เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดประชุมคณะกรรมการอํานวยการ สอวช. ครั้งที่ 2/2565 ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และผ่านระบบออนไลน์ โดยมี ศาสตราจารยพิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการประชุม
สอวช. ได้เสนอประเด็นมาตรการและกลไกการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) เพื่อการขยับสถานะประชากรกลุ่มฐานราก โดย ดร. เอนก ให้ความเห็นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคม ที่ทั้งรัฐบาลและสังคมให้ความสนใจ และมีความเชื่อมโยงกับการขยับฐานะประชากรกลุ่มฐานราก หากสังคมใดมีการขยับฐานะประชาชนกลุ่มฐานรากให้สูงขึ้นได้ก็จะถือว่าดีมาก
ดร. เอนก ยังได้ฉายภาพให้เห็นถึงการขยับสถานะประชากรกลุ่มฐานรากของไทย ที่เริ่มขึ้นมาตั้งแต่มีการเลิกทาสในรัชกาลที่ 5 และเริ่มให้ลูกหลานกลุ่มคนเหล่านี้ได้มีโอกาสเข้าเรียนในโรงเรียน จนได้เป็นข้าราชการในกระทรวงหรือกรมต่างๆ ทำให้เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มชนชั้นนำของประเทศที่มาจากกลุ่มฐานรากขยับสถานะขึ้นเป็นชนชั้นนำ และเน้นย้ำว่า ต้องมองเห็นจุดสำคัญจุดนี้ มองว่าสังคมไทยมีศักยภาพในการผลิตคนชนชั้นล่างให้ขยับฐานะทางสังคมได้ และมองว่าแม้จะเป็นคนจน หรือคนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลต่างก็เป็นคนที่มีคุณภาพได้ถ้าได้รับโอกาส
“งานของกระทรวง อว. ต้องมองเรื่องการสร้างการศึกษาและการอบรมให้คนเกิดการขยับสถานะทางสังคมให้สูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนยากจน ต้องออกแบบหลักสูตรที่อาจไม่ต้องเน้นปริญญาบัตร แต่เน้นให้เกิดการสร้างอาชีพ หรือทักษะ อาทิ การพัฒนาคนให้เป็นนักวิชาชีพเฉพาะทาง อย่างแพทย์ พยาบาล อีกทางหนึ่งคืออาชีพที่สร้างรายได้ แต่ไม่ต้องอาศัยความรู้ทางเทคนิคมากนัก อย่างกลุ่มช่างซ่อมรถ หรือการสร้างกลุ่มอาชีพทางด้านศิลปะ สุนทรียะ เป็นต้น และส่วนสุดท้ายที่อยากส่งเสริมที่สุดคือการสร้างให้เขาได้เป็นผู้ประกอบการ โดยการศึกษาจะต้องไม่เน้นที่ความรู้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องเน้นที่การเปลี่ยนแนวความคิดให้กลุ่มคนเหล่านี้ภูมิใจว่าเขาเป็นคนเก่ง มีความสามารถและยังมีโอกาสที่ดีรออยู่ ทำให้เกิดเป็นอาวุธทางความคิด ให้เขามีแง่คิดดีๆ ในชีวิต ใช้ความยากจนเป็นแรงเหวี่ยงให้เกิดความพยายาม เพื่อเป็นการสร้างแรงกระตุ้น สร้างแรงบันดาลใจให้เขา ขณะเดียวกันก็ต้องมีการสนับสนุนให้คนที่มีความสามารถได้รับการผลักดันขึ้นเป็นทรัพยากรที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ” ดร. เอนก กล่าว
นอกจากนี้ ดร. เอนก ยังได้เสนอให้มีการตั้งสมาคมคนเคยลำบาก ที่สามารถขยับสถานะขึ้นมาเป็นชนชั้นนำได้ เพื่อมาช่วยเหลือ เป็นพี่เลี้ยงคนที่อยู่ในภาวะยากลำบาก โดยเสนอให้มีโครงการ To Be New Entrepreneur สนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการใหม่ที่เติบโตมาจากกลุ่มคนยากไร้ ซึ่งอาจจัดให้มีการมอบรางวัลให้กับกลุ่มนี้เพื่อเป็นกำลังใจเป็นแรงบันดาลใจให้คนที่อยู่สภาวะเดียวกันได้มีแรงสู้และก้าวขึ้นมาให้อยู่ในจุดที่ประสบความสำเร็จได้เช่นเดียวกัน
ด้าน ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ได้นำเสนอข้อมูลมาตรการและกลไก อววน. เพื่อการขยับสถานะประชากรกลุ่มฐานราก โดยได้แลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์กลุ่มประชากรกลุ่มฐานรากในประเทศไทย ซึ่งกลุ่มที่ยากจนที่สุด มีรายได้เฉลี่ย 2,762 บาทต่อคนต่อเดือน มีจำนวน 15 ล้านคน ในกลุ่มนี้เป็นเด็กและเยาวชน 3.72 ล้านคน วัยทำงาน 7.48 ล้านคน ผู้สูงอายุ 3.89 ล้านคน และประมาณ 1 ล้านคนเป็นผู้พิการ ซึ่งในจำนวนนี้ มากกว่า 90% มีวุฒิการศึกษาต่ำกว่าอุดมศึกษา และส่วนใหญ่มีอาชีพทางการเกษตร ป่าไม้ และประมง
