ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า สอวช. ก่อตั้งมาเมื่อปี 2562 พร้อมกับการก่อตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) และสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ซึ่ง สอวช. ได้ทำงานก้าวหน้าต่อเนื่องมาเป็นลำดับตลอด 3 ปี มีโครงการที่แล้วเสร็จหลายโครงการ โดยเฉพาะการปฏิรูประบบอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมได้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาผลิตและพัฒนากำลังคนระดับสูงตามความต้องการของประเทศ และได้ดำเนินการจัดตั้งหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมเฉพาะด้าน ทั้งด้านการพัฒนาพื้นที่ (บพท.) ด้านการพัฒนากำลังคนและการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา (บพค.) และด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)
ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า จากการดำเนินการจัดตั้งหน่วยบริหารและจัดการทุนดังกล่าว ก่อเกิดผลงานมากมาย ตั้งแต่การพัฒนาจนเกิดนวัตกรรมในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อาทิ อุตสาหกรรมสุขภาพ ได้ทำเรื่องยาชีววัตถุสำเร็จ, การทำชุดตรวจต่าง ๆ ,การทำผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่เป็นสมุนไพรที่เป็นสารสกัด เช่น สารสกัดบริสุทธิ์จากเปลือกมังคุดราคากิโลกรัมละหลายแสนบาท และกำลังพัฒนาสกัดบริสุทธิ์เป็นเกรดที่เอาไปทำยา ได้ราคากิโลกรัมละกว่าล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการทำต้นแบบรถไฟฟ้า ทั้งที่เป็นรถบรรทุก รถเก๋ง และรถไฟที่สามารถวิ่งบนรางได้จริงโดยฝีมือคนไทย ทั้งนี้เพื่อรองรับการขยายเมืองในอนาคต โดยจะเริ่มใช้ในแถบหัวเมืองต่าง ๆ สำหรับการพัฒนากำลังคน มีโปรแกรม AI FOR ALL ที่สามารถสร้างคนได้นับแสนคนให้มีความรู้ในด้านปัญญาประดิษฐ์และนำไปใช้ได้ทั้งในภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม
ในส่วนของการพัฒนาเชิงพื้นที่ ได้ลงสำรวจเกือบทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อขยับคนที่อยู่ในกลุ่มฐานราก ให้มาอยู่ในกลุ่มรายได้ปานกลาง มีการส่งเสริมการสร้างตลาดวัฒนธรรม ส่งเสริมการนำสินค้าฐานวัฒนธรรมมาจำหน่าย ยกตัวอย่างตลาดทุ่งสง ที่มีการจัดตลาดวัฒนธรรมในทุกสัปดาห์ มีเงินหมุนเวียนครั้งละ 1 ล้านบาท ปัจจุบันทำมาแล้ว 100 ครั้ง มีเงินหมุนเวียนในชุมชนกว่า 100 ล้านบาท
ดร.กิติพงค์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ สอวช. ยังได้ดำเนินโครงการพลิกโฉมการอุดมศึกษาและพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงให้เพียงพอรองรับการพัฒนาในอนาคตโดยจัดทำมาตรการส่งเสริม สนับสนุนการผลิตและพัฒนากำลังคน ให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประเทศ อาทิ การดำเนินการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา หรือ Higher Education Sandbox ซึ่งมหาวิทยาลัยและผู้ประกอบการสามารถออกแบบหลักสูตรร่วมกันได้ 100% นักศึกษาอาจไม่จำเป็นต้องเรียนถึง 4 ปี แต่สามารถเรียนจากสถานประกอบการจริง สร้างรายได้ได้ขณะเรียน อีกทั้งเมื่อเรียนจบไปแล้วสามารถทำงานได้ทันที ในขณะเดียวกันมองว่าการประกอบอาชีพไม่จำเป็นต้องทำแค่เพียงในบริษัทเอกชน หรือในภาครัฐเท่านั้น แต่มีการพัฒนาแพลตฟอร์มให้สามารถประกอบอาชีพส่วนตัวได้ด้วย นอกจากนี้ยังได้เพิ่มช่องทางการขอเลื่อนตำแหน่งทางวิชาการเฉพาะด้านให้กับกลุ่มอาจารย์หรือนักวิจัย อีก 5 ด้าน ประกอบด้วย 1) ด้านรับใช้ท้องถิ่นและสังคม 2) ด้านสุนทรียภาพ 3) ด้านการสอน 4) ด้านนวัตกรรม และ 5) ด้านศาสนาและปราชญา
