messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. ร่วมกับ SCG ระดมความเห็นจัดทำแผนที่นำทางนวัตกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ต่อเนื่องครั้งที่ 2 พร้อมหารือกลไกการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทยบรรลุเป้า Net Zero

สอวช. ร่วมกับ SCG ระดมความเห็นจัดทำแผนที่นำทางนวัตกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ต่อเนื่องครั้งที่ 2 พร้อมหารือกลไกการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทยบรรลุเป้า Net Zero

วันที่เผยแพร่ 30 มิถุนายน 2022 1083 Views

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ SCG จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “Innovation Roadmap for Industrial Decarbonization” ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของงาน ESG Symposium 2022: Achieving ESG and Growing Sustainability” เพื่อให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนที่นำทางนวัตกรรมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2565 ณ Hall 1 ชั้น 10 อาคารอเนกประสงค์ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ โดย ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. เป็นผู้กล่าวเปิดงาน

ดร. กิติพงค์ กล่าวว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ต่อเนื่องจากวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการรวบรวมเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมกันระดมความเห็น ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคอุตสาหกรรม โดยวัตถุประสงค์ในการจัดทำแผนที่นำทางจากการประชุมเชิงปฏิบัติการทั้งสองครั้ง ได้แก่ 1) หารือวิสัยทัศน์ร่วมในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม 2) จัดทำนโยบายและข้อริเริ่มเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม และ 3) สร้างกลไกการทำงานและสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และพันธมิตรในต่างประเทศ ในการพัฒนาและขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม

ในส่วนของ สอวช. เห็นถึงความสำคัญของการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี ค.ศ.2065 ตามนโยบายของรัฐบาล โดย สอวช. ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ประสานงานกลางด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย หรือ National Designated Entity (NDE) ที่เชื่อมโยงกับการประชุมกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ซึ่งกลไกของ UNFCCC ประกอบด้วยกลไกด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีและกลไกสนับสนุนด้านการเงิน

ดร. กิติพงค์ ยังได้กล่าวขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการประชุมในครั้งนี้ และคาดหวังว่านี่จะเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างเครือข่ายในการทำงานร่วมกันต่อไปในอนาคต รวมถึงการเปิดเวทีอภิปรายแลกเปลี่ยนข้อเสนอแนะร่วมกัน จะนำไปสู่ผลสำเร็จตามเป้าหมายที่วางเอาไว้

ผลจากการระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับกลไกในด้านต่างๆ ได้แก่ กลไกด้านความร่วมมือ (collaboration mechanisms) กลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology transfer mechanisms) และกลไกด้านการเงิน (Financial mechanisms) สรุปประเด็นสำคัญได้ดังต่อไปนี้

กลุ่ม Fuel Switching และ Electrification ให้ความเห็นว่า การทำงานร่วมกันต้องทำแบบ Lean และ Agile คือทำให้เคลื่อนไปได้ไวและทันต่อโลก ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีต้องมีวิธีคิดแบบสตาร์ทอัพหรือนักลงทุน นำไอเดียที่เคยมีอยู่แล้วไปต่อยอด โดยเฉพาะสิ่งที่มีศักยภาพในการนำไปประกอบธุรกิจและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ ส่วนด้านการเงินให้มองว่าเป็นการสร้างเศรษฐกิจ หรือสร้างมูลค่าทางธุรกิจ จากการการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Action) ซึ่งจะสร้างโอกาสในการระดมทุน (fund raising) ในอนาคตด้วย

กลุ่ม Hydrogen ให้ความเห็นว่า ในด้านความร่วมมือ ไฮโดรเจนเป็นหนึ่งในทางเลือกที่จะตอบโจทย์นวัตกรรมที่จะนำไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ ซึ่งความร่วมมือที่จะทำให้เกิดนวัตกรรมในด้านนี้ขึ้น  ต้องมีภาครัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยรัฐต้องผลักดันไฮโดรเจนไปสู่กฎหมายให้เกิดการนำไปใช้จริงได้ในรูปแบบของพลังงาน เพื่อส่งเสริมให้เอกชนเดินหน้าต่อไปได้ ในส่วนของเอกชนเอง ปัจจุบันมี Consortium ที่ชื่อว่า Hydrogen Thailand club อยู่แล้วที่ทำงานร่วมกับหลายหน่วยงาน สามารถเชื่อมโยงไปสู่การสร้างนวัตกรรมได้ ในด้านเทคโนโลยี มีแนวทางจากต่างประเทศที่ไทยได้รับการสนับสนุนอยู่แล้ว ส่วนด้านการเงิน ในไทยมีกองทุนในหลายรูปแบบ อาจต้องประเมินให้เหมาะสมกับการเข้าไปสนับสนุนในแต่ละโครงการที่มีขนาดต่างกัน

และในกลุ่ม Carbon Capture Utilization and Storage (CCUS) ให้ความเห็นว่า การทำความร่วมมือนั้นมีหลายมิติ ทั้งในส่วนของคนที่ต้องมีกลุ่มคนเข้ามาเจอกันและทำงานร่วมกัน และในส่วนของระบบ เช่น การจัดตั้ง Consortium ที่มีบางกลุ่มเกิดขึ้นมาแล้ว อย่าง CCUS Consortium ต้องหาเครือข่ายทำงานเชื่อมโยงกัน ทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี ประเทศอื่นเริ่มเดินหน้าไปก่อนแล้ว เพราะฉะนั้นของไทยจะต้องรู้ว่าประเทศไหนเก่งอะไร และต้องมีกลไกการรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ส่วนด้านการเงิน ต้องเชื่อมโยงระหว่างด้านการเงินและการถ่ายทอดเทคโนโลยี ให้เกิดการบูรณาการ และการเริ่มต้นนำร่องศึกษาเทคโนโลยีที่จะเข้ามาตอบโจทย์การปฏิบัติจริงได้

ติดตามข้อสรุปจากการระดมความเห็นจัดทำแผนที่นำทางนวัตกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ในงาน “ESG Symposium 2022: Achieving ESG and Growing Sustainability” วันที่ 19 กรกฎาคม 2565 เวลา 08:00-12:00 น. ลงทะเบียนร่วมงานได้เร็ว ๆ นี้ที่แฟนเพจ SCG

เรื่องล่าสุด