ปลดล็อกไทย สร้างคนให้ขับเคลื่อนประเทศ : การมีฐานกำลังคนสมรรถนะสูงเพียงพอรองรับการพัฒนาในอนาคต
“สัดส่วนแรงงานทักษะสูง เพิ่มขึ้นเป็น 25% ในปี 2570 (ปี 2562 สัดส่วน 13.8%)
ผ่านแพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงรองรับการลงทุนและการพัฒนาประเทศ”
กำลังคนสมรรถนะสูงเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศท่ามกลางการแข่งขันเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม อย่างไรก็ตาม กำลังคนสมรรถนะสูงในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2562 พบการรายงานเพียงร้อยละ 13.8 ซึ่งยังคงเป็นสัดส่วนที่ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ดังนั้น การเตรียมฐานกำลังคนสมรรถนะสูงให้เพียงพอจึงเป็นประเด็นสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาประเทศในอนาคตให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเพื่อไปสู่เป้าหมายดังกล่าว สอวช. จึงได้กำหนดแนวทางเพิ่มสัดส่วนแรงงานทักษะสูงในระบบเป็นร้อยละ 25 ในปี พ.ศ. 2570 ภายใต้ 4 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่ 1: เตรียมกำลังคนสมรรถนะสูงรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจหลังวิกฤต COVID-19 เป็นที่คาดการณ์ว่าภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะประเทศไทยจะเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของการลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติภายหลัง COVID-19 เนื่องจากความสามารถในการจัดการการแพร่ระบาดของเชื้อดังกล่าวได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการลงทุนขนาดใหญ่จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนากลไกการผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงอย่างเร่งด่วน ผ่านการดำเนินงานร่วมกันของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ภายใต้แพลตฟอร์มที่มีแนวทางการพัฒนากำลังคนที่หลากหลาย และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของภาคผลิตและบริการได้ อาทิ โปรแกรม Upskill/Reskill/New skill เพื่อพัฒนาศักยภาพของแรงงานให้มีสมรรถนะสูง ขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและใช้หุ่นยนต์เข้ามาทดแทนกำลังคนมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องวางแผนการผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงและมีทักษะที่หลากหลาย เพื่อลดความเสี่ยงของการปรับโครงสร้างของภาคอุตสาหกรรมอย่างฉับพลันและควบคุมการทำงานของระบบอัตโนมัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยกลไกการจัดการศึกษารูปแบบสหวิชาการ (Multi-discipline) นอกจากนี้ ด้วยสภาวะการพึ่งพาการส่งออกสูง COVID-19 ส่งผลกระทบต่อการตอบสนองตลาดต่างประเทศค่อนข้างมาก ขณะที่รูปแบบเศรษฐกิจแบบแบ่งปันปรากฏภาพชัดขึ้น ในรูปแบบของแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ดังนั้น ประเทศไทยต้องเพิ่มความสามารถในการจัดการห่วงโซ่อุปทานของผู้ประกอบการไทยและอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อลดต้นทุนการผลิตและขยายอุปสงค์ของสินค้า เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างรวดเร็ว ด้วยกลไกการแลกเปลี่ยนบุคลากรจากภาคการศึกษาและภาครัฐไปสู่ภาคเอกชน เพื่อนำความรู้ ความสามารถไปถ่ายทอดและพัฒนาเพื่อให้ผลิตภาพของแรงงานสูงขึ้น และยกระดับทักษะแรงงานไปสู่แรงงานสมรรถนะสูงต่อไป
