(27 กรกฎาคม 2565) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดรายการพูดคุยผ่านช่องทางออนไลน์ ในรายการ Future Talk by NXPO ครั้งที่ 12 ในประเด็น “ผ่าแนวคิดการขอตำแหน่งวิชาการ ด้วยผลงานนวัตกรรม ตอบโจทย์พัฒนาประเทศ” รวมถึงพูดคุยแนวทางการประเมินผลงานนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม โดยรายการในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร. สนอง เอกสิทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีบทบาทเป็นประธานอนุกรรมการ ตำแหน่งทางวิชาการด้านนวัตกรรมของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา และ น.สพ.ดร. กษิดิ์เดช ธีรนิตยาธาร Chief Innovation Officer and Co-Founder บริษัท กรีน อินโนเวทีฟ ไบโอเทคโนโลยี จำกัด มีบทบาทเป็นคณะที่ปรึกษา ของคณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิจัดทำหลักเกณฑ์การขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการด้วยผลงานด้านนวัตกรรม มาร่วมพูดคุย ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สอวช.
ดร. พูลศักดิ์ กล่าวถึงที่มาของแนวคิดการขอตำแหน่งทางวิชาการด้วยผลงานนวัตกรรมว่า เกิดจากที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนบุคลากรที่มีความสามารถให้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ระบบเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมด้วยการสร้างองค์ความรู้และการพัฒนานวัตกรรมสำหรับการขับเคลื่อนประเทศ จึงมีการจัดทำเกณฑ์การขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการด้วยผลงานนวัตกรรม เพื่อมุ่งเน้นการส่งเสริมบทบาทการทำงานและเส้นทางอาชีพของบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา ในการสร้างผลงานด้านนวัตกรรมทั้งด้านเทคโนโลยีและด้านสังคมที่สามารถสร้างผลกระทบได้ในวงกว้างทั้งในเชิงพาณิชย์หรือเชิงสาธารณะ รวมถึงเพื่อสนับสนุนการทำงานเชื่อมโยงระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและภาคส่วนอื่น ๆ อาทิ ภาคอุตสาหกรรม ชุมชนและสังคม เพื่อขยายการนำเอาผลงานวิจัยและนวัตกรรมรวมถึงองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ 4 ด้าน ประกอบด้วย การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและขจัดความยากจน, การสร้างขีดความสามารถการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการ, การพัฒนาสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ, และการพัฒนาการศึกษา สังคม สุขภาพและบริการภาครัฐ
ด้าน ดร. สนอง กล่าวว่า ประเทศไทยมีอาจารย์และนักวิจัยเก่งๆ มากมาย ที่มีผลงานทางวิชาการเป็นที่ยอมรับ และยังมีกลุ่มที่ทำวิจัยเพื่อตอบโจทย์ในเชิงพาณิชย์ แต่อาจไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องการตีพิมพ์ผลงาน จึงทำให้มีข้อติดขัดในการขอตำแหน่งทางวิชาการรูปแบบเดิมที่ใช้ผลงานวิชาการเป็นหลัก นโยบายการใช้ผลงานทางนวัตกรรมเพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการ จึงเป็นอีกหนี่งช่องทางในการเติบโตทางด้านการทำงาน ให้ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติในงานที่ทำ ที่สามารถตอบโจทย์ประเทศได้ ทั้งในเชิงพื้นที่หรือเชิงการสร้างรายได้ นอกเหนือจากการสร้างองค์ความรู้ใหม่ โดยทำให้เป็นที่ประจักษ์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับกลุ่มอาจารย์ และช่วยสร้างแรงกระตุ้นให้ทุ่มเทในการทำนวัตกรรมมากขึ้น
