messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. แนะแนวทางการผลิตกำลังคนระดับบัณฑิตศึกษา เน้นผลิตบัณฑิตแบบ Co-creation ร่วมกับภาคอุตสาหกรรม พร้อมรองรับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต

สอวช. แนะแนวทางการผลิตกำลังคนระดับบัณฑิตศึกษา เน้นผลิตบัณฑิตแบบ Co-creation ร่วมกับภาคอุตสาหกรรม พร้อมรองรับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต

วันที่เผยแพร่ 14 มิถุนายน 2022 1105 Views

(13 มิถุนายน 2565) ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมเวทีเสวนาพิเศษในหัวข้อ “Graduate Education in the Disruptive World: Demand Oriented Curriculum Design and Use of Sandbox” ในการจัดการประชุมวิชาการเสนอผลงานวิจัยระดับบัณฑิตศึกษาแห่งชาติ ครั้งที่ 54 (The 54th National Graduate Research Conference) “บัณฑิตศึกษากับการศึกษาที่ออกแบบได้ Graduate Studies and Personalized Education” จัดโดย บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนเรศวร ณ อาคารอุทยานองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก และผ่านระบบออนไลน์

ดร. กิติพงค์ เปิดเผยข้อมูลจากสภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum: WEF ที่ระบุว่า สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะการเกิด Technology disruption จะส่งผลให้ในปี ค.ศ. 2025 จะมีงานประมาณ 85 ล้านตำแหน่งถูกทดแทนด้วยเครื่องจักร แต่ในขณะเดียวกันก็จะมีตำแหน่งงานใหม่เกิดขึ้นกว่า 97 ล้านตำแหน่ง ซึ่งงานที่มีความต้องการมากขึ้นจะเป็นงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ข้อมูล ระบบอัตโนมัติ นอกจากนี้ รูปแบบการใช้ชีวิตของคนก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย จากชีวิตสามขั้น (Three-stage Life) ไปสู่สังคมสูงวัยและชีวิตหลากหลายขั้น (Multi-stage Life) มนุษย์จะมีอายุยืนยาวขึ้น มีระยะเวลาทำงานนานขึ้น มีมากกว่าหนึ่งอาชีพในช่วงชีวิต และในแต่ละช่วงอาจมีทั้งการศึกษาและการทำงานผสมผสานกัน

จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการแย่งชิง Talent ข้ามประเทศและข้ามอุตสาหกรรม ปัจจุบันเริ่มพบปัญหาว่า จำนวนเด็กที่เข้าศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาน้อยลงมาก ทำให้ภาคอุตสาหกรรมยิ่งมีการแย่งชิงนักศึกษาในกลุ่ม Talent มากขึ้นด้วย ในเชิงนโยบาย อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่เข้าไปสำรวจนักเรียนทุนเสมอภาคในพื้นที่ 29 จังหวัด พบว่ามีนักเรียนจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงการศึกษาและมีเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาค่อนข้างเยอะ ซึ่งถือเป็นปัญหาที่จะส่งผลกระทบในการผลิตบัณฑิตระดับบัณฑิตศึกษาด้วยเช่นกัน

สอวช. ได้จัดทำรายงานการศึกษาระบบอุดมศึกษาไทยในบริบทของประเทศพัฒนาแล้ว (ฉบับที่ 1: การผลิตและพัฒนากำลังคนตามความต้องการของประเทศ) พบว่า ทิศทางการปรับตัวของระบบอุดมศึกษาไทยต้องมีการปรับเปลี่ยนในหลายด้าน อาทิ เปลี่ยนจาก Three-stage life ไปสู่ Multi-stage life การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต, การปรับหลักสูตรจากเดิมที่เป็น Supply-driven ไปสู่ Co-creation เป็นการออกแบบโมเดลการศึกษาร่วมกับเอกชนหรือภาคส่วนที่ต้องใช้บัณฑิต ตัวอย่างกรณีศึกษาโครงการ Hi-FI หรือ Higher Education for Industry Consortium เป็นโครงการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนกำลังคนในภาคอุตสาหกรรม ด้วยการนำนักศึกษาระดับปริญญาโท เข้าไปเรียนรู้การทำงานร่วมกับสถานประกอบการ เน้นให้เป็นการเรียนรู้แบบ Learning by doing ในการลงมือปฏิบัติ เพื่อให้สามารถผลิตบัณฑิตตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมได้จริง

