มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ตำบลกะรนเป็นต้นแบบสู่การแหล่งท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ ฟื้นเศรษฐกิจภูเก็ตหลังวิกฤตโควิด-19 ขณะที่รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตระบุงานวิจัยดังกล่าวจะปูทางภูเก็ตสู่ความเป็น Andaman Wellness Center และช่วยให้ภูเก็ตเบียดเอาชนะสหรัฐอเมริกา สเปน เซอร์เบีย และอาร์เจนติน่า คว้าสิทธิ์เป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงสินค้าและบริการสุขภาพนานาชาติ หรือ Specialized Expo ปี 2571
รศ.ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต กล่าวต่อที่ประชุมสัมมนาว่าด้วยการขับเคลื่อนพื้นที่จังหวัดภูเก็ต สู่เมืองท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ กรณีศึกษาตำบลกะรน ณ โรงแรมประมุกโก้ รีสอร์ท จังหวัดภูเก็ต โดยระบุว่างานศึกษาวิจัยดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาเชิงพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) มาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 ถึง มิถุนายน 2565 โดยร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งในระดับพื้นที่และระดับภูมิภาค จัดกิจกรรมย่อยที่สำคัญรวม 6 กิจกรรมประกอบด้วย
1.การจัดทำผังข้อมูลด้านสุขภาพในจังหวัดภูเก็ต 2.การศึกษาตลาดส่งเสริมสุขภาพโลก พฤติกรรมและการคาดหมาย 3.การศึกษามาตรการข้อบังคับ บทบัญญัติและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจการท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมสุขภาพจังหวัดภูเก็ต 4.การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแบบบูรณาการของจังหวัดภูเก็ต ภายหลังเกิดวิกฤตการณ์โควิด 19 5.การฝึกอบรมหลักสูตรการบริหารจัดการโรงแรมส่งเสริมสุขภาพสำหรับผู้บริหาร และ 6.การพัฒนาเขตส่งเสริมสุขภาพตำบลกะรนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพภาคการบริการและฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังการระบาดของโควิด 19
“การศึกษาวิจัยครั้งนี้สร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ภาคธุรกิจและหน่วยราชการ เช่น เครือข่ายชุมชนที่ได้ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย ตลอดจนถึงชมรมธนาคารภูเก็ตที่จะมารให้คำปรึกษาทางการเงิน เพื่อช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ส่งเสริมสุขภาพของตำบลกะรนให้เป็นพื้นที่ต้นแบบในการขับเคลื่อนในพื้นที่อื่น ๆ ของจังหวัดและพื้นที่อื่น ๆ ในประเทศไทยต่อไป”
นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การพัฒนารูปแบบของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพนั้นเป็นเรื่องที่ทำกันหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ได้พยายามที่จะจัดทำหลักสูตรพัฒนาผู้ประกอบการด้วยการ Up Skill, Re Skill และ New Skill ให้กับผู้ประกอบการที่อยู่ในสถานประกอบการ โรงแรม ศูนย์ Wellness ต่าง ๆ ในโซนอันดามัน กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มของสมาคมโรงแรม ที่พัก ส่งเสริมสุขภาพอันดามันและอ่าวไทย ซึ่งจะขับเคลื่อนในเรื่องของ Andaman Wellness Corridor หรือ AWC ให้เป็นศูนย์ดูแลด้านสุขภาพของนักท่องเที่ยวที่มาท่องเที่ยวในโซนอันดามัน แล้วก็หวังที่จะพัฒนาเศรษฐกิจทางด้านนี้ให้เติบโตเทียบเท่ากับเขตพัฒนาเศรษฐกิจตะวันออกหรือ EEC
อีกกลุ่มเป็นของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงสาธารณสุข กลุ่มนี้ก็จะทำเป็นศูนย์ Health Wellness Plaza ที่ตำบลไม้ขาว บนเนื้อที่ 141 ไร่ ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าโดยครม.อนุมัติในหลักการวงเงินงบประมาณ 1,411 ล้านบาท ให้ดำเนินการก่อสร้างอาคารสถานที่ ปรับปรุงพื้นที่ดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในปี 2571 ซึ่งจะสอดคล้องกับจังหวัดที่เสนอตัวเป็นผู้จัดงาน Specialized Expo ในปี 2571 ซึ่งมีคู่แข่ง 5 ประเทศได้แก่ ประเทศเซอร์เบีย สหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา สเปน และไทย โดยของไทยจะจัดขึ้นที่ภูเก็ต
