messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » อว. ชี้สถานการณ์โลกกระทบการอุดมศึกษาไทย ต้องพร้อมปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ หนุนพัฒนาการผลิตกำลังคนร่วมกับภาคเอกชน

อว. ชี้สถานการณ์โลกกระทบการอุดมศึกษาไทย ต้องพร้อมปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ หนุนพัฒนาการผลิตกำลังคนร่วมกับภาคเอกชน

วันที่เผยแพร่ 3 สิงหาคม 2022 1068 Views

สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ร่วมกับ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และ บริษัท เมอร์เซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดงานแถลงข่าว “Lift Skill Thai Labor Force การยกระดับทักษะแรงงานไทย เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต” และได้มีการจัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “แนวทางการขับเคลื่อนและขยายผลการยกระดับทักษะแรงงานไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม” โดยมี ผศ.ดร. พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สอวช. เป็นผู้เสวนา ร่วมกับ นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาทรัพยากรบุคคล สป.อว. และนายจักรชัย บุญยะวัตร CEO บริษัท เมอร์เซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดขึ้น ณ โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส และการถ่ายทอดสดผ่านระบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2565

ดร. พูลศักดิ์ กล่าวถึงสถานการณ์สำคัญของโลกที่ส่งผลต่อการอุดมศึกษาในช่วงที่ผ่านมา ทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กระทบต่อการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะด้านธุรกิจต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งสถานการณ์ของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่กระทบในเรื่องสงครามการค้า ทำให้เกิดการแบ่งขั้ว และส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานสำคัญในภาคธุรกิจไทยที่ต้องขยับขยายและปรับเปลี่ยน ความรู้ในด้านดิจิทัลเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เนื่องจากภาคธุรกิจต้องพัฒนาองค์กรให้สามารถใช้เครื่องมือใหม่ วิธีคิดใหม่ ที่ช่วยให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจในโลกแบบใหม่ที่มีความเชื่อมโยงและมีความซับซ้อนในการดำเนินการได้

ผลกระทบในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของอาชีพและห่วงโซ่อุปทาน นอกจากกระทบต่อภาคธุรกิจในไทยแล้ว ยังส่งผลมาถึงด้านอุดมศึกษา ที่ต้องปรับรูปแบบให้ตอบรับกับโลกที่เปลี่ยนไป การแพร่ระบาดของโควิดเป็นตัวกระตุ้น เร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นในวงการอุดมศึกษามาก่อน ทั้งนิสิต นักศึกษา อาจารย์ ต้องมีการปรับตัวอย่างมาก วิกฤตที่เกิดขึ้นทำให้เห็นแสงสว่างในอนาคตว่าการอุดมศึกษาไทยสามารถปรับเปลี่ยนอะไรได้อีกมาก และเห็นโอกาสที่จะปรับตัวตอบสนองกับความต้องการของภาคเอกชน ซึ่งมีความยากลำบากในการหาคน ที่ต้องคำนึงทั้งเรื่องแนวคิด (Mindset) และทักษะทางสังคม (Soft skills) รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพของทักษะที่มีอยู่เดิม แต่ไม่ตรงกับความต้องการใหม่ จึงต้องเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนหรือภาคธุรกิจเข้ามาในระบบการผลิตกำลังคน

