยผ่านกระบวนการที่พื้นที่มีส่วนร่วม เพื่อยกระดับทั้งผลิตภัณฑ์และการสื่อสารเชิงอัตลักษณ์ของพื้นที่ ก่อนนำเสนอข้อเสนอแนะด้านธุรกิจและการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์โดยรถไฟ นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับ เส้นทางการท่องเที่ยวโดยรถไฟที่เชื่อมโยงสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์การค้าทางรถไฟและเชื่อมโยงย่านเมืองเก่าของ 3 จังหวัด ภายใน 1 วัน ด้วยรถไฟปรับอากาศที่ออกแบบตกแต่งภายในใหม่และการบริการเต็มรูปแบบ รวมถึงการร่วมโดยสารพาหนะอัตลักษณ์ของจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูนและลำปาง พร้อมรับฟังคำบรรยายและนำชมจากมัคคุเทศก์มืออาชีพ เพลิดเพลินกับการจับจ่ายใช้สอยกับผลิตภัณฑ์จากเครือข่าย OTOP และชุมชนใน 3 จังหวัด โดยเส้นทางนี้จะเป็นจุดเริ่มของการเดินรถไฟท่องเที่ยวเชิงพาณิชย์ในภาคเหนือในช่วงไฮซีซั่นของปีนี้

ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จากโครงการจะก่อให้เกิดรูปแบบการท่องเที่ยวแบบใหม่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง สำหรับรองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ อีกทั้งการรถไฟแห่งประเทศไทยมีช่องทางการสร้างรายได้จากการเดินรถไฟเพื่อการท่องเที่ยวนอกเหนือจากการเดินรถปกติ โดยทำให้เกิดเงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้นในระบบการท่องเที่ยวและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการท่องเที่ยวของประเทศ พร้อมกับเสริมสร้างความเข้มแข็งของหน่วยงานภาครัฐ ในการแข่งขันในระบบการท่องเที่ยว

การจากสนับสนุนของ บพข. เพื่อริเริ่มโครงการวิจัยและพัฒนาเส้นทางใหม่รถไฟสายประวัติศาสตร์ 3 จังหวัดล้านนาตอนบน เชียงใหม่ – ลำพูน – ลำปาง ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจของแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. ในครั้งนี้ก่อให้เกิดโครงการเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ ตามมา เช่น การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์บนฐานอัตลักษณ์วัฒนธรรมอาหารลำปางและพื้นที่เชื่อมโยง โดยมีเป้าหมายไปสู่การพัฒนาต้นแบบหัตถอุตสาหกรรมลำปาง หรือหัตถศิลป์ลำปาง ซึ่งผลผลิตนี้จะถูกนำไปใช้เป็นภาชนะบรรจุอาหารในรถไฟและนำออกจำหน่ายในรถไฟ นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดการพัฒนาและขยายตัวสู่ธุรกิจท่องเที่ยว ที่อยู่ในจุดหมายปลายทาง หรือบริเวณจุดจอดรถ เช่น ผู้ประกอบการด้านสินค้าทางการท่องเที่ยว ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจของที่ระลึก ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ รวมถึงธุรกิจโรงแรมและขนส่งในระดับพื้นที่ เป็นต้น บพข. มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตจะสามารถเชื่อมโยงสู่ขบวนรถไฟเส้นทางอื่นที่จะนำมาเข้าสู่ระบบการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มสักยภาพอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในภาคเหนือ และภาคภูมิภาคอื่น ๆ ของไทยต่อไป

เรื่องล่าสุด