ปลดล็อกไทย บรรลุเป้าหมาย สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน : การพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาจากเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร
“50% ของบริษัทส่งออก Achieve Carbon Neutrality
และมีแผนสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (net zero emission)”
ผลจากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) มีผู้นำจาก 137 ประเทศทั่วโลกให้คำมั่นในการดำเนินมาตรการเพื่อควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่งสูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียส โดยกว่า 60 ประเทศทั่วโลกประกาศเป้าหมายก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) รวมถึงประเทศไทยนายกรัฐมนตรีได้ประกาศเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี พ.ศ. 2608 โดยประเทศไทยจะยกระดับการแก้ปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่และด้วยทุกวิถีทาง เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย กระทรวง อว. จะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีสะอาด (Clean Technology) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สอวช. ที่ได้รับการมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้ทำหน้าที่เป็นหน่วยประสานงานกลางด้านเทคโนโลยีของ UNFCCC (ยูเอ็นเอ็ฟทริปเปิ้ลซี) ที่เรียกว่า National Designated Entity (NDE) จากข้อตกลงดังกล่าว ส่งผลให้เกิดมาตรการต่าง ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายตามกรอบเวลาที่ได้แสดงเจตจำนงค์ไว้ โดยหนึ่งในมาตรการที่สำคัญ คือ มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Border Carbon Adjustments: ฺBCA) ที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว อาทิ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป (EU) ญี่ปุ่น และแคนนาดา มีแนวโน้มจะใช้เป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-tariff Barriers) โดย สหภาพยุโรปเป็นกลุ่มประเทศแรกที่ประกาศจะดำเนินมาตรการการปรับคาร์บอนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Measure: CBAM) เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2566 และเริ่มมีค่าใช้จ่ายจริงในวันที่ 1 มกราคม 2569 ในสินค้านำเข้า 5 รายการ คือ ปุ๋ย เหล็ก อะลูมิเนียม ไฟฟ้า ซีเมนต์ และจะขยายไปยังสินค้าอื่น ๆ ต่อไป
ภาคส่วนแรกที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการดังกล่าว คือ ผู้ประกอบการส่งออกของไทย ดังนั้น เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการไทย สอวช. จึงใช้ศักยภาพ อววน. สนับสนุนผู้ประกอบการให้เกิดการปรับตัวตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศและสอดคล้องกับมาตรการของนานาชาติ โดยตั้งเป้าหมายการทำงาน “50% ของบริษัทส่งออก achieve Carbon Neutrality และมีแผนสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero emission)”
จากการวิเคราะห์เบื้องต้น ในปี 2570 ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศที่คาดการณ์ไว้ 660 MtCO2e หากประเทศจะทำให้เกิด Carbon Neutrality ต้องทำให้ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนเพียง 200 MtCO2e รวมทั้งต้องมีปริมาณการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกประมาณ 120 MtCO2e[1][2] ดังนั้นต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบนิเวศและปัจจัยเอื้อต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีและนวัตกรรมการดำเนินการผลิตและบริการได้ อีกทั้งนานาชาติเริ่มดำเนินการมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน ซึ่งภาคการส่งออกถือเป็นภาคที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย หากผู้ประกอบการที่ส่งออกสินค้าหรืออยู่ในห่วงโซ่อุปทานสินค้าของประเทศที่มีมาตรการการค้าลักษณะนี้ ไม่สามารถปรับตัวได้ อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ และตามเป้าหมายในจำนวนร้อยละ 50 ของบริษัทส่งออกหรือประมาณ 18,082 บริษัท[3]สามารถปรับตัวการผลิตและบริการเป็น Carbon Neutrality จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 172.26 MtCO2e และรักษาการส่งออกสำหรับประเทศคู่ค้าที่มีมาตรการนี้ได้ประมาณ 115,732 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สำหรับประเทศไทยมีเป้าหมายในยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทยที่ใน 5 สาขาที่สำคัญ ได้แก่ ภาคพลังงาน ภาคกระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ภาคเกษตร ภาคการจัดการของเสีย และภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมทั้งปัจจุบันประเทศไทยมียุทธศาสตร์ BCG Model ซึ่งเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Circular & Green Economy) สนับสนุนปรับเปลี่ยนโมเดลธุกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเช่นกัน
แนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย อววน.