จากการศึกษาข้อมูล พบว่า วงจรความยากจนและบั่นทอนศักยภาพของกลุ่มคนฐานราก เกิดจากการส่งต่อความยากจนจากบรรพบุรุษ ที่การขาดแคลนปัจจัยในการดำรงชีวิต เช่น บ้าน ที่ทำกิน ไม่ได้รับการศึกษา หรือได้รับการศึกษาที่จำกัด ปัญหาสุขภาวะ ส่งผลให้ขาดทักษะในการทำงาน ต้องประกอบอาชีพที่ใช้ทักษะต่ำและทำให้มีรายได้ต่ำไปด้วย ซึ่งการขยับสถานะของประชากรในกลุ่มฐานรากให้พ้นจากวงจรข้างต้นนั้น ควรมีการจัดสวัสดิการและการยอมรับทางสังคม นำไปสู่โอกาสในการเข้าถึงการบริการสาธารณสุขและปัจจัยพื้นฐานที่ดีขึ้น สร้างโอกาสในการพัฒนาศักยภาพที่กว้างขึ้น เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงอุดมศึกษา และเพิ่มพูนทักษะ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงอาชีพที่ใช้ทักษะกลางไปถึงทักษะสูง และทำให้มีรายได้ที่สูงขึ้น
โดยแนวทางเบื้องต้นในการขยับสถานะทางสังคมของประชากรกลุ่มฐานราก ได้มองเป็น 3 แนวทาง คือ 1. การเพิ่มโอกาสให้กับกลุ่มเด็กและเยาวชนฐานราก ผ่านการค้นหาช้างเผือก การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มด้อยโอกาส และเพิ่มโอกาสให้เด็กพิการ 2. การรักษาคนให้อยู่ในระบบ ทั้งระดับมัธยมปลาย ปวช. ระดับอุดมศึกษา และการพัฒนารูปแบบพิเศษ โดยการจัดโครงการสนับสนุนต่างๆ อาทิ ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานระหว่างเรียนเพื่อพัฒนาทักษะไปสู่ความมั่นคงทางอาชีพ และลดข้อกังวลเรื่องปากท้อง และการให้แรงจูงใจภาคเอกชนในการจ้างงานเพื่อกระตุ้นการจ้างงานผู้พิการที่มีความสามารถระหว่างเรียน เป็นต้น และ 3. การต่อยอดโอกาสสู่การขยับสถานะทางสังคม อาทิ การเพิ่มโอกาสการเป็นผู้ประกอบการ โดยเชื่อมต่อการเข้าถึงศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการกับผู้ประกอบการท้องถิ่น การพัฒนาอาชีพ เช่น กลุ่มศิลปิน Influencer Creator เป็นต้น รวมถึงการส่งเสริมการเข้าสู่ตำแหน่งงานในองค์กรชั้นนำ อาทิ นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร ตำรวจ ทหาร เป็นต้น
ทั้งนี้ สอวช. ได้จัดทำตัวอย่างมาตรการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการขยับสถานะประชากรกลุ่มฐานราก โดยมีการตั้งเป้าหมายการขยับสถานะทางสังคมของคน 1,000,000 คน ภายในปี พ.ศ. 2570 แบ่งเป็นกลุ่มเด็กและเยาวชนในครัวครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุดร้อยละ 20 ของประเทศ ให้ “มีที่เรียน และได้เรียน” โดยมีบัตรสวัสดิการการศึกษา มีการพัฒนาฐานข้อมูลผู้ได้รับสิทธิ์ โดยการเชื่อมโยงฐานข้อมูลระบบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และกำหนดเงื่อนไขการใช้บัตรสวัสดิการฯ เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายสนับสนุนการศึกษา ในกลุ่มวัยทำงาน ใช้แนวทาง Reskill/ Upskill Account เชื่อมโยงฐานข้อมูลผู้ได้รับการพัฒนาทักษะกลุ่มฐานราก เชื่อมโยงกลไกการรับรองหลักสูตรเฉพาะทาง ที่เอื้อต่อการจัดการฝึกอบรมหรือพัฒนาหลักสูตรที่เหมาะสมต่อแรงงานกลุ่มฐานราก รวมถึงมีมาตรการทางภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจ และในกลุ่มผู้ประกอบการท้องถิ่น ใช้แนวทางสนับสนุนการมีนวัตกรรม พัฒนากลไกการสนับสนุนทางการเงิน และการบริหารจัดการธุรกิจและตลาด โดยมาตรการข้างต้น ต้องดำเนินควบคู่ไปกับการสร้างวัฒนธรรมและค่านิยมทางสังคมที่ส่งเสริมการขยับสถานะทางสังคม เช่น ความกตัญญู ความช่วยเหลือสังคม และความเชื่อในความสามารถของคน
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ให้ความเห็นที่หลากหลายในประเด็นข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นการให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษารูปแบบพิเศษที่ต่างไปจากการจัดการศึกษาแบบเดิม เช่น การจัดการศึกษาแบบ Sandbox โรงเรียนนอกเวลา การเรียนออนไลน์ หรือ non-degree program ที่สำคัญจะต้องมีการทำงานอย่างบูรณาการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมกับกระทรวงอื่นๆ โดยมองให้เห็นภาพรวมการพัฒนาคนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ นอกจากนี้ในแง่มุมของความเหลื่อมล้ำในสังคม ยังต้องวิเคราะห์ให้เข้าใจถึงความซับซ้อน รวมถึงอุปสรรคและแนวทางที่จะเข้าไปสนับสนุน หรือสร้างโอกาสทางการศึกษาของเด็กแต่ละกลุ่มให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นด้วย รวมถึงได้เน้นย้ำบทบาทของ อว. ที่จะช่วยเข้าไปหนุนเสริมในเรื่องของการให้ความรู้ การศึกษา หลักสูตรการอบรม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยขยับสถานะประชากรกลุ่มฐานรากของไทยได้เป็นอย่างดี