ในส่วนของงบประมาณ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า ได้มีการพัฒนาระบบใหม่ โดยการตั้งกองทุนขึ้น มีระบบฐานข้อมูลที่ชัดเจน สามารถสืบค้นได้ว่าโครงการวิจัยอะไรอยู่ตรงไหน โดยกองทุนจะส่งเงินผ่านหน่วยบริหารจัดการทุน ซี่งมีหน้าที่ทั้งให้ทุนและบริหารจัดการให้เกิดนวัตกรรมขึ้นจากการให้ทุนนั้นๆ ด้วย
สำหรับการพัฒนาเชิงเทคโนโลยี สอวช. ได้จัดทำโปรแกรมการวิจัยขั้นแนวหน้า หรือ Frontier Research ขึ้น โดยได้จัดทำสมุดปกขาว ออกแบบว่ารัฐบาลต้องลงทุนในโปรแกรมดังกล่าวในด้านต่าง ๆ อาทิ จีโนมิกส์, ควอนตัม, อวกาศ, ฟิสิกส์พลังงานสูง เป็นต้น ซึ่งในทุกสาขาต้องใช้นักวิจัยและทำการศึกษาที่ล้ำหน้า สอดคล้องกับการพัฒนาแพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนด้านวิศวกรรมศาสตร์และด้านวิทยาศาสตร์ ให้ตรงกับความต้องการภาคเอกชน ที่ได้มีการเชื่อมโยงความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI), สำนักงานปลัดกระทรวง อว., สภาคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย, สภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย และภาคเอกชน ตั้งเป้าหมายการพัฒนากำลังคนในสาขาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ประมาณ 20,000 คนต่อปี เพื่อรองรับอุตสาหกรรมในอนาคตที่ประเทศไทยต้องริเริ่มทำเองและลดการพึ่งพาต่างประเทศ
ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานในอนาคต ดร. กิติพงค์ กล่าวว่า เรามีเป้าหมายค่อนข้างชัดเจนทางด้าน อววน. ว่าต้องการขับเคลื่อนประเทศไทยไปเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเริ่มต้นด้วยการทำให้เห็นว่า อววน. ของเราก้าวหน้าเทียบเคียงกับประเทศในแถบตะวันตกและตะวันออกที่พัฒนาไปแล้ว โดยตั้งเป้าไว้ในเชิงของรายได้ จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้สูง ซึ่งต้องมีรายได้ต่อคนต่อปีประมาณ 12,500 เหรียญสหรัฐ สิ่งที่ต้องทำคือพัฒนาผู้ประกอบการให้ประกอบธุรกิจที่มีฐานนวัตกรรม อีกส่วนหนึ่งคือการยกสถานะของคนกลุ่มฐานรากขึ้นไปให้เป็นชนชั้นกลาง โดยจะยกสถานะทั้งเชิงสังคม เชิงการศึกษาและเชิงรายได้ ในเรื่องการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้มองไปที่อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ที่จะมีการลงทุนเพื่อปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเหล่านั้น เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งต่อไปจะเปลี่ยนเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และยานยนต์อัตโนมัติ มีการลงทุนทำวิจัยต้นแบบยานยนต์ไฟฟ้า การทำแบตเตอรี่ รวมถึงพลังงานรูปแบบใหม่ๆ
ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า อีกหนึ่งงานที่ต้องดำเนินการคือ การขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยเฉพาะในการแข่งขันทางการค้า ประเทศไทยเองจึงต้องสร้างคนหรือผู้ประกอบการให้เพียงพอรองรับในสิ่งเหล่านี้ ควบคู่ไปกับการสร้างนวัตกรรมขึ้นในประเทศด้วย นอกจากนี้สิ่งที่ รมว.อว. ให้ความสำคัญมากคือเรื่องของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่คนไทยมีศักยภาพสูงมาก และประเทศไทยมีต้นทุนทางวัฒนธรรม ทุนทางปัญญา ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ โดยการเติมนวัตกรรม และองค์ความรู้ลงไป ก็จะเป็นอีกกลไกที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้ไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้ในอนาคต