ดร. สนอง กล่าวอีกว่า การผลักดันงานด้านนวัตกรรม เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เกิดการทำงานแบบสหวิชาชีพ (Multidisciplinary) จากเดิมที่เคยทำงานแบบต่างคนต่างทำ เพื่อตีพิมพ์เป็นองค์ความรู้ใหม่ในสถานศึกษาของตัวเอง แต่ด้วยการพัฒนาในโลกยุคใหม่ ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนไปทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่น และต้องมีนวัตกรรมที่เข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาในองค์รวมได้ รวมถึงมีตัวชี้วัดว่าเมื่อทำงานวิจัยออกมาแล้ว จะมีคนนำผลงานนั้นไปใช้จริงหรือสามารถลดต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมได้มากน้อยเพียงใด โดยในปัจจุบัน การสร้างรายได้จากผลงานวิจัยที่มีการนำไปใช้จริง หรือมีการขอใบอนุญาตในการนำไปใช้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสถาบันการศึกษา เพราะถือว่าเป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่งในการวัดความมีชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย ที่ต้องมองถึงแนวทางการผลิตผลงานวิจัยที่ออกไปใช้ได้จริง โดยมีการทำงานร่วมกับภาคเอกชนและมีการลงทุนร่วมกันมากขึ้น ทำให้อาจารย์และผู้เชี่ยวชาญเริ่มให้ความสำคัญกับการผลิตผลงานวิจัยเพื่อตอบโจทย์สังคม มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน สามารถขยายผลไปในเชิงพาณิชย์ เพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาประเทศ และเพิ่มจีดีพีของประเทศให้สูงขึ้นได้
ด้าน ดร. กษิดิ์เดช ในมุมของภาคเอกชนกล่าวว่า ที่ผ่านมาภาคเอกชนเหมือนอยู่คนละมุมกับฝ่ายวิชาการและภาคมหาวิทยาลัย แต่ขณะนี้ต้องจับมือกันและเติบโตไปด้วยกัน การจะทำงานวิจัยหรือการขับเคลื่อนบริษัทในทุกวันนี้ จึงถูกขับเคลื่อนในรูปแบบความร่วมมือสามประสาน (Triple Helix) คือมีหน่วยงานภาครัฐ ที่มีส่วนขับเคลื่อนงานวิจัย เข้ามาทำงานร่วมกับภาควิชาการ และภาคเอกชน ทำให้เกิดงานวิจัยต่าง ๆ ขึ้น เมื่อภาคเอกชนมีโจทย์ ภาควิชาการมีแนวทางแก้ปัญหา เกิดการทำงานร่วมกันก็จะทำให้มีผลงานวิจัย เกิดเป็นสิทธิบัตรออกมา ซึ่งการขอตำแหน่งทางวิชาการเป็นอีกโอกาสที่จะทำให้คนที่อยู่ในมุมวิจัยที่เป็นภาคเอกชน หรือคนที่เคยเป็นอาจารย์และออกมาทำงานในภาคเอกชน ได้มีโอกาสในการขอตำแหน่งวิชาการได้ และยังสามารถพัฒนาสินค้านวัตกรรมไปจำหน่ายได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ดร. สนอง กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในฐานะที่เป็นคณะอนุกรรมการที่ดูแลเรื่องนี้ มีข้อแนะนำสำหรับอาจารย์ที่จะเข้าสู่การขอตำแหน่งทางวิชาการด้านนวัตกรรม ให้สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ในประกาศราชกิจจานุเบกษาของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ. 2564 ที่ประกาศเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2565 ซึ่งในฝั่งของอาจารย์ ต้องเตรียมความพร้อมของเอกสาร เพื่อให้สอดรับกับหลักเกณฑ์ข้อกำหนดดังกล่าว
“อาจารย์ที่เป็นนวัตกร นอกจากทำงานวิจัยของตัวเองและสอนนักศึกษาแล้ว ยังสามารถฝึกลูกศิษย์ให้เป็นนวัตกร เป็นสตาร์ทอัพ และเป็นผู้ช่วยให้การทำงานเป็นไปได้เร็วขึ้น เมื่อเกิดความสำเร็จในห้องปฏิบัติการ ขั้นต่อไปก็คือการยกระดับ ในการผลักดันงานให้มีระดับความพร้อมทางเทคโนโลยี (Technology readiness level: TRL) เกิน TRL 3 ไปสู่ TRL 4-5 ให้ได้ เพื่อให้สามารถต่อยอดงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ได้ อาจารย์ที่จะขอตำแหน่งวิชาการไม่ต้องกลัวกับวิธีการใหม่ เพียงแค่ทำความเข้าใจกับหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนและขอให้เชื่อมั่นในผลงานของตัวเอง” ดร.สนอง กล่าว
นอกจากนี้ ดร. พูลศักดิ์ ยังได้กล่าวเสริมถึงความสำคัญของการพัฒนางานด้านนวัตกรรม ที่เป็นงานยากต้องอาศัยการวิเคราะห์ ประเมินผล นำไปสู่การสร้างผลกระทบในวงกว้าง ซึ่งแนวทางการสนับสนุนให้เกิดการสร้างนวัตกรรมที่กระทรวง อว. และ สอวช. ได้ผลักดันนั้นมีหลายแนวทาง เช่น การผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม มีแนวทางในการจัดตั้ง University Holding Company จากมหาวิทยาลัยร่วมกับบริษัทเอกชนหรือสตาร์ทอัพ หรือแนวทางเชื่อมโยงการเรียนการสอน การวิจัยและการทำงานร่วมกับสถานประกอบการ ที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญและเป็นความหวังในการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมในประเทศต่อไป