นอกจากนี้ ปัจจัยภายในประเทศที่กระทบกับคนไทยและการอุดมศึกษาไทยคือเรื่องของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร การเปลี่ยนแปลงอาชีพ ทำให้คนต้องย้ายอาชีพจากอุตสาหกรรมหนึ่งไปอีกอุตสาหกรรมหนึ่ง ดังนั้น ผู้ที่ต้องการการเสริมทักษะหรือองค์ความรู้ใหม่ ๆ จึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในกลุ่มนักเรียน นักศึกษาอีกต่อไป แต่ยังมีกลุ่มคนที่อยู่ในอาชีพที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนทักษะ (Reskill) เพิ่มทักษะ (Upskill) เพื่อนำไปใช้ในภาคธุรกิจ เกิดการปรับเข้าสู่รูปแบบความหลากหลายของขั้นชีวิต (Multi-stage life) เมื่อเรียนจบแล้วออกไปทำงานแล้วสามารถกลับมาเรียนใหม่ เพิ่มเติมทักษะใหม่ ระบบการศึกษาไทยจึงต้องปรับให้มีความยืดหยุ่น เพื่อเตรียมพร้อมรองรับและเปิดโอกาสให้คนทุกช่วงวัยเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ งานในครั้งนี้จึงถือเป็นการพูดคุยเพื่อนำไปสู่แนวทางความร่วมมือระหว่างภาครัฐ สถาบันอุดมศึกษา และภาคเอกชน ให้เกิดการเชื่อมโยงการพัฒนาระบบและองค์ความรู้ด้านการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ด้านนโยบายหรือแนวทางการรับมือ ทั้งในส่วนของกระทรวง อว. และหน่วยงานภาคเอกชนนั้นมีอยู่หลายแนวทาง แต่สิ่งที่คาดหวังจากการร่วมเสวนาในครั้งนี้มีอยู่ 2 ประเด็นสำคัญ เรื่องแรกคือการที่ กระทรวง อว. จะต้องประกาศให้สาธารณชน โดยเฉพาะสถาบันอุดมศึกษาทราบว่า ความต้องการกำลังคน และการพัฒนาทักษะต่าง ๆ ของประเทศมีอะไรบ้าง ซึ่งข้อมูลหรือดัชนีต่าง ๆ น่าจะเป็นประโยชน์ต่อภาคการศึกษากับสถาบันการศึกษา ในการวางแผนการผลิตกำลังคนหรือสร้างความร่วมมือในการผลิตกำลังคนในอนาคต ส่วนที่สองคือ กระทรวงฯ มีเครื่องมือ กลไกมากมายที่สนับสนุนการผลิตกำลังคนตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากการผลิตกำลังคนบางส่วนยังข้อติดข้อจำกัด หลังการปฏิรูปกระทรวงฯ จึงมีแนวทางเข้ามาสนับสนุนได้ตรงจุดมากขึ้น ทั้งการตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา การผลักดันการจัดการศึกษาที่แตกต่างไปจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher education sandbox) ที่เป็นโอกาสดีในการสร้างกลไกใหม่สำหรับส่งเสริมสถาบันอุดมศึกษาที่จะทำความร่วมมือพัฒนากำลังคน รวมพลังกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน

“กระทรวง อว. ต้องปรับบทบาทให้เป็นเสมือนประตูในการเจรจา การทำงานกับภาคธุรกิจ ขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องมือในการดึงดูดการลงทุนใหม่ โดยต้องทำงานกับสถาบันอุดมอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะส่งผลให้บัณฑิตจากสถาบันอุดมศึกษาได้รับประโยชน์ ทั้งได้อาชีพ ได้งานตรงตามแนวทางที่ประเทศอยากส่งเสริม มีอาชีพที่มีรายได้สูง อีกทั้งยังเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยที่จะทำให้กลไกการทำงานของกระทรวงฯ รวมถึงกลไกการพัฒนากำลังคนร่วมกับสถานประกอบการ และสถาบันอุดมศึกษาเข้มแข็งขึ้นได้ต่อไป” ดร.พูลศักดิ์ กล่าว

ตัวอย่างแนวทางและโครงการที่สถาบันอุดมศึกษามีบทบาทในการพัฒนาประเทศ เช่น โมเดลการร่วมพัฒนากำลังคนด้านอาชีวะในอุตสาหกรรมโดยมีมหาวิทยาลัยเป็นพี่เลี้ยง Premium Course โดยกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (RMUT) การพัฒนาระบบธนาคารหน่วยกิตดิจิทัล (Digital Credit Bank System) เพื่อรองรับการเชื่อมโยงคุณวุฒิวิชาชีพสู่คุณวุฒิการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ของกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล  ขอนแก่นโมเดล (The Khon Kaen Model) การพัฒนาเมืองโดยการประสานความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ เป็นต้น

ในส่วนการพัฒนาโครงการ “การยกระดับทักษะแรงงานไทย เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต (Lift Skill Thai Labor Force Project)”ใช้เวลาในการดำเนินงานประมาณ 2 ปี แบ่งการดำเนินการออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การวิเคราะห์ความต้องการความสามารถของแรงงานในอนาคต (Demand Amalysis) ระยะที่ 2 แผนงานการพัฒนาความสามารถหรือการพัฒนาหลักสูตร (Capability Development Program/Curriculum และระยะที่ 3 การดำเนินการและการถอดบทเรียน (Execution and Lesson Learn) โดยมีการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเชิงลึกที่ได้จากบริษัท เมอร์เซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และความเชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษาเพื่อพัฒนาแผนงานให้กับกระทรวง อว. ในการส่งเสริมระบบการศึกษาขั้นสูงและการพัฒนาศักยภาพของแรงงานไทยในอนาคต

เรื่องล่าสุด