ปลดล็อกไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้ว : ผลักดันให้ประเทศหลุดจากกับดักรายได้ปานกลางสู่รายได้สูงด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์และเศรษฐกิจนวัตกรรม
“ประเทศไทยเข้าสู่ประเทศรายได้สูงด้วยเศรษฐกิจนวัตกรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์
ด้วยนโยบายส่งเสริม Innovation ecosystem ที่เทียบเคียงประเทศพัฒนาแล้ว”
- รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนใน 2 Quintile ล่าง จากการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพิ่มขึ้นสูงกว่า 1.5 เท่าของการเติบโตรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยของประเทศ
- เพิ่มจำนวนบริษัทที่มีนวัตกรรมที่มีขนาด >1,000 ลบ. x 2,000 บริษัท
ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง (Upper-middle-income Country) มานานกว่า 10 ปี การหลุดจากกับดักรายได้ปานกลางเข้าสู่การเป็นประเทศรายได้สูง ขึ้นอยู่กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมียุทธศาสตร์ มีจุดมุ่งเน้นที่เหมาะสมกับบริบทและความเข้มแข็งของประเทศ ในขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงการสร้างฐานรายได้เฉลี่ยของประชากรให้เพิ่มขึ้นอย่างทั่วถึงและยั่งยืน พร้อมกับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชากรในทุก ๆ กลุ่ม สำหรับบริบทของประเทศไทย การพัฒนาเศรษฐกิจแบบคู่ขนานสองแนวทาง คือ การส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเศรษฐกิจนวัตกรรมเทคโนโลยี น่าจะเป็นยุทธศาสตร์ที่เหมาะสม
เศรษฐกิจสร้างสรรค์
ข้อได้เปรียบที่สำคัญที่ส่งเสริมให้ประเทศไทยมีศักยภาพในประเด็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คือการที่ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์และมรดกทางวัฒนธรรมที่ชัดเจนและได้รับการยอมรับให้เป็นมรดกโลกที่สำคัญหลายรายการ มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของคนไทย งานช่างฝีมือไทย อีกทั้งมีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่หลากหลายมีความแตกต่างกันตามภูมิศาสตร์ ซึ่งเมื่อนำข้อได้เปรียบเหล่านี้มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาสินค้าและบริการ ทำให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศไทย โดยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในบริบทของประเทศไทย คือ การพัฒนาระบบเศรษฐกิจโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์บนฐานขององค์ความรู้ ทรัพย์สินทางปัญญา และการศึกษาวิจัย ซึ่งเชื่อมโยงกับวัฒนธรรม พื้นฐานทางประวัติศาสตร์ การสั่งสมความรู้ของสังคม เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อใช้ในการพัฒนาธุรกิจ การผลิตสินค้าและบริการในรูปแบบใหม่ซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจหรือคุณค่าทางสังคม นอกจากนี้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ยังมีบทบาทต่อการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคมและชุมชน จากการสร้างงานและสร้างความเข้มแข็งของชุมชนจากการมีเครือข่ายความร่วมมือ และสร้างการมีส่วนร่วมภายในชุมชน เศรษฐกิจสร้างสรรค์ในระดับชุมชนช่วยส่งเสริมความรู้สึกการเป็นเจ้าของร่วมกันซึ่งช่วยสร้างทุนทางสังคมที่เข้มแข็งในด้านของสังคม นอกจากนี้ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ยังเป็นกิจกรรมการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถเชื่อมไปสู่บริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืน
การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในประเทศไทย ต้องการการสนับสนุนเพิ่มเติมในหลายด้าน เช่น ระบบข้อมูลและการจัดเก็บข้อมูลทางสถิติของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ การถ่ายทอดภูมิปัญญาและรวบรวมองค์ความรู้ท้องถิ่นที่มีแนวทางการถ่ายทอดและจัดเก็บอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ การเร่งรัดวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่มีเป้าหมายที่ชัดเจน การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสร้างสรรค์นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไปประยุกต์ใช้การผลิตสินค้าหรือบริการ การจัดการด้านทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเป็นระบบ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ การบูรณาการและสร้างความต่อเนื่องของนโยบายและกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการพัฒนาระบบนิเวศสร้างสรรค์ (Creative Ecology) เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมและส่งเสริมผู้ประกอบการสร้างสรรค์ จะทำให้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยเป็น Growth Engine ที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
