กว่าจะฝ่าอุปสรรคต่างๆ จนเรียนจบมาได้นั้น
ต้องตั้งใจเรียนหลากวิชา อดหลับอดนอนทำโปรเจคมากมาย
เพื่อมีงานดีๆรองรับ ได้ทำงานในตำแหน่งหรือองค์กรในฝัน
แต่อาจจะไม่เป็นไปตามฝันของบัณฑิตจบใหม่บางคน บางสายอาชีพ ที่การหางานในยุคนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย บางคนจบปริญญาตรีมา แต่ต้องยอมทำงานที่ต่ำกว่าวุฒิการศึกษาที่จบมา เพราะตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 ทำให้เกิดผลกระทบหลายด้าน ทั้งด้านการใช้ชีวิต ด้านธุรกิจ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว รวมถึงการจ้างงานที่ส่งผลให้มีตำแหน่งงานลดลง หรือแรงงานมีทักษะที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการ
จากข้อมูลรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 4 ปี 2564 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ระบุว่ามีจำนวนผู้ว่างงานถึง 6.3 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.64% สำหรับผู้ว่างงานที่ไม่ใช่ First jobber มีจำนวน 3.8 แสนคน ซึ่งลดลง 21.7%
ขณะเดียวกัน ผู้ว่างงานที่เป็นแรงงานจบใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงานมีจำนวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่จบระดับอุดมศึกษา โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 49.3 จบการศึกษาในสาขาทางด้านธุรกิจและสังคมศาสตร์ ซึ่งเป็นการสะท้อนปัญหาตลาดแรงงาน ในด้านทักษะ ไม่สัมพันธ์กันกับตำแหน่งอาชีพที่มีอยู่ในปัจุบัน และสืบเนื่องไปยังตลาดแรงงานในอนาคต
อีกทั้งยังระบุว่าสถานการณ์ด้านแรงงานได้รับผลกระทบ COVID-19 ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2564 ส่งผลให้แรงงานทั่วไปถูกจ้างงานลดลง 0.6% แต่ในทางกลับกันแรงงานในภาคเกษตรกรรมกลับมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1.8% จากการที่ดูดซับแรงงานที่ได้รับผลกระทบ
สภาพัฒน์ ยังได้เสนอถึงประเด็นสำคัญที่ต้องส่งเสริม และสนับสนุนตลาดแรงงานในอนาคต นั่นก็คือการเน้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ กำหนดนโยบายที่เอื้อต่อการฟื้นตัว SMEs เพิ่มการสร้างอาชีพในชุมชนให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ มีมาตรการจูงใจให้สมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน เพื่อให้มีหลักประกันทางสุขภาพที่มั่นคง การปรับโครงสร้างอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้เหมาะสมกับค่าครองชีพ รวมถึงต้องมีมาตรการส่งเสริมให้มีทักษะให้สอดคล้องกับความต้องการในภาคธุรกิจ และท้องถิ่น เพื่อลดปัญหาแรงงานจบใหม่ที่ไม่มีงานทำ นอกจากนี้ยังยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ได้อีกด้วย
ภาวะเด็กจบใหม่หางานยาก และอาจเลือกงานทำได้น้อยลง ต้องเร่งแก้ไขตั้งแต่ต้นทางนั่นก็คือการผลิตกำลังคนให้ตรงกับความต้องการของตลาด ผ่านการจัดการศึกษาที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด สอดคล้องต่อสถานการณ์โลก และตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ
กระทรวง อว. สอวช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้ขับเคลื่อนนโยบาย กลไก และมาตรการด้านการอุดมศึกษาต่างๆ ที่จะเข้าไปช่วยหนุนเสริมในการพัฒนากำลังคนให้มีศักยภาพ ตอบโจทย์ตลาดแรงงานและความต้องการของประเทศ อาทิ ข้อเสนอแนวทางการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา หรือ Higher Education Sandbox การรับรองหลักสูตรฝึกอบรม และการรับรองการจ้างงานบุคลากรที่มีทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการสนับสนุนทางภาษีภายใต้โครงการ Thailand Plus Package ที่ส่งเสริมให้เกิดการยกระดับ และพัฒนาทักษะของบุคลากรผ่านรูปแบบการฝึกอบรมในหลักสูตรฝึกอบรมที่ผ่านการรับรองจากกระทรวง อว. รวมทั้งการส่งเสริมการให้เกิดการจ้างงานบุคลากรตำแหน่งงานทักษะสูง ซึ่งมาตรการทางภาษีที่สนับสนุนประกอบด้วยการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 250% สำหรับการส่งลูกจ้างเข้ารับการศึกษาหรือฝึกอบรม หรือการจัดฝึกอบรมให้แก่ลูกจ้างเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ ที่ผ่านการรับรองโดย อว. และการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 150% สำหรับการจ้างแรงงานลูกจ้างที่มีทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ ให้แก่ผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นต้น
รายละเอียดเพิ่มเติมการรับรองหลักสูตรฝึกอบรมและการรับรองการจ้างงานบุคลากรที่มีทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ ภายใต้โครงการ Thailand Plus Package : https://www.stemplus.or.th/home
แหล่งที่มา : สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์)