ความเหลื่อมล้ำกัดกินประเทศไทยรุนแรงเพราะสถานการณ์โควิด-19 ธนาคารแห่งประเทศไทยชี้คนไทยว่างงานและเสมือนว่างงานเพิ่มขึ้น และข้อมูลจากกองทุนเสมอภาคทางการศึกษาชี้ว่า เด็กเกือบสองล้านคนเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา ในขณะ บพท. เดินหน้าเร่งแก้ปัญหาระดับพื้นที่ จับมือสถาบันการศึกษาสร้างกลุ่มอาชีพแล้ว 5,600 กลุ่ม พร้อมพัฒนาชีวิตคนจนแล้ว 6 แสนคน
นายจิตเกษม พรประพันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวในการแถลงข่าวของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ว่าความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นทั้งทางเศรษฐกิจและการศึกษาจากผลของโควิด-19
จากข้อมูลในไตรมาส 4 ปี 2564 มีผู้ว่างงานและเสมือนว่างงาน 3.2 ล้านคน ว่างงานเกินหนึ่งปีจำนวน 1.6 แสนคน และผู้ไม่เคยมีงานทำ 2.7 แสนคน โดยยังไม่นับรวมแรงงานที่ย้ายถิ่นกลับต่างจังหวัดมากถึง 1.7 ล้านคน
ขณะที่โควิด-19 ยังคงเป็นปัญหาของโลก ประเทศไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้นทำให้ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศเริ่มมีการฟื้นตัว อย่างไรก็ตามคาดว่าจะสามารถฟื้นตัวเต็มที่ได้ในช่วงปลายปี 2566
“สภาพการณ์ต่าง ๆ กดดันให้ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในอนาคต เพราะนอกจากหนี้ครัวเรือนจะขึ้นถึงระดับ 89.3% ของ จีดีพี เมื่อสิ้นปีที่แล้ว โควิดยังทำให้มีความเสี่ยงที่นักเรียน 1.9 ล้านคนจะหลุดออกจากระบบการศึกษาเพราะความยากจน”
นายจิตเกษม กล่าวว่า ในการแก้ไขปัญหาควรดำเนินการในแบบ “One Thailand” เพื่อบูรณาการทรัพยากร บุคลากรและความรู้ ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุดในแต่ละพื้นที่ โดยสร้างเป็นระบบการทำงานร่วมกันของภาครัฐ เอกชน และชุมชน
นอกจากนี้ประเทศไทยยังจะต้องปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและแรงงาน โดยใช้องค์ความรู้ท้องถิ่นมาเพิ่มศักยภาพของคน ส่งเสริมเศรษฐกิจผู้สูงวัย พัฒนาเศรษฐกิจใหม่บนฐานทุนทรัพยากร Bio-Circular-Green และการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลทั้งในภาคการค้า อุตสาหกรรม เกษตรและท่องเที่ยว
จากสภาพแวดล้อมของปัญหาดังกล่าว นาย กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ บพท. เปิดเผยว่า บพท.มีความตระหนักเป็นอย่างดีต่อความสำคัญของการพัฒนาและแก้ปัญหาจากพื้นที่ จึงร่วมกับสถาบันการศึกษา 99 แห่งทั่วประเทศ ร่วมคิด ร่วมทำกับชุมชนในการแก้ปัญหาปัจจุบันพร้อมกับสร้างรากฐานเพื่อการพัฒนาในอนาคต
“ความเหลี่อมล้ำเป็นประเด็นปัญหาที่ฝังรากลึกในไทยมายาวนาน เราจึงต้องการแนวทางการแก้ไขแบบใหม่ให้ได้ผลกว่าเดิม ซึ่งก็คือการใช้ความรู้และการมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ซึ่ง บพท.พิสูจน์แล้วว่าได้ผลน่าพอใจ เพราะมีการทำงานครอบคลุมทั้งระดับครัวเรือน ชุมชนและระดับเมือง”
บพท. ส่งเสริมงานวิจัยเพื่อพัฒนาระดับพื้นที่โดยยึดโยงกับยุทธศาสตร์สำคัญสามด้าน คือ ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วยการพัฒนาคนและกลไกจากฐานทุนทรัพยากรพื้นถิ่นและทุนทางวัฒนธรรม ยุทธศาสตร์พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ และยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองน่าอยู่และเมืองแห่งการเรียนรู้