แนวทางมาตรการทางนโยบาย โดยนำ อววน. เข้าหนุนการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์
1) สนับสนุนให้มีตลาดวัฒนธรรมในทุกจังหวัด โดย อว. สนับสนุนให้ผู้ประกอบการในพื้นที่และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำงานร่วมกันกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ เพื่อรองรับสินค้าวัฒนธรรมจากชุมชน
2) ใช้กระบวนการวิจัยสร้างกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่าง Stakeholder ในการพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มในสาขาหลัก ๆ เช่น (1) มรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาและความหลากหลายทางชีวภาพ 2) เอกลักษณ์ศิลปะและวัฒนธรรม (3) งานช่างฝีมือและหัตถกรรม (4) อุตสาหกรรมสื่อบันเทิงและซอฟต์แวร์ และ (5) การออกแบบและพัฒนาสินค้าสร้างสรรค์
3) สนับสนุนผู้ประกอบการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในพื้นที่ (Local Entrepreneurs) พัฒนาทักษะและสร้างสรรค์สินค้าและบริการใหม่ ๆ จากทุนทางวัฒนธรรมร่วมกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดสินค้าและบริการรูปแบบใหม่ที่มีจุดเด่นและมีมูลค่าเพิ่ม โดยอาจจัดตั้งเป็น Creative Economy Innovation Parks ในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อเป็นสถานที่บ่มเพาะและเร่งการเติบโตของผู้ประกอบการท้องถิ่น
4) การเชื่อมโยงเศรษฐกิจสร้างสรรค์กับเศรษฐกิจฐานรากและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อยกระดับรายได้ของประชาชนและเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนา โดยเฉพาะการสร้างอุตสาหกรรมงานฝีมือและหัตถกรรม (Craft Industry) และการยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน “OTOP” ด้วยกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking)
5) การส่งเสริมการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ (Creative City) และย่านสร้างสรรค์ (Creative District) ในเมืองต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูเมือง สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย และทำให้เมืองเติบโตอย่างยั่งยืนและชาญฉลาด โดยใช้กระบวนการร่วมสร้างสรรค์ (Co-creation) ในการวางแผน ออกแบบ และพัฒนาเมืองและบริการสาธารณะ
6) ส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่ศึกษา วิจัย เก็บข้อมูลทุนทางวัฒนธรรมและภูมิสังคมของพื้นที่ จัดทำเป็น Big Data นำมาวิเคราะห์ต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม ตลอดจนเป็นโจทย์ในการพัฒนามหาวิทยาลัยในพื้นที่ให้มี Excellence และบริการวิชาการ จัดการศึกษาในสาขาใหม่ ๆ ตามโจทย์ของพื้นที่ ในด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์และสร้างมูลค่าทางวัฒนธรรม ร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน มีการจัดทำเป้าหมาย กรอบนโยบาย และกลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน มีแผนแม่บทและแผนที่นำทางการพัฒนา (Roadmap) เศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริงได้
7) การส่งเสริมให้ อววน. เข้าไปมีบทบาทยกระดับอารยธรรมในท้องถิ่นขึ้นสู่ระดับสากล โดยให้ อว. ส่วนหน้าประสานและเชื่อมโยงกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ทั้ง ชุมชน ผู้ประกอบการ และหน่วยงานภาครัฐ
เศรษฐกิจนวัตกรรม
การที่ประเทศไทยจะก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางได้นั้น จำเป็นต้องยกระดับความสามารถของผู้ประกอบการไทยให้กลายเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรม (Innovation Driven Enterprise: IDE) เนื่องจากผู้ประกอบการนวัตกรรมสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันด้วยเทคโนโลยี และมุ่งตอบสนองตลาดระดับโลก ทำให้มีแนวโน้มที่จะเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดและส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในระดับสูง
ในปัจจุบันผู้ประกอบการส่วนใหญ่ของไทยยังคงเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่พยายามแข่งขันด้วยความได้เปรียบด้านแรงงาน วัตถุดิบ และประสิทธิภาพในการผลิตเป็นหลัก ทำให้ต้องเผชิญการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งที่มีต้นทุนต่ำกว่าและมีการพัฒนาไล่หลังมาอย่างต่อเนื่อง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่นโยบาย อววน. จะต้องเร่งหนุนเสริมให้ผู้ประกอบการมีความสามารถด้านนวัตกรรมและมีความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล
