สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สนอว.) จัดการประชุมครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2565 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล และการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) เป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรี (ดร.วิษณุ เครืองาม) เป็นรองประธานคนที่หนึ่ง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) (ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์) รองประธานคนที่สอง พร้อมด้วยรัฐมนตรี ผู้บริหารจากกระทรวง หน่วยงานต่างๆ และผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การดำเนินงานของสภานโยบายฯ ได้มีส่วนสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอย่างชัดเจน ทั้งการเกิดขึ้นของพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 การจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา รวมถึงการผลักดันแนวทางการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา หรือ Higher Education Sandbox ที่เปิดโอกาสให้สถาบันอุดมศึกษาได้พัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ การประชุมครั้งนี้ สภานโยบายฯ จึงมีมติมอบหมายให้คณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง ด้านการส่งเสริมนวัตกรรมการอุดมศึกษา พิจารณากลั่นกรองเรื่องการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษาตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำว่า การดำเนินงานของสภานโยบายฯ นอกจากจะเน้นการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการอบรมบ่มเพาะและพัฒนา “คน” โดยไม่ได้มุ่งพัฒนาในเชิงวิชาการเท่านั้น แต่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตลอดกระบวนการ สามารถนำไปต่อยอด และนำไปใช้ตอบโจทย์ประเทศและประชาชนได้ รวมทั้งเน้นจริยธรรมและการยึดหลักธรรมาภิบาลด้วย
ส่งเสริมสถาบันอุดมศึกษาเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ
ด้าน ศ.(พิเศษ) ดร. เอนก กล่าวว่า การจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษากลุ่มเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งภาควิชาการจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้และกำลังคน รวมทั้งในระยะแรกจะขับเคลื่อนสถาบันศิลปะโรงเรียนเพาะช่างเป็นสถาบันอุดมศึกษา โดยเป็นเรื่องที่ สนอว. เห็นพ้องต้องกันว่าจะสามารถช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศได้ ด้วยไทยมีต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรมเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยที่มีคุณภาพและมีมูลค่าได้กว่าแสนล้านบาทในแต่ละปี และกลายเป็นเป้าหมายเพื่อมาเรียนรู้และท่องเที่ยวของนักเดินทางจากทั่วโลกเป็นจำนวนมาก สถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางจะมีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทั้งในด้านการอนุรักษ์และสืบสานศิลปวัฒนธรรม การพัฒนาต่อยอดสินค้าและบริการของภาคอุตสาหกรรมและชุมชนให้ตรงกับความต้องการของตลาด รวมทั้งการผลิตและพัฒนากำลังคนเฉพาะทางสมรรถนะสูงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ
ขยายระยะเวลา และปรับปรุงมาตรการลดหย่อนภาษี 300%
ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. กล่าวถึงประเด็นการปรับปรุงมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม 300% ว่า หลังจากนี้กระทรวง อว. และกระทรวงการคลัง จะร่วมกันปรับปรุงมาตรการยกเว้นภาษีฯ ในระยะต่อไปให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น ปรับเพิ่มเพดานงบประมาณโครงการในกรณีที่เคยมีโครงการผ่านการพิจารณามาแล้ว รวมทั้งให้เพิ่มเติมหน่วยงานของรัฐที่มีวัตถุประสงค์หรือหน้าที่และอำนาจในการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ตามกฎหมาย พระราชกฤษฎีกา หรือกฎกระทรวงที่จัดตั้งหรือแบ่งส่วนงาน หรือหน่วยงานด้านการให้ทุนตามที่ สนอว.กำหนด และเมื่อภาคเอกชนมีการสนับสนุนงบประมาณเพื่อสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจพัฒนากำลังคนด้าน ววน. หรือ กองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา สามารถอยู่ในเงื่อนไขของการใช้มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลนี้ได้ โดยจะเสนอให้กระทรวงการคลังดำเนินการต่อไป
นอกจากนี้สภานโยบายฯ เห็นชอบต่อแผนดำเนินงานของภาคีความร่วมมืออวกาศไทยเพื่อพัฒนาและสร้างดาวเทียมสำหรับสำรวจและวิจัยจากวงโคจรรอบดวงจันทร์ หรือ TSC-2 เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนากำลังคนและขีดความสามารถของประเทศด้านเทคโนโลยีอวกาศ และสนับสนุนการสร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรมอวกาศ ซึ่งรวมไปถึงการใช้มูลค่าเพิ่มพลอยได้ที่ได้จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีและพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ ยกระดับขีดความสามารถของอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เช่น วิศวกรรมอัตโนมัติและหุ่นยนต์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ยานยนต์แห่งอนาคต อวกาศยาน การขนส่ง เกษตรอัจฉริยะ และเทคโนโลยีดิจิทัล
และสภานโยบายฯ ยังได้พิจารณาเห็นชอบร่างหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการให้ทุนของหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. …. ซึ่งเป็น (ร่าง) กฎหมายลำดับรองของพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 เห็นชอบ (ร่าง) ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมว่าด้วยจริยธรรมการวิจัยทั่วไป พ.ศ. …. และ (ร่าง) พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์ การวิจัยและข้อกำหนดจริยธรรมการวิจัยซึ่งมีปัญหากับหลักศาสนา วัฒนธรรม จารีตประเพณี หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน พ.ศ. ….และรับทราบรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงานขับเคลื่อนด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (อววน.) อาทิ มติคณะรัฐมนตรี เรื่อง กรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษาในความรับผิดชอบของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566