อีกหนึ่งตัวอย่างคือโครงการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมด้วยการวิจัย และพัฒนาเชิงอุตสาหกรรม (Research Development and Industrialization Capability, RDI) แนวคิดสำคัญคือนำเอานักศึกษาปริญญาโท ในด้านวิศวกรรมเข้าไปทำงานในโรงงาน ไปช่วยกลุ่มธุรกิจ SMEs โดยให้มี senior manager ที่เคยทำงานในด้านการวิจัยและพัฒนาในภาคอุตสาหกรรมเข้าไปเป็นพี่เลี้ยง (mentor) และให้นักศึกษาได้ทำงานร่วมกับวิศวกรของโรงงาน ก็จะสามารถช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจให้อยู่ในระดับที่สูงขึ้นได้

ตัวอย่างกรณีศึกษาจากประเทศจีน มีแนวทางการจัดการศึกษาที่เรียกว่า “ปริญญาบราวนี่” ที่เป็นหนึ่งในโมเดลแก้จนให้คนจีน มีการออกแบบหลักสูตรที่ไม่ได้วัดระดับการศึกษาจากจำนวนปีที่เรียน แต่วัดจากผลผลิตหรือประสบการณ์ที่ได้จากการปฏิบัติจริง ทำให้นักศึกษาที่จบการศึกษาไปได้วุฒิการศึกษาและยังได้มีแนวทางการประกอบอาชีพได้ทันที

ในส่วนของมาตรการส่งเสริมของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (อว.) ได้ออกแบบการให้สิทธิประโยชน์ แรงจูงใจให้กับภาคเอกชน เช่น มาตรการ Thailand Plus Package เป็นมาตรการทางภาษีและการส่งเสริมการจ้างบุคลากรที่มีทักษะสูงและการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะสูง โดยผู้ประกอบการที่ส่งลูกจ้างเข้ารับการศึกษาหรือการฝึกอบรมในหลักสูตรที่ผ่านการรับรองจากกระทรวง อว. จะสามารถนำค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไปยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ถึง 250% นอกจากนี้ ยังมีกลไกสนับสนุนการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ หรือ Higher Education Sandbox เป็นการจัดทำหลักสูตรการศึกษาในรูปแบบใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องอิงจากมาตรฐานเดิม เพื่อทลายข้อจำกัดต่างๆ ที่เคยมี ถือเป็นการพลิกโฉมการผลิตกำลังคนของระบบอุดมศึกษาของประเทศ

ในช่วงท้ายของการเสวนา ดร. กิติพงค์ ยังได้ฝากถึงมหาวิทยาลัยให้ใช้โอกาสที่เปิดกว้างมากขึ้นในปัจจุบัน ในการทำงานร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในด้านต่างๆ ปรับเปลี่ยนแนวคิดของมหาวิทยาลัยในการนำทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ อีกทั้งมหาวิทยาลัยต้องมีการปรับบทบาทให้อยู่ในรูปแบบของพี่เลี้ยง ที่พร้อมให้คำปรึกษานักศึกษาได้ตลอดเวลา ที่สำคัญบทบาทที่โดดเด่นของบัณฑิตวิทยาลัย คือการบูรณาการการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยในส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง นำจุดแข็งในมหาวิทยาลัยมาปะติดปะต่อรวมกันเพื่อสร้างบัณฑิตในรูปแบบใหม่ให้เกิดขึ้นได้

เรื่องล่าสุด