นโยบาย อววน. จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้บริษัทมีความสามารถในการทำนวัตกรรม โดยจะมุ่งเน้นไปที่การยกระดับวิสาหกิจขนาดกลางที่มีรายได้ในระดับ 500 ล้านบาท ซึ่งเป็นผู้ประกอบการเดิมที่ทำธุรกิจอยู่แล้วและมีศักยภาพสูง (Amazing M) ให้สามารถต่อยอดสินค้าและบริการสู่ตลาดสากลที่ผู้บริโภคมีความต้องการที่ซับซ้อนมากขึ้น หากสามารถทำให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงตลาดขนาดใหญ่ และมีรายได้เติบโตอย่างต่อเนื่องร้อยละ 20 ต่อปี บริษัทจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 1,000 ล้านบาท ได้ภายใน 5 ปี
ผู้ประกอบการกลุ่มที่ 2 คือ ผู้ประกอบการใหม่ เช่น สตาร์ทอัพหรือวิสาหกิจเริ่มต้น ซึ่งมักอยู่ในธุรกิจที่มีการเติบโตสูงในอนาคต เช่น ธุรกิจแพลตฟอร์ม ธุรกิจดิจิทัล หรือธุรกิจบนฐานเทคโนโลยี (Technology-based Enterprise) ที่มีการใช้งานวิจัยหรือเทคโนโลยีขั้นสูง การสนับสนุนผู้ประกอบการกลุ่มนี้ให้ก้าวสู่ยูนิคอร์น หรือบริษัทที่มีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (30,000 ล้านบาท) จำเป็นต้องมีระบบนิเวศการสร้างสตาร์ทอัพที่สมบูรณ์ มีโปรแกรมให้คำปรึกษา (Mentorship) หรือหน่วยบ่มเพาะที่มีเครือข่ายทางธุรกิจในระดับสากล
การสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการนวัตกรรมดังกล่าวได้ตั้งเป้าหมายเพื่อเพิ่มจำนวนบริษัทที่มีรายได้มากกว่า 1,000 ล้านบาท ให้ได้จำนวน 2,000 บริษัท หรือคิดเป็นมูลค่าเพิ่มให้กับ GDP กว่า 2,000,000 ล้านบาท โดยการเพิ่มจำนวน IDE จะช่วยเพิ่มสัดส่วนการลงทุนด้านการวิจัยและนวัตกรรม ก่อให้เกิดการจ้างงานรายได้สูงและผลักดันให้ประเทศไทยหลุดจากกับดักรายได้ปานกลางและกลายเป็นประเทศรายได้สูงได้ต่อไป
แนวทางนโยบายพัฒนาระบบนิเวศสำหรับเศรษฐกิจนวัตกรรม เพื่อบรรลุเป้าหมายของเศรษฐกิจนวัตกรรม มีดังนี้
1) การสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของรัฐและเอกชนเพื่อสร้างโอกาสและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของผู้ประกอบการนวัตกรรม ด้วยกลไก/มาตรการในรูปแบบที่มีประสิทธิภาพ ลดอุปสรรคด้านกฎเกณฑ์และกระบวนการที่เป็นภาระ และตอบสนองต่อความต้องการของผู้ประกอบการได้อย่างแท้จริง
2) การสร้างขีดความสามารถของผู้ประกอบการนวัตกรรม ด้วยโปรแกรมที่ตรงกับความต้องการในแต่ละกลุ่มผู้ประกอบการนวัตกรรม เช่น โปรแกรมให้คำปรึกษาโดยนักลงทุนพี่เลี้ยงเพื่อการขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดระดับโลกหรือการระดมทุนจากนักลงทุนต่างชาติสำหรับสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ การสนับสนุนผู้ประกอบการนวัตกรรมที่เป็นกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและเล็กให้เข้าสู่บริการของหน่วยบ่มเพาะที่มีเครือข่ายทางธุรกิจในระดับสากล การส่งเสริมให้เกิดธุรกิจให้บริการด้านนวัตกรรม (IBDS: Innovation Business Development Service) เป็นต้น
3) การส่งเสริมผู้ประกอบการนวัตกรรมให้มีขีดความสามารถในการดูดซับเทคโนโลยีจากต่างชาติ โดยมุ่งเน้นส่งเสริมทักษะที่จำเป็นเพื่อรองรับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีขั้นสูง และการเข้าถึงข้อมูลด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงสนับสนุนให้ผู้ประกอบการทุกกลุ่มใช้นวัตกรรมเข้าหนุนเสริมการใช้แรงงานในกระบวนการผลิต เพื่อลดต้นทุนการผลิตและปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว
4) การส่งเสริมเศรษฐกิจนวัตกรรมระดับพื้นที่ วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กในพื้นที่ที่สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศและทิศทางการลงทุนของต่างประเทศ เช่น Belt and Road Initiative เป็นต้น และควรมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เพียงพอและเข้าถึงได้สำหรับผู้ประกอบการในพื้นที่ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่จะสร้างให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่สูงได้
5) การปรับปรุงการผ่อนปรนและปรับลดกฎเกณฑ์ที่ไม่จำเป็น ที่เป็นปัญหาอุปสรรค และสร้างภาระให้แก่ผู้ประกอบการ และพัฒนากฎหมาย ระเบียบ ที่เป็นการส่งเสริม สร้างให้เกิดแรงจูงใจ กระบวนการที่คล่องตัวสำหรับการดำเนินธุรกิจนวัตกรรม
แนวทางการดำเนินงานของ สอวช.
