messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » ธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ โอกาสทางการศึกษา สำหรับทุกช่วงวัย

ธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ โอกาสทางการศึกษา สำหรับทุกช่วงวัย

วันที่เผยแพร่ 11 พฤษภาคม 2022 7772 Views

ธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ (National Credit Bank) โอกาสในการเข้าถึงการศึกษา เพื่อพัฒนาทักษะ และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ระบบธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ (National Credit Bank) คืออะไร?

คือการมีระบบทะเบียนสะสมหน่วยกิตและกลไกในการเทียบโอนความรู้หรือสมรรถนะที่ได้จากการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย และจากประสบการณ์บุคคล สำหรับเก็บสะสมไว้ในธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ ซึ่งเชื่อมโยงกับธนาคารหน่วยกิตของสถาบันอุดมศึกษา ผู้เรียนสามารถลงทะเบียนเรียนและสะสมหน่วยกิตได้ตลอดชีวิต โดยไม่มีเงื่อนไขของระยะเวลาในการสะสมและระยะเวลาในการศึกษา และสามารถเทียบโอนหน่วยกิตระหว่างสถาบันอุดมศึกษาได้

จะสามารถแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อย่างไร?

เป็นการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นในการกำหนดหลักสูตรให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของบุคคล ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ตามความสนใจ ศักยภาพ และความพร้อม เป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาให้กับคนทุกช่วงวัย โดยสามารถฝึกฝนสมรรถนะได้จากการทำงาน การฝึกอบรม ฝึกอาชีพ การสัมมนา และการประชุมเชิงปฏิบัติการ

ปัจจุบันมีการพัฒนาระบบธนาคารหน่วยกิตระดับอุดมศึกษาแบบไหนได้บ้าง?

ธนาคารหน่วยกิตมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง ได้มีการกำหนดนโยบายร่วมกันเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการพัฒนากำลังคนภาคอุตสาหกรรมในรูปแบบธนาคารหน่วยกิต ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ที่ได้มีการออกระเบียบเกี่ยวกับการเรียนการสอนในรูปแบบนี้ เพื่อส่งเสริมระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยมีการเทียบโอน 5 รูปแบบ ได้แก่

1. Credit from Standardize (CS)

คือ การเทียบโอนหน่วยกิตจากใบรับรองที่ได้จากการฝึกอบรม การเรียน และอื่น ๆ ที่องค์กรมาตรฐานวิชาชีพหรือวิชาการเป็นผู้มอบให้ โดยหลักสูตรหรือหน่วยงานนั้นเป็นที่ยอมรับ หรือได้รับการรับรอง หรือเป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการให้มาตรฐาน

2. Credit from Non-degree (CN)

คือ การเทียบโอนหน่วยกิตจากใบรับรองที่ได้จากการฝึกอบรม การเรียน และอื่น ๆ ที่ไม่มีการให้ปริญญา อาจมีใบรับรองก็ได้ แต่สถานศึกษา/ผู้รับผิดชอบหลักสูตรสามารถที่จะวัดองค์ความรู้ หรือสมรรถนะ หรือทดสอบใด ๆ เพื่อยืนยันว่า ผู้เรียนสามารถเทียบโอน Non-degree นั้นกับรายวิชาได้

3. Credit from Training (CT)

คือ การเทียบโอนหน่วยกิตจากใบรับรองที่ได้จากการฝึกอบรมหรือฝึกปฏิบัติ โดยผู้รับผิดชอบหลักสูตรสามารถที่จะวัดทดสอบใด ๆ เพื่อยืนยันองค์ความรู้ของผู้เรียนซึ่งอาจจะเทียบโอนได้บางส่วน

4. Credit from Port Folio (CP)

คือ การเทียบโอนหน่วยกิตจากประสบการณ์ ซึ่งหลักสูตรต้องสร้างเกณฑ์ประเมินเพื่อวัดสมรรถนะหรือแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาผลงานตาม Port Folio ว่าจะสามารถเทียบโอนกับรายวิชาได้อย่างไร

5. Credit from Examination (CE)

คือ การเทียบโอนหน่วยกิตจากการสอบ โดยหลักสูตรจะสร้างแบบทดสอบเพื่อวัดความรู้ หรือสมรรถนะ แล้วจึงพิจารณาเทียบโอนกับรายวิชา

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาระบบธนาคารหน่วยกิตระดับอุดมศึกษา โดยธนาคารหน่วยกิตเชื่อมโยงคุณวุฒิวิชาชีพและคุณวุฒิการศึกษา ซึ่งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา ได้มีความร่วมมือในการพัฒนาระบบธนาคารหน่วยกิตเพื่อเชื่อมโยงคุณวุฒิวิชาชีพและคุณวุฒิการศึกษา รวมถึงธนาคารหน่วยกิตโดยสมาชิกของที่ประชุมคณะผู้บริหารบัณฑิตศึกษามหาวิทยาลัยของรัฐและมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ซึ่งที่ประชุมคณะผู้บริหารบัณฑิตศึกษามหาวิทยาลัยของรัฐและมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ (ทคบร.) ได้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจการลงทะเบียนเรียนข้ามสถาบันระหว่างสถาบันสมาชิก โดยความเห็นชอบของอธิการบดี 25 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ระบบธนาคารหน่วยกิตที่มีในปัจจุบันและขยายผลไปสู่ระบบธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ จึงควรขยายขอบเขตการดำเนินงานให้ครอบคลุมหลากหลายสาขาอาชีพมากขึ้น รวมถึงเพิ่มกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพในการพัฒนาทักษะและการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยการประสานความร่วมมือกับสถานศึกษา ชุมชนท้องถิ่น สถาบันฝึกอบรม สถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐทั่วประเทศ

แหล่งที่มา : รายงานการศึกษาระบบอุดมศึกษาไทยในบริบทของประเทศพัฒนาแล้ว (ฉบับที่ 1: การผลิตและพัฒนากำลังคนตามความต้องการของประเทศ)

เรื่องล่าสุด