ผลจากการดำเนินงานของ บพท. ที่ร่วมกับสถาบันการศึกษา ราชการและชุมชน ในด้านเศรษฐกิจฐานรากทำให้ชุมชนเกิดความรู้และเข้มแข็ง เกิดการพัฒนากลุ่มอาชีพได้มากถึง 5,600 กลุ่ม เป็นพื้นฐานของการพัฒนาเพื่อให้เขาสามารถเริ่มต้นพัฒนาตนเองได้ มีความรู้ใหม่ และมีนวัตกร หรือผู้นำท้องถิ่นที่จะทำให้ชุมชนของเขายั่งยืนต่อไปในอนาคต
นอกจากนี้งานวิจัยที่ บพท. สนับสนุนยังสามารถค้นพบคนยากจนที่หลุดจากระบบความช่วยเหลือของรัฐกว่าแปดแสนคนใน 20 จังหวัด ซึ่งได้รับความช่วยเหลือไปแล้วกว่าหกแสนคน
ในขณะที่การพัฒนาในระดับเมือง ได้ส่งเสริมการรวมตัวในพื้นที่ขึ้นเป็นบริษัทพัฒนาเมืองขึ้นแล้ว 19 แห่ง เป็นกลไกการพัฒนาที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมวางแนวทางอนาคตของตนเอง เกิดเมืองแห่งการเรียนรู้ 18 พื้นที่และเกิดกลไกบริหารจัดการเชิงพื้นที่ 61 กลไก
นายกิตติ กล่าวว่า จากประสบการณ์ของ บพท. พบว่าการเปลี่ยนแปลงที่ดีเกิดขึ้นได้จริง ๆ ถ้าเริ่มจากกระบวนการมองปัญหาและเริ่มการแก้ไขจากพื้นที่ของปัญหานั้น ๆ เพราะเจ้าของปัญหาลงมือทำเอง โดยมีความรู้และพี่เลี้ยงจากสถาบันการศึกษา
สำหรับแนวทางในอนาคตของ บพท. นั้น ผู้อำนวยการ บพท. กล่าวว่าจะเป็นการต่อยอดกระบวนการทำงานดังกล่าวให้ตอบความต้องการของประเทศมากยิ่งขึ้น เช่น ส่งเสริมงานวิจัยเพื่อยกระดับสมุนไพรไทย งานวิจัยการสร้างเศรษฐกิจใหม่บนฐานทรัพยากรอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
“ทุนวิจัยในอนาคตจะมีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เชื่อมโยงการยกระดับชุมชนให้มาช่วยยกศักยภาพของประเทศ โดยเฉพาะในสาขาที่มีโอกาสสูง เช่น การที่ไทยเสียดุลนำเข้าผลิตภัณฑ์สมุนไพรนับหมื่นล้านบาทต่อปี ทั้งที่เรามีสมุนไพรอยู่ทั่วประเทศ งานวิจัยจะเข้ามาช่วยชุมชน สังคมและประเทศ”
สรุปผลงานการดำเนินงานของ บพท. ตามยุทธศาสตร์ทั้งสามด้าน
ยุทธศาสตร์ | ผลงาน |
ยกระดับเศรษฐกิจฐานรากด้วยการพัฒนาชุมชนและฐานทุนทางวัฒนธรรม | ด้านทุนทางวัฒนธรรม พื้นที่วัฒนธรรม 74 ย่านผู้ประกอบการ 6,000 รายวิสาหกิจเชิงวัฒนธรรม 4,141 กลุ่มสร้างรายได้เพิ่ม 135 ล้านบาทผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ 150 รายการ ด้านการพัฒนาผู้ประกอบการ พัฒนา local enterprise ขึ้น 995 กลุ่ม ด้านชุมชนนวัตกรรม เกิดชุมชนนวัตกรรม 546 กลุ่ม ใน 48 จังหวัดเกิดนวัตกรชาวบ้าน 2,755 คนเกิดนวัตกรรมพร้อมใช้ 763 นวัตกรรม ด้านการสร้างต้นแบบธุรกิจรองรับวิกฤต นำร่องในสกลนคร กระบี่ 228 ครัวเรือนรายได้เพิ่ม 10,000 บาทต่อเดือนต้นแบบธุรกิจ 14 โมเดล |
งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ | ค้นหาและสอบทานคนจน 20 จังหวัดได้ 824,806 คนส่งต่อให้ได้รับความช่วยเหลือจากส่วนกลาง 550,516 คนส่งต่อให้ได้รับความช่วยเหลือจากส่วนท้องถิ่น 15,696 ครัวเรือน |
การพัฒนาเมืองน่าอยู่และเมืองแห่งการเรียนรู้ | เกิดกลไกบริหารจัดการเชิงพื้นที่ 61 กลไกบริษัทพัฒนาเมือง 19 แห่งพื้นที่เรียนรู้ระดับเมือง 18 พื้นที่ความรู้ในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ 16 ชุดแนวทางการลงทุนระดับพื้นที่ 5 พื้นที่หลักสูตรความต้องการของพื้นที่ 20 หลักสูตร |