Scale up Nation เป็นนโยบายที่ สอวช. ริเริ่ม และจะขับเคลื่อนในปี 2565 – 2566 โดยพยามสร้างให้ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมที่มีรายได้สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สร้างผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจในระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศให้เพิ่มสูงขึ้น โดยที่ผ่านมา สอวช. ได้มีการวิจัยนโยบาย วิจัยเชิงระบบ และได้ทำสมุดปกขาวร่วมกับทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง Investment Ecosystem เพื่อจะขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็น Scale up Nation ในปี 2030 หลังจากได้ทำการศึกษาเชิงระบบแล้ว สอวช. จะเดินหน้าในการลงไปดูการพัฒนาปรับปรุงกลไกที่มีอยู่ เพื่อสร้าง IDE รวมถึงการออกแบบกลไกใหม่ๆ ในเรื่องของการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเป็น IDE และรวมถึงการสนับสนุนให้ IDE เติบโตอย่างก้าวกระโดดเป็น Scale up Firm
ด้านการกำหนด/ผลักดันให้เกิดนโยบาย สอวช. มีแนวคิดที่จะกำหนดนโยบาย Scale up Nation เป็นมาตรการ กลไก สิทธิประโยชน์หรือแรงจูงใจที่จะต้องออกแบบให้เหมาะสมกับแต่ละวิสาหกิจและแต่ละรายอุตสาหกรรม รวมถึงการกำหนดทิศทางการทำ Priority Setting และจัดทำโปรแกรมเฉพาะที่เหมาะกับทุกๆ ผู้ประกอบการ ทั้งกลุ่มของอุตสาหกรรมและกลุ่มผู้ประกอบการด้วย
โดย สอวช. วางกรอบการออกแบบโปรแกรมนำร่องออกเป็น 4 โปรแกรมหลัก คือ
1. Transformation SME สู่การเป็น IDE โดยมุ่งเน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยี และ Business Matching ผ่านการบ่มเพาะ SME ที่มีศักยภาพเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมได้ด้วยกลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือการทำ Business Matching รวมถึงกลไกอื่นๆ ที่ทาง สอวช. และหน่วยงานพันธมิตรร่วมกันจะออกแบบ
2. Acceleration เร่งการเติบโต IDE ให้มีรายได้เพิ่มอย่างก้าวกระโดด โดยมุ่งไปที่การขยายตลาด และสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน และการขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศ
3. Sustainability สร้างความยั่งยืนให้กลุ่ม High-Growth คือ บริษัทที่มารายได้เติบโตเพิ่มขึ้น 20% ติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปี โดยออกแบบกลไกที่เหมาะสม รวมถึงการส่งเสริมการสร้าง New-S curve การดำเนินธุรกิจในรูปแบบใหม่ เช่น ธุรกิจแพลตฟอร์ม เป็นต้น
4. Startup to Scaleup เป็นโปรแกรมสำหรับสตาร์ทอัพโดยเฉพาะ โดยจะพัฒนาสตาร์ทอัพด้วยโปรแกรม Mentorship คือ การมีนักลงทุนเข้าไปเป็นพี่เลี้ยงให้กับสตาร์ทอัพไทย เข้าไปดูปัญหา อุปสรรค ให้กับสตาร์ทอัพ อย่างจริงจัง เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาให้สตาร์ทอัพ พร้อมพาไปสู่การดึงดูดการลงทุนจาก Investor ที่จะทำให้มีการระดมทุนที่สูงขึ้นและก็ Scaleup ขึ้นไปได้