ในช่วงวันที่ 25-29 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ ทางคณะกรรมการที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์การจัดงาน มีกำหนดเดินทางมาตรวจสอบความพร้อมที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเราจะยกเอาประเด็นเรื่องของ Wellness เป็น Specialized บริการที่โซนอันดามันให้บริการต่อนักท่องเที่ยวทั่วโลก เพราะฉะนั้นศูนย์ที่เราตั้งขึ้นที่ตำบลไม้ขาวก็จะเป็นศูนย์พักฟื้นผู้ที่หายป่วยหรือที่ออกจากโรงพยาบาล ดูแลผู้ป่วยหลังเกษียณ ดูแลผู้ที่พักฟื้นหลังการผ่าตัด ดูแลกลุ่มที่รักสุขภาพ เช่น ฟิตเนส โยคะ สปา โภชนาการ นวดสุขภาพ รวมทั้งเกี่ยวกับการชะลอวัย พวกอาหารเสริม การดูแลสุขภาพ
“งานศึกษาวิจัยเรื่องรูปแบบการขับเคลื่อนพื้นที่จังหวัดภูเก็ต สู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของมหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ที่ได้รับการสนับสนุนจาก บพท. นับว่ามีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์จังหวัดในการที่จะพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจังหวัดภูเก็ตยกระดับเป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก รวมทั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 อีกทั้งยังจะมีส่วนสนับสนุนอย่างสำคัญในการทำให้จังหวัดภูเก็ต ได้รับสิทธิ์ในการจัดงานแสดงสินค้าและบริการสุขภาพนานาชาติ หรือ Specialized Expo ปี 2571 ระหว่างวันที่ 20 มีนาคม-17 มิถุนายน 2571 ซึ่งจะช่วยดึงดูดเงินตราเข้าประเทศได้ไม่น้อยกว่า 49,000 ล้านบาท”
ขณะที่ เรือเอกเจด็จ วิชรศรณ์ นายกเทศมนตรีตำบลกะรน จ.ภูเก็ต กล่าวว่า ตำบลกะรนมีศักยภาพในการท่องเที่ยว มีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก มีผู้ประกอบการ ผู้นำท้องถิ่น และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีความเข้มแข็ง แต่ผลจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดวิกฤตกับการท่องเที่ยวของตำบลกะรน ส่งผลทำให้รายได้ของผู้ประกอบการและประชาชนตำบลกะรนต้องลดลงเป็นอย่างมาก เทศบาลจึงได้ประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเพิ่มศักยภาพของธุรกิจการท่องเที่ยวของตำบลกะรนให้มีมูลค่าที่สูงขึ้น
โดยสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของจังหวัดภูเก็ต การดำเนินโครงการการศึกษารูปแบบการขับเคลื่อนพื้นที่จังหวัดภูเก็ตสู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพกรณีศึกษาตำบลกะรน (Karon Wellness Tourism City) ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ภายใต้การสนับสนนุนงบประมาณหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) นั้น จะช่วยสนับสนุนและขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพของตำบลกะรนในอนาคต
ทางด้าน นายจาดุร อภิชาตบุตร ผู้ทรงคุณวุฒิ บพท.เชื่อมั่นว่าการขับเคลื่อนงานวิจัยระดับพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อยกระดับสู่เมืองท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ โดยกำหนดให้ตำบลกะรนเป็นพื้นที่นำร่อง จะเป็นก้าวย่างที่สำคัญ ในการพลิกฟื้นจังหวัดภูเก็ตจากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ไปสู่ความเป็น wellness center เต็มรูปแบบ ที่จะมีเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก ให้เดินทางเข้าไปใช้บริการ ขณะเดียวกันก็จะช่วยกระจายรายได้ กระจายความกินดีอยู่ดีให้แก่คนในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรในตำบลกะรน ซึ่งถูกกำหนดเป็นพื้นที่นำร่อง