(22 กรกฎาคม 2565) ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) บรรยายพิเศษในหัวข้อ “นโยบายการส่งเสริมสถาบันอุดมศึกษาในการผลิตกำลังคนระดับสูง และงานวิจัยและนวัตกรรมผลกระทบสูง เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศในยุคแห่งการพลิกผัน” ในงานมหกรรมงานวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ประจำปี 2565 (CMU High Impact Research & Innovation Expo 2022) ณ หอประชุม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และการถ่ายทอดสดผ่านระบบออนไลน์
ดร. กิติพงค์ กล่าวว่า จากสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป และการเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัล ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออาชีพ การศึกษา และการจ้างงาน โดยมีการคาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ.2568 งาน 85 ล้านตำแหน่งจะถูกทดแทนด้วยเครื่องจักร แต่จะมีงานที่เกิดขึ้นใหม่ 97 ล้านตำแหน่ง ที่ต้องการกำลังคนและส่วนใหญ่จะเป็นงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ข้อมูล ระบบอัตโนมัติ และงานในด้านสะเต็ม (Science, Technology, Engineering and Mathematics: STEM) เช่น วิศวกรหุ่นยนต์, ไอโอที, ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูล ฯลฯ และด้านสังคม เช่น ผู้ให้คำปรึกษาด้านอาชีพ, ผู้สนับสนุนด้านสังคมและอารมณ์ เป็นต้น
นอกจากนี้ ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้อายุ จากข้อมูลพบว่า ปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตมากกว่าคนเกิดใหม่ ถึง 20,000 คน และมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ คนจะมีอายุยืนยาวขึ้น วิถีชีวิตก็จะเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่เรียนและทำงานจนเกษียณอายุ อาจต้องเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อตอบโจทย์การทำงานและชีวิตส่วนตัว ในทุกช่วงวัย หลักสูตรการศึกษาในอนาคต จึงควรมีทั้งแบบ degree และ non-degree เมื่อเรียนจบแล้ว ออกไปทำงาน และสามารถกลับมา reskill หรือ upskill แล้วไปเป็นผู้ประกอบการ หรือทำงานได้มากกว่า 1 อาชีพ
ดร. กิติพงค์ ยังได้เผยผลการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลของ สอวช. พบว่า ทักษะอาชีพในอนาคตที่ขาดแคลน และมีความต้องการสูงในภาคอุตสาหกรรม อาทิ Digital marketing, Aerospace engineer, Food stylist, Automation engineer, Robotics control engineer, Biologist ฯลฯ ดังนั้นระบบการศึกษาจึงต้องปรับตัวเพื่อตอบโจทย์ทักษะอาชีพที่เปลี่ยนไปด้วย การพัฒนาจะค่อย ๆ เปลี่ยนไปจากจากฝั่ง Supply side ไปสู่การร่วมออกแบบโมเดลการศึกษา พัฒนาคน ทั้งเชิงการทำงานและร่วมลงทุน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของภาคที่ต้องใช้บุคลากร
ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า ระบบการเงินของมหาวิทยาลัยในอนาคต จากที่เป็นการจัดสรรเงินอุดหนุนตามจำนวนเด็กในมหาวิทยาลัย จะเปลี่ยนไปสู่การดูผลลัพธ์ว่าในอนาคตมหาวิทยาลัยจะผลิตคนเพื่อตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจได้อย่างไร โดยมียกตัวอย่าง “ปริญญาบราวนี่” ซึ่งเป็นโมเดลแก้จนของประเทศจีน ด้วยการให้โอกาสทางการศึกษา ให้นักศึกษาได้เรียนเฉพาะวิชาที่สนใจและจำเป็นต่อการประกอบอาชีพในปัจจุบัน สามารถเรียนได้ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมีปัญญาประดิษฐ์เป็นตัวควบคุม และประเมินผล เป้าหมายคือต้องการเปลี่ยนคนที่ไม่ได้รับการศึกษาให้ได้รับวุฒิปริญญา ทำมาค้าขายได้ดีขึ้น พ้นจากความยากจนเร็วขึ้น โดยการสอนทักษะความรู้และการใช้เครื่องมือที่เกี่ยวข้อง โดยวัดผลลัพธ์ และให้วุฒิการศึกษาตามผลลัพธ์นั้น
นอกจากนี้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ สอวช. ยังได้ผลักดันให้เกิดแนวทางการจัดการศึกษาที่แตกต่างไปจากมาตรฐานการอุดมศึกษา หรือ Higher Education Sandbox เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของภาคผู้ใช้บุคลากร รวมถึงมีแนวทางการจัดทำหลักสูตรกลางที่สามารถเรียนที่มหาวิทยาลัยไหนก็ได้ มีโครงการผลิตเจ้าของธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่มีความรู้และทักษะตอบโจทย์ตรงตามความต้องการของภาคธุรกิจสมัยใหม่ โดยไม่จำเป็นต้องใช้อาจารย์ในมหาวิทยาลัยแต่ใช้สตาร์ทอัพตัวจริงมาสอน นอกจากนี้ ในด้านกำลังคน พบว่าบุคลากรด้านปัญญาประดิษฐ์ที่มีความต้องการ 34,000 คน แต่ผลิตได้เพียง 17,000 คนเท่านั้น การทำงานจึงต้องผนึกกำลังร่วมกันในหลายมหาวิทยาลัย เพื่อผลิตบุคลากรให้เพียงพอต่อความต้องการ
ทิศทางของประเทศไทยในอีก 5-6 ปี ข้างหน้า จะต้องให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 3 อย่างควบคู่กันคือ 1.เศรษฐกิจสร้างสรรค์ 2. เศรษฐกิจฐานราก และ 3.เศรษฐกิจนวัตกรรม เพื่อนำประเทศออกจากกับดักรายได้ปานกลางให้ได้ ซึ่งถ้าจะเพิ่มจีดีพีประเทศให้เร็วแบบก้าวกระโดด ต้องใช้การผลิตด้วยฐานนวัตกรรม อีกทั้งยังต้องคำถึงถึงการขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (GHG Net Zero) ที่จะเข้ามามีผลกับแนวทางการค้าและการลงทุน ส่วนทางด้านสังคม ต้องเข้าไปดูแลเศรษฐกิจฐานราก ให้ประชาชนพ้นจากความยากจนด้วยการขยับฐานะทางสังคม สร้างโอกาสและความสามารถในการสร้างรายได้เพื่อให้เกิดความยั่งยืน
ในส่วนของเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ประเทศไทยทำได้และมีจุดแข็งมากมาย ทั้งเรื่อง 5F ได้แก่ Food, Film, Fashion, Fighting, Festival ที่สามารถต่อยอดสร้างรายได้ได้อย่างมหาศาล โดยต้องใช้งานวิจัยเข้าไปสนับสนุนต้นทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ ส่วนเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม สอวช. ได้กำหนดเป้าหมายในการเพิ่มจำนวนธุรกิจฐานนวัตกรรมในการขับเคลื่อนประเทศที่มียอดขาย 1,000 ล้านบาท ให้เพิ่มขึ้นจำนวน 1,000 ราย
ทั้งนี้ ยังมีรูปแบบการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่กำลังมาแรง คือ Gig Economy ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างทันท่วงทีและตรงจุด โดยอาศัยดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาเชื่อมโยงให้งานในปัจจุบันปรับสู่แพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น แนวทางการพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจทางเลือกดังกล่าวคือ อำนวยความสะดวกให้ Gig Workers จากต่างประเทศเข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยมีสิทธิได้รับการส่งเสริมการลงทุน ได้รับสวัสดิการ และมีโอกาสสร้างมาตรฐานในอาชีพ