1. ขับเคลื่อนให้ผู้มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรม ปรับเปลี่ยนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการสนับสนุนให้เกิดการออกแบบพิมพ์เขียว (Blueprint) ให้อุตสาหกรรมเป้าหมายตลอดจนผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทาน เพื่อการปรับเปลี่ยนการผลิตและบริการด้วยพลังงานไฟฟ้าสะอาด และการปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจให้เป็นไปตามแนวคิด Circular Economy เพื่อเป็นต้นแบบของอุตสาหกรรมเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจก ตั้งแต่กระบวนการผลิตและกระบวนการกำจัด โดยการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีของพลังงานที่ใช้ในการผลิตจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นพลังงานไฟฟ้าสะอาด และใช้นวัตกรรมในการปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ และทรัพยากรในการผลิตตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน
2. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับช่วงเปลี่ยนผ่าน เช่น Pilot Plant ระบบ Verifier และ Testing Lab เป็นต้น เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการผลิตสินค้าและบริการเป็นไปตามมาตรฐานสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถปรับปรุงกระบวนการผลิตและบริการได้ตรงตามมาตรการด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศคู่ค้าได้ และอำนวยความสะดวกให้สามารถเข้าถึงบริการที่มีอยู่ในประเทศไทย เพื่อลดข้อจำกัดต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคทางการแข่งขันด้านการค้า เช่น ด้านมาตรฐาน ด้านคุณภาพ และด้านราคา เป็นต้น รวมทั้งพัฒนาธุรกิจบริการอันเป็นการสร้างโอกาสของผู้ประกอบการไทย
3. สนับสนุนให้เกิดการถ่ายทอดและพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย (Technology Localization) อาทิ เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization, and Storage: CCUS) และระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System : BESS) โดยการประสานผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนแหล่งเงินทุนสนับสนุนการทำโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีและให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น โครงการ CCUS จากกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ เป็นต้น โดยอาศัยทรัพยากรด้าน อววน. อาทิ บุคลากร และโครงสร้างพื้นฐาน เร่งให้เกิดการดูดซับองค์ความรู้ และเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อพัฒนาและต่อยอดในประเทศ
4. สร้างแพลตฟอร์มการทำงานเพื่อปรับเปลี่ยนร่วมกันระหว่างภาครัฐ นักวิจัย และผู้ประกอบการ รูปแบบการทำงานเพื่อสร้างเครือข่ายการทำงาน (Network Effects) ร่วมกันในการขับเคลื่อนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมาย Net Zero และสร้างการเชื่อมต่อระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนความต้องการ ความรู้ ประสบการณ์ และการได้มาของข้อมูล เพื่อสร้างนวัตกรรมการทำงานขับเคลื่อนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ
แนวทางการดำเนินงานของ สอวช.
สอวช. มีแนวทางในการพัฒนากลไกและแพลตฟอร์มสร้างขีดความสามารถ 100 ผู้ประกอบการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อจะตอบเป้าหมายของการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งก็เป็นเป้าหมายของประเทศ ซึ่งเศรษฐกิจหมุนเวียน ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติว่า เป็นวิธีการหนึ่งที่จะสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 2 ใน 3 โดยเฉพาะเรื่องของการใช้ Material โดยจะศึกษาระบบนิเวศนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน และวางวิสัยทัศน์ไปข้างหน้า ผ่านการจัดทำกรอบนโยบายระบบนิเวศนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน: วิสัยทัศน์ 2030 และรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของหน่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทยพร้อมกับสร้างความสามารถให้ผู้เล่นในระบบ รวมถึงการสร้างปัจจัยเอื้อที่จำเป็นที่สามารถขับเคลื่อนประเทศไทย Transform ไปสู่การทำเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สอวช. ได้มีการทดลองทดสอบนโยบายกับเครือข่ายของ Global Compact ในการสร้างผู้ประกอบการที่มีความสามารถในการทำ Business Model ของเศรษฐกิจหมุนเวียน และสร้างเทรนเนอร์หรือผู้เชี่ยวชาญในการทำ Business Model ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนขึ้นมาด้วย ซึ่งจากการทดสอบนโยบายทำให้เราได้ ข้อมูลมาทำวิจัยนโยบายว่าผู้ประกอบการมีความต้องการและมีอุปสรรคในการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างไรบ้าง
[1] https://thestandard.co/net-zero-emissions/
[2] Mid-century, Long-term Low GHG emission development strategy Thailand, 2021
[3] https://www.thansettakij.com/business/466769