ประเด็นที่ 2: แพลตฟอร์มสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning Platform) ที่มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพคนตลอดทุกช่วงวัยเพื่อตอบโจทย์การทำงานและการใช้ชีวิต และเข้าสู่การเป็นกำลังคนที่มีสมรรถนะสูงรองรับการพัฒนาประเทศ รวมถึงมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลก กระทรวง อว. มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตในแต่ละช่วงวัยตามกลุ่ม ดังนี้ 1) กลุ่มเด็กและเยาวชน มุ่งเน้นการเชื่อมต่อการศึกษาทุกระดับสู่การศึกษาระดับสูง เช่น การพัฒนา “International STEAM Career Academy” เพื่อผลิตนักเรียนสาย STEAM ที่มีทักษะในการประกอบอาชีพ โดยสร้างความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและสถาบันอุดมศึกษาทั้งในและต่างประเทศ และการยกระดับกลไกการผลิตบุคลากรสายอาชีพ หรือ “อาชีวศึกษาพรีเมี่ยม” ด้วยการออกแบบหลักสูตรร่วมกับอุดมศึกษาควบคู่กับการทำงานในสถานประกอบการ รวมถึงการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาระดับสูงให้กับเยาวชนกลุ่มช้างเผือกที่ขาดโอกาส เพื่อขยายฐานโอกาสให้กับประชากรทุกกลุ่มและทุกช่วงวัย และเกิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพสูง 2) กลุ่มนักศึกษา มุ่งเน้นการจัดการศึกษาแนวใหม่ที่เชื่อมต่อกับภาคผู้ใช้บัณฑิตอย่างสมบูรณ์ เพื่อให้บัณฑิตมีทักษะและสมรรถนะที่ตอบโจทย์การทำงาน สามารถแข่งขันในตลาดงานได้ และมีภูมิคุ้มกันต่อภาวะวิกฤต 3) กลุ่มกำลังแรงงาน มุ่งเน้นการยกระดับกำลังแรงงานสู่แรงงานทักษะสูงผ่านโปรแกรม Upskill/Reskill/New skill ยกระดับศักยภาพแรงงานในระบบให้เป็นแรงงานสมรรถนะสูงอย่างเร่งด่วนเพื่อดึงดูดการลงทุน รวมถึงการสร้างภูมิคุ้มกันด้านทักษะให้กับแรงงานกลุ่มเปราะบาง แรงงานนอกระบบ และแรงงานอิสระ (Gig worker) 4) กลุ่มผู้สูงอายุ มุ่งเน้นการส่งเสริมเพื่อสร้าง Active Ageing Workforce รวมถึงการพัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อต่อการทำงานของผู้สูงอายุ เพื่อดึงดูดให้ผู้สูงอายุยังมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน และชะลอการการสูญเสียแรงงานกลุ่มสูงวัยที่มีสมรรถนะสูงออกจากระบบ
ประเด็นที่ 3: ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางกำลังคนระดับสูง (Hub of Talent) และศูนย์กลางการเรียนรู้ (Hub of Knowledge) ของอาเซียน รวมถึงด้านศาสตร์โลกตะวันออก เนื่องด้วยมีฐานทรัพยากรที่หลากหลาย มีการคมนาคมที่เอื้อต่อการทำการค้าระหว่างประเทศ มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ อาทิ การพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเพื่อเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งกำลังคนสมรรถนะสูงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและเป็นองค์ประกอบหลักต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของผู้ประกอบการ เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางกำลังคนระดับสูง และศูนย์กลางการเรียนรู้ ของอาเซียน รวมถึงด้านศาสตร์โลกตะวันออก ซึ่งจำเป็นต้องขับเคลื่อนมาตรการ/กลไกที่สำคัญ 4 ประเด็น ได้แก่ 1) พัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงเฉพาะทางตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมายสำคัญเร่งด่วนของประเทศด้วยการจัดตั้งศูนย์พัฒนากำลังคนทักษะสูงทางด้านช่างเทคนิคและนักวิจัย (Technical & Research Human Resource Development Hub) ระดับนานาชาติ 2) มุ่งใช้ประโยชน์กำลังคนระดับมันสมอง (Brainpower) อย่างเต็มศักยภาพผ่านการดำเนินงานภายใต้โจทย์วิจัยขนาดใหญ่ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ของหน่วยงานในระบบ ววน. 3) ดึงดูดกำลังคนระดับสูงจากต่างประเทศ ร่วมพัฒนาด้านการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทย และ 4) สร้างสภาพแวดล้อมที่สามารถดึงดูดและเก็บรักษาบุคลากรที่มีศักยภาพสูงไว้ได้ เพื่อให้ประเทศมีกำลังคนระดับมันสมองเพียงพอต่อการตอบโจทย์ทั้งระยะสั้นและระยะยาว สามารถขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศอย่างเต็มศักยภาพ
