ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 ได้มีการรายงานการพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ประจำปี 2564 ต่อที่ประชุม สืบเนื่องจากวันที่ 11 มกราคม 2565 คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบรายงานดังกล่าว ตามที่สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติเสนอ และให้เสนอสภาผู้แทนราษฎรเพื่อทราบต่อไป ซึ่งที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติรับทราบรายงานฯ ดังกล่าว และมีการอภิปรายโดยได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง
ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ในฐานะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการสภานโยบายฯ กล่าวว่า ในปัจจุบันมีการดำเนินการในด้านการพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และสภานโยบายฯ เอง ได้ดำเนินการและมีความก้าวหน้าเป็นลำดับ อาทิ การบริหารทุนวิจัย ที่มีระบบข้อมูลรวมทั้งหมดของทุนวิจัย ให้เห็นว่างานวิจัยจะไปในทิศทางใดบ้าง ซึ่งสามารถทำให้งานวิจัยไม่เกิดความซ้ำซ้อนและมีความโปร่งใส ในเรื่องความเสมอภาคและความเท่าเทียมของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทางกระทรวง ก็ได้มีการจัดทุนการศึกษาและทุนวิจัย แยกตามกลุ่มมหาวิทยาลัยเพื่อให้เกิดความเสมอภาค เช่น มหาวิทยาลัยที่พัฒนาเชิงพื้นที่ก็จะได้รับทุนในการพัฒนาเชิงพื้นที่ มหาวิทยาลัยที่ทำวิจัยทางเทคโนโลยีก็จะได้รับทุนสนับสนุนด้านเทคโนโลยี เป็นต้น
ในเรื่องของสังคมศาสตร์ ปัจจุบันกระทรวง อว. ก็ให้ความสำคัญมาก ได้จัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาเรียกว่า วิทยสถานด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ หรือ ธัชชา เพื่อที่จะดูแลงานทางด้านสังคมศาสตร์ให้ดียิ่งขึ้น ด้านเศรษฐกิจฐานราก เมื่อไม่นานมานี้ได้มีการออกพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 มีส่วนที่สนับสนุนให้มีการดูแล การพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีที่เหมาะสมลงไปสู่เศรษฐกิจฐานราก ซึ่งทางสภานโยบายฯ ก็จะดำเนินการในการจัดหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงเข้าไปดูแลในด้านนี้ ในส่วนของกลุ่มเด็กยากจน ถือเป็นอีกกลุ่มที่กระทรวง อว. และสภานโยบายฯ ให้ความสำคัญ มีนโยบายที่จะลงไปดูแลให้มหาวิทยาลัยคัดเลือกเด็กยากจนตั้งแต่ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย และจัดสรรทุนให้เรียนจนจบ เมื่อเรียนจบแล้วก็ยังดูแลไปในเรื่องการจ้างงาน รวมถึงการยกระดับทักษะต่างๆ และการส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการเองด้วย
เรื่องของการเชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคธุรกิจ การดำเนินการในอนาคตก็จะทำให้เกิดความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีกลไกเรียกว่า Higher Education Sandbox หรือการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา ที่จะสามารถเปลี่ยนข้อกำหนดในการจัดการศึกษารูปแบบเดิมได้ทั้งหมด ขณะนี้มหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ส่งแนวทางการจัดทำหลักสูตรเข้ามาที่กระทรวงเป็นจำนวนมาก คิดว่าจะสามารถเป็นแนวทางการปรับหลักสูตรต่างๆ ให้เหมาะสมต่อไป นอกจากนี้ยังมีแนวทางการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบใหม่ ทั้ง non-degree และการทำคลังหน่วยกิต (Credit Bank) เพื่อตอบโจทย์การศึกษาในยุคใหม่ด้วย
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ที่หลากหลาย ทั้งในเรื่องการผลิตผลงานวิชาการและหนังสือ รวมถึงเสนอหัวข้อวิจัยต่างๆ ที่จะสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานด้านการพัฒนา อววน. ได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งฝ่ายเลขานุการสภานโยบายฯ ได้รับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะดังกล่าวมาเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการดำเนินงานโดยใช้ อววน. เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศต่อไป
ผู้ที่สนใจสามารถศึกษารายงานการพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ประจำปี 2564 ได้ที่: https://www.nxpo.or.th/th/report/9727/