ปลดล็อกไทย ไขวงจรคนจน ยกระดับฐานราก : การขยับสถานะทางสังคมของคนในกลุ่มฐานรากด้วยการศึกษาและโอกาสด้านการประกอบการ
“มีแพลตฟอร์ม/กลไกในการสนับสนุนการขยับสถานะทางสังคมของคนหรือครัวเรือน (1,000,000 คน)”
ประเทศที่พัฒนาแล้ว สภาพแวดล้อมทางด้านสังคมและเศรษฐกิจจะเปิดโอกาสให้คนจากทุกพื้นฐานสามารถเลื่อนฐานะทางสังคมขึ้นได้อย่างไม่มีอุปสรรค สำหรับสังคมไทยที่ผ่านมาก็มีตัวอย่างมากมายที่คนกลุ่มฐานรากสามารถขยับสถานะทางสังคมได้อย่างดี การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) มีส่วนสำคัญช่วยเลื่อนสถานะทางสังคมของคนได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาในระดับอุดมศึกษาซึ่งเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญสูงมาก ไม่เพียงเท่านั้น อววน. ยังเปิดโอกาสในมุมของอาชีพที่ดีจากทั้งการศึกษาในระบบและการศึกษาต่อเนื่องเพื่อ “ยกระดับทักษะเดิม เพิ่มเติมทักษะใหม่” (Upskill และ Reskill) และการส่งเสริมอาชีพทางนวัตกรรมและการประกอบการ และอาชีพอื่นๆ รวมทั้งอาชีพที่สนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้วย ดังนั้น เพื่อขยับสถานะทางสังคมของคนในกลุ่มฐานราก รัฐต้องเสริมพลังฐานราก โดยพัฒนาระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้ โดยเร่งสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ควบคู่กับมาตรการการสนับสนุนช่องทางในการเข้าถึงโอกาสของหน่วยงานภาครัฐที่ได้ดำเนินการ ณ ปัจจุบัน ควบคู่กัน โดย อววน. สามารถมีบทบาทสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งกลุ่มฐานราก ใน 3 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่ 1: สร้างหลักประกันโอกาสเข้าถึงอุดมศึกษาของประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มฐานราก กลุ่มเปราะบาง และกลุ่มคนชายขอบ โดยการบูรณาการเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลเพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างมุ่งเป้า โดยตั้งเป้าหมายให้ประชาชนทุกคน เข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษา รวมถึงมหาวิทยาลัยในราคาที่เหมาะสมและมีคุณภาพ ภายในปี 2573 และให้ทุกครัวเรือนในกลุ่มประชากรร้อยละ 40 ที่มีรายได้ต่ำสุด มีสมาชิกในครอบครัวสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา
ประเด็นที่ 2: เสริมโอกาสประกอบอาชีพด้วยการเรียนรู้ตลอดชีวิต กลุ่มฐานรากจะต้องได้รับโอกาสการพัฒนาทักษะใหม่ให้สามารถปรับตัวรองรับความเปลี่ยนแปลง ด้วยการส่งเสริมการศึกษาต่อเนื่องเพื่อ “ยกระดับทักษะเดิม เพิ่มเติมทักษะใหม่” (Upskill และ Reskill) รวมถึงทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงวิชาความรู้มากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายให้มีระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ประชาชนทุกช่วงวัยสามารถเข้าถึงได้และมีกลไกทางการเงินสนับสนุนโดยเฉพาะกลุ่มฐานราก
ประเด็นที่ 3: สนับสนุนพลังฐานรากให้เป็นพลังที่เข้มแข็งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์และเศรษฐกิจนวัตกรรม โดยยกระดับศักยภาพความเป็นผู้ประกอบการฐานรากมุ่งเน้นไปที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มักขาดโอกาส สร้างระบบนิเวศสนับสนุนทางการเงิน ทักษะผู้ประกอบการ เชื่อมโยงตลาด พัฒนาผู้ประกอบการรายย่อยให้เป็นวิสาหกิจเริ่มต้น สนับสนุนการยกระดับสหกรณ์และวิสาหกิจชุมชนให้เป็นฐานของการสร้างนวัตกรรมชุมชนจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ผสานองค์ความรู้และเทคโนโลยี ส่งเสริมบทบาทของวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprises) และภาคธุรกิจท้องถิ่น เพื่อเชื่อมโยงคนฐานรากเข้ามาอยู่ในห่วงโซ่คุณค่า โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการจากฐานวิสาหกิจชุมชนร้อยละ 10 ต่อปี โดยกระจายทั่วทุกภูมิภาค และเพิ่มการหมุนเวียนของเงินในชุมชน
แนวทางการดำเนินงานของ สอวช.
สอวช. อยู่ระหว่างทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อกำหนดแนวทางการขยับสถานะทางสังคมของประชากรกลุ่มฐานราก กลุ่มด้อยโอกาสให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วยการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่เหมาะสมอย่างมีคุณภาพ โดยดำเนินการใน 3 กลุ่มเป้าหมายคือ เยาวชน วัยทำงาน และผู้ประกอบการท้องถิ่น
โดยแนวทางการขยับสถานะทางสังคมของประชากรกลุ่มฐานรากในกลุ่มเยาวชน จะกำหนดแนวทางโดยการจ้างงานควบคู่ไปกับการเรียนหนังสือ เพื่อไม่ให้กลุ่มนี้มีความกังวลเรื่องปากท้อง ขณะที่กลุ่มวัยทำงานจะพัฒนาแพลตฟอร์มในการแนะนำศักยภาพให้กับแรงงานทักษะต่ำ โดยร่วมกับภาคเอกชนและสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ สำหรับผู้ประกอบการ จะสร้างระบบพี่เลี้ยงเพื่อให้บริษัทขนาดใหญ่เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้ประกอบการท้องถิ่น รวมถึงพัฒนากระบวนการให้เกิดการพัฒนา การเชื่อมโยงตลาดระหว่างผู้ประกอบการท้องถิ่นไปสู่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก เพื่อให้มีเป้าหมายในการผลิตที่ชัดเจนและไม่เกิดปัญหาสินค้าล้นตลาด