messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ยกทัพผลงานวิจัยเด่นยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงต้นแบบฝีมือคนไทย ร่วมจัดแสดงในงานมอเตอร์โชว์ 2022 มุ่งผลักดันอุตสาหกรรมระบบคมนาคมอนาคตไทย

ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ยกทัพผลงานวิจัยเด่นยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงต้นแบบฝีมือคนไทย ร่วมจัดแสดงในงานมอเตอร์โชว์ 2022 มุ่งผลักดันอุตสาหกรรมระบบคมนาคมอนาคตไทย

วันที่เผยแพร่ 23 มีนาคม 2022 1222 Views

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำผลงานวิจัยต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ “ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงต้นแบบฝีมือคนไทย” จากการสนับสนุนทุนวิจัยพัฒนาของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยและเอกชน นำต้นแบบ รถบรรทุกไฟฟ้าดัดแปลง 10 ล้อ รถกระบะไฟฟ้าดัดแปลง รถตู้ไฟฟ้าดัดแปลง รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง และรถไฟรางเบาฝีมือคนไทย ร่วมจัดแสดงภายในงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ 2022

             ศ.พิเศษ ดร.เอนก กล่าวว่ารถไฟฟ้าดัดแปลงทุกคันที่นำมาจัดแสดงเป็นรถที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยโดย บพข. ร่วมกับมหาวิทยาลัย และบริษัทเอกชนไทยที่มีศักยภาพ มีความพร้อมและมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้งานวิจัยและพัฒนาด้านยานยนต์ไฟฟ้าสามารถต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ เป็นการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนในอุตสาหกรรมระบบคมนาคมไทย ถือเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยที่มีความสามารถไม่แพ้ชาติอื่น

           รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ในฐานะผู้จัดงาน ได้ให้ความสำคัญกับการผลักดันการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมระบบคมนาคมแห่งอนาคต หรือ Future Mobility เพื่อสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่ประเทศไทยมีความหวังและมีศักยภาพสูง สร้างให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้และต่อยอดเทคโนโลยีขึ้นภายในประเทศ สร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการในห่วงโซ่มูลค่า พัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นและจุดเปลี่ยนที่สำคัญของกลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้การแข่งขันที่เข้มข้นที่ต้องปรับตัวและยกระดับให้ทันกระแสการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของโลกภายในทศวรรษนี้ การนำเสนอผลงานวิจัยเด่นภายใต้อุตสาหกรรมกลุ่มระบบคมนาคมแห่งอนาคตที่ได้นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ เป็นการดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ได้แก่ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และมหาวิทยาลัยและหน่วยงานวิจัยอื่นๆ ซึ่งการนำเสนอครั้งนี้ เป็นเพียงตัวอย่างของความสำเร็จในการพัฒนาต้นแบบยานยนต์ไฟฟ้าของไทย

             นายพนัส วัฒนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด ในฐานะผู้ร่วมจัดงาน ได้นำผลงานวิจัยยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก บพข. ประเภทรถบรรทุกไฟฟ้าดัดแปลง 10 ล้อ และรถกระบะไฟฟ้าดัดแปลงที่ได้รับการสนับสนุนการศึกษาจาก สอวช. และ สวทช. มาร่วมจัดแสดง โดยรถดังกล่าวอยู่ภายใต้แบรนด์ “Panus Drive” ซึ่งจะเป็นการเปิดตัวรถไฟฟ้าดัดแปลงเชิงพาณิชย์ครั้งแรกของไทย ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยชั้นนำ 4 แห่ง ประกอบด้วย สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมของไต้หวัน (ITRI) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยนเรศวร และสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น ในการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงจำนวน 4 รุ่นคือ รถกระบะ รถบรรทุก 4 ล้อ 6 ล้อ และ 10 ล้อ ตลอดจนแพลตฟอร์มการบริการฝูงรถ อุปกรณ์อัดประจุไฟฟ้า ซึ่งงานวิจัยทั้งหมดในปัจจุบันมีความพร้อมสู่การขยายผลในเชิงพาณิชย์ เพื่อช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของประเทศ

             นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ร่วมจัดงาน ได้นำผลงานวิจัยโบกี้สำหรับรถไฟรางเบาชนิดพื้นต่ำ ที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก บพข. และยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงประเภทรถตู้ไฟฟ้าดัดแปลง ที่เกิดจากความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น มาร่วมจัดแสดง ทั้งนี้ ทางบริษัทและมหาวิทยาลัยฯ ได้มีการออกแบบพัฒนาและผลิตชิ้นส่วนสำคัญสำหรับการผลิตรถไฟฟ้ารางเบาในระดับอุตสาหกรรม ในชิ้นส่วนอื่นๆ ด้วย ได้แก่ ตัวถัง (Car Body) ชนิดพื้นต่ำ มอเตอร์ลากจูง (Traction Motor) อินเวอร์เตอร์ขับเคลื่อน (Traction Inverter) ระบบปรับอากาศ (Cooling System) แพนโตกราฟ (Pantograph) ระบบจ่ายไฟฟ้าเสริม (Auxiliary Power Unit) อุปกรณ์ยึดเหนี่ยวราง (Fastener) และหมอนคอนกรีตอัดแรง (Sleeper) ผสมยางพารา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการประกอบชิ้นส่วนต่างๆ เข้าด้วยกันและรอการทดสอบ เพื่อพัฒนาเมืองขอนแก่นให้เป็นสมาร์ทซิตี้ ต่อไป

             นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ในฐานะผู้จัดงานการแข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อธุรกิจแห่งอนาคต ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมฯ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(EGAT) สอวช. ม.เกษตรศาสตร์ (ศรีราชา) และหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ ได้นำตัวอย่างรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงที่ใช้แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนและยังคงรักษาเกียร์มือที่เป็นเอกลักษณ์เอาไว้ มาจัดแสดงในงานมอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 43 นี้ และคาดว่ายานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงประเภทต่างๆ จะได้รับความเชื่อมั่น เกิดความนิยม และมีการใช้งานอย่างแพร่หลายเพิ่มมากขึ้นเป็นจำนวนมาก

เรื่องล่าสุด