messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. ร่วมพิธีลงนามความร่วมมือนำร่องการพัฒนาทางด้านพลังงานหมุนเวียน และคาร์บอนเครดิต ระหว่าง กฟภ. – ส.อ.ท. ชี้บทบาท สอวช. ร่วมหนุนพัฒนากำลังคน พัฒนาหลักสูตร พร้อมสร้างมาตรฐานด้านระบบ

สอวช. ร่วมพิธีลงนามความร่วมมือนำร่องการพัฒนาทางด้านพลังงานหมุนเวียน และคาร์บอนเครดิต ระหว่าง กฟภ. – ส.อ.ท. ชี้บทบาท สอวช. ร่วมหนุนพัฒนากำลังคน พัฒนาหลักสูตร พร้อมสร้างมาตรฐานด้านระบบ

วันที่เผยแพร่ 14 มีนาคม 2022 1292 Views

(14 มีนาคม 2565) ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมเป็นสักขีพยาน และประกาศความร่วมมือ ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการนำร่องการพัฒนาทางด้านพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) และคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ระหว่างการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ณ ห้อง PTT GROUP (1012) ชั้น 10 สำนักงานสภาอุตสาหกรรมฯ และผ่านระบบออนไลน์

ดร. กิติพงค์ กล่าวว่า เรื่องการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ที่ทุกฝ่ายร่วมกันขับเคลื่อนอยู่นี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไปสู่การบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ GHG Net Zero ในปี 2065 ซึ่งถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ที่สามารถนำเอางานทางด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) เข้ามาสนับสนุนได้ โดยจากการหารือกับสภาอุตสาหกรรมฯ ในเบื้องต้น มีงานสำคัญที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 3 ด้าน ได้แก่ 1. การวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งสภานโยบายฯ มีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ที่ทำงานร่วมกับ สอวช. ในการดูทิศทางว่าจะสนับสนุนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้อย่างไร โดยเฉพาะทิศทางด้านเทคโนโลยี และการพัฒนาคน 2. ด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี จากที่ สอวช. ได้รับการแต่งตั้งในกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ที่จะเป็นส่วนสำคัญในเรื่องการเชื่อมโยงเรื่องของการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Transfer) ระหว่างประเทศต่างๆ กับประเทศไทย 3. คือการพัฒนากำลังคน เพื่อรองรับ และการเข้าไปสนับสนุนเรื่องมาตรฐานทางด้านระบบ Carbon Credit และ Carbon Verification ต่างๆ ซึ่งในส่วนนี้ สอวช. และสภาอุตสาหกรรมฯ ได้หารือเบื้องต้นว่าจะมีการพัฒนาขึ้นเป็นหลักสูตร 6 หลักสูตร ได้แก่ 1) Design Principle: Passive & Active Design, 2) Energy Efficiency, 3) Renewable Energy, 4) 3R + 1W + 1C, 5) Carbon Credit Certificate และ 6) Carbon Credit/RE Platform โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะเริ่มทำงานดังกล่าวภายใน 2-3 เดือนนี้

ด้าน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ต้นทุนค่าไฟฟ้าของระบบพลังงานหมุนเวียนที่ลดลง ส่งผลให้ผู้ใช้ไฟฟ้ามีความต้องการที่จะใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น อีกทั้งธุรกิจพลังงานไฟฟ้ารูปแบบใหม่ยังถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ การเกิดขึ้นของตลาดคาร์บอนเครดิต และการทําสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบใหม่ ดังนั้นภาครัฐและเอกชนควรเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศให้สอดคล้องกับกติกาโลกใหม่ และบรรลุเป้าหมายการขับเคลื่อนพลังงานทดแทน ให้มีสัดส่วน 30% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งประเทศภายในปี 2030 รวมถึงเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2065 ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นที่มาของ ความร่วมมือระหว่าง ส.อ.ท. และ กฟภ. ในการลงนาม “บันทึกข้อตกลงโครงการนําร่องการพัฒนาทางด้านพลังงานหมุนเวียนและคาร์บอนเครดิต” เพื่อจัดทําฐานข้อมูลและการรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและคาร์บอนเครดิตโดยเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มของสภาอุตสาหกรรมฯ ผ่านโครงการ ERC Sandbox ระยะที่ 2 โดยการริเริ่มและสนับสนุนจากคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อให้สามารถใช้เป็นต้นแบบตามแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีและการประยุกต์ใช้พลังงานทดแทน ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการร่วมมือในโครงการนําร่องฯ ระหว่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในครั้งนี้ จะส่งผลให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายตามที่ได้กล่าวมา

ด้าน นายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการ กฟภ. กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีด้านพลังงานมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การศึกษาพัฒนาโครงการนําร่องด้านพลังงานหมุนเวียน โดยการจัดทําฐานข้อมูล การรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และ Carbon Credit โดยการนําระบบแพลตฟอร์มมาบูรณาการ เพื่อใช้เป็นต้นแบบ ตามแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีและการประยุกต์ใช้พลังงานทดแทน รวมถึงการขยายผลการศึกษาไปสู่โครงการอื่นๆ จะช่วยให้ภาพรวมของประเทศไทย มีศักยภาพ ด้านการผลิต และการให้บริการ ด้านพลังงานสูงขึ้น ทั้งนี้การร่วมมือระหว่าง กฟภ. กับ ส.อ.ท. ซึ่งเป็นองค์กรที่เป็นตัวแทนของภาคอุตสาหกรรมเอกชนของประเทศไทยที่มีบทบาททางด้านการส่งเสริมและพัฒนาการประกอบอุตสาหกรรมชั้นนําของผู้ประกอบการทั้งภายในและต่างประเทศ จึงถือเป็นโอกาสที่ดี ของทั้ง 2 หน่วยงานในการร่วมกันแสวงหาแนวทางในการศึกษาและสร้างนวัตกรรมใหม่ที่จะเป็นประโยชน์ ต่อประเทศชาติในอนาคต

ในส่วนของนายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกํากับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า โครงการ ERC Sandbox ระยะที่ 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้เกิดการทดสอบทางเทคโนโลยีด้านพลังงานในสภาพแวดล้อม ของการใช้งานจริงในพื้นที่และขนาดที่จํากัด อีกทั้งเพื่อกําหนดแนวทางการกํากับดูแลการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ทั้งในรูปแบบเปิดกว้างและแบบมุ่งเป้าในด้าน Green Innovation และ Green Regulation ทั้งนี้ จะทําให้เกิดการพัฒนารูปแบบธุรกิจการให้บริการทางด้านพลังงานรูปแบบใหม่ ที่จะนําไปสู่การเพิ่มทางเลือกและช่องทางการเข้าถึงบริการด้านพลังงาน ประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดมากขึ้นในราคาที่เหมาะสม

เรื่องล่าสุด