messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. ร่วมเปิดตัว “ธัชวิทย์” วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย แนะมิติการดำเนินงานสร้างเครือข่ายคลังสมองทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศ

สอวช. ร่วมเปิดตัว “ธัชวิทย์” วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย แนะมิติการดำเนินงานสร้างเครือข่ายคลังสมองทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศ

วันที่เผยแพร่ 7 พฤษภาคม 2022 1779 Views

(6 พฤษภาคม 2565) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดงานเปิดตัว “วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย” หรือ ธัชวิทย์ (Thailand Academy of Sciences : TAS) โดยได้รับเกียรติจาก
ศ.(พิเศษ) ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เป็นประธานและกล่าวปาฐกถานำ ณ ห้องแถลงข่าวชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ถนนโยธี) และผ่านระบบออนไลน์ ในงานยังได้มีการจัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “ธัชวิทย์” ก้าวสำคัญของการขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่ง ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมเวทีเสวนาด้วย

ศ.(พิเศษ) ดร. เอนก กล่าวว่า ความก้าวหน้าของการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดนับเป็นกุญแจสำคัญต่อการพัฒนาประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพราะโลกปัจจุบันที่มีการแข่งขันสูงขึ้น จึงมีนโยบายให้จัดตั้งวิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Sciences : TAS) หรือเรียกว่า “ธัชวิทย์” คู่ไปกับวิทยสถานด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย “ธัชชา” ซึ่งได้ก่อตั้งเพื่อทำให้คนไทยเห็นคุณค่าเรื่องราวในอดีต ศึกษา วิจัยและพัฒนาด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดีและวัฒนธรรม ยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศเพื่อกระจายสู่สายตาประชาคมโลก ส่วน “ธัชวิทย์” จะเป็นเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงเครือข่ายนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ สถาบันวิจัยแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยมาทำงานร่วมกัน รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีอยู่ เพื่อสร้างประเทศให้มีฐานวิทยาศาสตร์ที่ดี ฐานการพัฒนาคนไทยให้ได้ดี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเวทีโลก โดยให้มีรูปแบบการดำเนินงานใน 3 มิติ ได้แก่ มิติที่ 1 การสร้างเครือข่ายคลังสมองทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศ (Frontline Think Tank) มิติที่ 2 กลุ่มริเริ่มงานวิจัยชั้นนำ (Frontier Science Alliances) และมิติที่ 3 ผลิตและพัฒนากำลังคนที่มีศักยภาพสูงเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก (Future Graduates Platform) เป้าหมายสำคัญคือการเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งต้องอุดมไปด้วยสรรพวิทยาและศาสตร์ในทุกๆ แขนงเป็นส่วนประกอบ และกระทรวง อว. คือสถานที่รวบรวมสิ่งเหล่านั้นไว้มากมาย ทั้งด้านการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และทรัพยากรบุคคลที่มีศักยภาพสูง “ธัชวิทย์” จะเป็นศูนย์กลางของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทยเพื่อรวบรวมและใช้อย่างสร้างสรรค์ กระทรวง อว. จะเป็นกระทรวงที่พัฒนาแล้วในปี 2570 และจะพาประเทศไทยก้าวสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี 2580 ได้อย่างแน่นอน

ด้าน ดร. กิติพงค์ กล่าวถึงการดำเนินงานในมิติที่ 1 หรือ Frontline Think Tank ว่า ประเทศไทยมีนักวิทยาศาสตร์อยู่เยอะ ทั้งเด็กรุ่นใหม่ไปจนถึงคนรุ่นใหญ่ ที่ต่างมีความเก่งเฉพาะทาง ทำให้มองเห็นกลไกที่จะดึงศักยภาพของคนเหล่านี้มาช่วยในการคิดและขับเคลื่อนประเทศ Think Tank ถือเป็นบทบาทที่สำคัญมาก เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่มีความรู้ สามารถที่จะเชิญชวน ชี้ทิศ ให้แนวทางความคิดได้ หรือเรียกว่าเป็น Public Advocacy ในเชิงนโยบายจะเข้ามาช่วยคิดว่าทิศทางในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศควรเป็นไปในแนวทางใด อีกส่วนที่ต้องให้ความสนใจคือเรื่อง Public Attitudes ที่ต้องอาศัยคนที่มีความรู้ มีความน่าเชื่อถือมาถ่ายทอดให้คนทั่วไปเห็นศักยภาพของประเทศไทย นักวิทยาศาสตร์ไทย ทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าคนไทยก็มีความสามารถในการทำเรื่องยากๆ ได้

นอกจากนี้ยังต้องมีการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สามารถนำมาใช้ในการขับเคลื่อนประเทศได้ และกำลังอำนาจทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถือว่าเป็นเรื่องของความมั่นคงของประเทศ ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กไทยหันมาสนใจและชอบด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น

อีกเรื่องสำคัญคือการที่นักวิทยาศาสตร์จะมาช่วยเรื่องการสร้างขีดความสามารถ (Capacity Building) ในส่วนของ Policy Think Tank จะพบว่าประเทศไทยมีประเด็นที่ท้าทายอยู่หลายอย่าง ทั้งในเชิงการแก้ปัญหาและในเชิงของโอกาส อาทิ การตั้งเป้าหมาย GHG Net Zero 2065 ที่ต้องอาศัยนวัตกรรม อาศัยฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ในการไปสู่เป้าหมาย, การขับเคลื่อนประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลาง ที่ต้องขับเคลื่อนด้วยการทำนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี หรือนวัตกรรมทางด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ รวมถึงเรื่องการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ที่ถือเป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ของประเทศ

“จากการที่เรามีนักวิทยาศาสตร์อยู่เยอะ ในการทำงาน “ธัชวิทย์” น่าจะต้องมี Pockets of Experts ที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ในแต่ละสาขา เช่น ปัญญาประดิษฐ์, เทคโนโลยีอวกาศ, วิศวกรรมขั้นสูง, ควอนตัม, พลังงาน เป็นต้น ทุกครั้งที่ประเทศต้องเผชิญกับเรื่องที่จะต้องใช้ความรู้เหล่านี้ เราต้องพร้อมที่จะล้วงจากกระเป๋าออกมา แล้วมาบอกกับรัฐบาล หน่วยงาน หรือประชาชนว่าเรื่องนี้จะต้องแก้ไขอย่างไร จะต้องขับเคลื่อนต่ออย่างไร ซึ่งตรงนี้ก็จะมีกลไกในเชิงนโยบาย มีหน่วยงานที่อำนวยความสะดวกในการดำเนินการ เช่น สอวช. สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในขณะเดียวกันเราก็มีหน่วยงานที่เป็นภาคีเครือข่าย เช่น สมาคม มูลนิธิ สถาบันต่างๆ ที่มีสมาชิกเป็นนักวิทยาศาสตร์ ที่พร้อมจะเข้ามาร่วมด้วย” ดร. กิติพงค์ กล่าว

ตัวอย่างการทำงานร่วมกัน เช่น การทำงานร่วมกับสภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (สสวทท) ที่มีองค์กรและสมาคมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่ภายใต้หน่วยงานหลายสิบองค์กร ได้เข้ามาช่วยคิด ช่วยขับเคลื่อน โดยได้เสนอประเด็นสำคัญในการดำเนินงานมาแล้ว อาทิ การทำโรงเรียนสร้างสรรค์เพื่อความยั่งยืน, การพัฒนาชุมชนยั่งยืนทางการเกษตร, การสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถมองเห็นเป็นรูปธรรมและคาดว่าจะเริ่มขับเคลื่อนต่อไปได้

Tags: #TAS

เรื่องล่าสุด