ประเด็นที่ 4: พลิกโฉมระบบการอุดมศึกษาเพื่อตอบสนองต่อทิศทางความต้องการกำลังคนที่เปลี่ยนแปลง และวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปในอนาคต ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งสร้างกำลังคนสมรรถนะสูงอย่างเร่งด่วนใน 3 กลุ่มสำคัญ คือ 1) กลุ่มอุตสาหกรรมที่สอดรับกับบริบทโลกในอนาคต อาทิ ดิจิทัล และยานยนต์อิเล็กทรอนิกส์ 2) กลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต อาทิ เทคโนโลยีควอนตัม อุตสาหกรรมอวกาศ และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และ 3) กำลังคนสมรรถนะสูงในสาขาสหวิทยาการ (Interdisciplinary) เพื่อเพิ่มความคล่องตัวของการเคลื่อนย้ายกำลังคนสมรรถนะสูงระหว่างอุตสาหกรรม และรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งการพลิกโฉมระบบการอุดมศึกษาจะเกิดขึ้นได้ จำเป็นต้องอาศัยการพัฒนาและสร้างนวัตกรรมทั้งทางด้านนวัตกรรมเชิงนโยบาย นวัตกรรมเชิงโมเดลการจัดการศึกษา นวัตกรรมเชิงหลักสูตร และนวัตกรรมเชิงบริหารจัดการ นอกจากนี้แนวโน้มของสถาบันอุดมศึกษาในอนาคตควรมุ่งสู่การจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำ (Tertiary Education for Employment) ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันการผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของภาคส่วนต่าง ๆ ได้ โดยแนวทางที่สำคัญคือการส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และภาคการศึกษา เพื่อพัฒนากลไกการเรียนการสอนที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) เพื่อสามารถผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงแบบรวดเร็วและตรงจุด และนำไปสู่การกำหนดมาตรฐานการอุดมศึกษาของประเทศในกระบวนทัศน์ใหม่ต่อไป
แนวทางการดำเนินงานของ สอวช.
สอวช. มีการศึกษาวิจัยเชิงนโยบายอยู่ 4 เรื่องหลัก คือ 1. รายงานสมรรถนะบุคลากรในอนาคตสำหรับ 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ใน 5 ปี ข้างหน้า (ปี 2563 – 2567) 2. การศึกษาเรื่อง Premium Job Analysis Forecast (ปี 2565 – 2569) ซึ่งศึกษาร่วมกับ สป.อว. โดยจะเป็นการวิเคราะห์ว่างานในกลุ่มไหนเป็นงานในกลุ่มที่เป็น พรีเมี่ยม และจะมีการวิเคราะห์ถึงสมรรถนะที่ภาคเอกชนมีความต้องการ และชวนภาคเอกชนมาจัดการศึกษาร่วมกับภาคมหาวิทยาลัย 3. การพัฒนากำลังคนทักษะสูงเพื่อเตรียมรองรับการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และ 4. สมุดปกขาว Disruptive Tertiary Education
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา สอวช. ได้มีการออกแบบกระบวนการรับรองหลักสูตรและการจ้างงานบุคลากรเพื่อรองรับมาตรการ Thailand Plus Package การทำข้อเสนอนโยบาย Higher Education Sandbox ทั้งในส่วนหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา และเมื่อช่วงเดือน พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา สอวช. ได้มีการดำเนินงานแพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง ตอบโจทย์ภาคผลิตและภาคบริการ โดยได้ ร่วมกับ BOI และสภาคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย และสภาคณบดีวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (สถาบันอุดมศึกษา 66 แห่ง) ในการพัฒนากำลังคนเพื่อตอบโจทย์ภาคผลิตและภาคบริการ ซึ่งในแพลตฟอร์มดังกล่าวจะมีเครื่องมือสำคัญในการตอบโจทย์การพัฒนากำลังคน 3 รูปแบบหลักๆ คือ 1. ตอบโจทย์การพัฒนากำลังคนระยะสั้นรูปแบบ Upskill & Reskill 2. สถานประกอบการร่วมจัดการศึกษา (CWIE/Sandbox) และ 3.การเชื่อมโยงการจ้างงานที่เป็น Employment & Career Development ด้วย ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญที่จะพัฒนาวิศวกร และนักวิทยาศาสตร์สมรรถนะสูงตามความต้องการของสถานประกอบการ 20,000 คน เป็นวิศวกร 10,000 คน และนักวิทยาศาสตร์ 10,000 คน ต่อปี เพื่อที่จะรองรับอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศ