(3 สิงหาคม 2565) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)
จัดประชุมคณะกรรมการอํานวยการ สอวช. ครั้งที่ 4/2565 ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และผ่านระบบออนไลน์ โดยมี ศาสตราจารยพิเศษ ดร. เอนก
เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการประชุม
สอวช. ได้นำเสนอ 2 แนวทางสำคัญในมิติเรื่องการขับเคลื่อนการพัฒนาด้านกำลังคน ส่วนแรกคือ ข้อเสนอการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางด้านศิลปะ สุนทรียะ อารยะ เพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่จะนำร่องการจัดตั้งสถาบันศิลปะโรงเรียนเพาะช่าง เพื่อเป็นตัวอย่างการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางด้านทัศนศิลป์ งานฝีมือและหัตถกรรม ในกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา เพื่อผลิตและพัฒนาบุคลากรวิชาชีพและสาขาจำเพาะ และส่วนที่สองคือการพัฒนากำลังคนและงานวิจัยเพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในการขับเคลื่อน Thailand Soft Power “Reinventing the Media Industry” โดยในประเด็นแรก ดร. เอนก ให้ความเห็นว่า การจะจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาในรูปแบบใหม่ที่เป็นสถาบันเพื่อความสร้างสรรค์ จะต้องไม่ให้มีระบบหรือระเบียบที่ไม่สร้างสรรค์ เข้ามาเป็นข้อติดขัด ซึ่งกระทรวง อว. เอง ไม่ได้ให้ความสำคัญแค่การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังมองถึงการพัฒนาศิลปะ อารยะ สุนทรียะด้วย
“ในยุคที่เราจะทำเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คิดว่ายุทธศาสตร์สำคัญของเราคือ Rebirth of Thai arts and culture ทำให้เกิดเป็นยุคเรอเนซองซ์ของศิลปะ สุนทรียะ และอารยะแบบไทย รื้อฟื้นสิ่งเดิม ของเดิมที่ทำกันอยู่แล้ว เสริมให้มีเอกลักษณ์มากยิ่งขึ้น โลกทุกวันนี้ต้องการสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ใหม่ ที่ไม่ได้มีแค่ในฝั่งตะวันตก ในฝั่งเอเชียก็มีส่วนกำหนดภาพเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของโลกด้วย อย่างมวยไทยที่กลายไปเป็นมวยโลก นวดไทยกลายเป็นนวดโลก รวมถึงสปาไทย อาหารไทย เสื้อผ้าไทย ที่ยังสามารถส่งเสริมและพัฒนาไปสู่ระดับโลก กลายเป็นแฟชั่นของโลกได้ และช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยให้มีแนวทางไปสู่อนาคต” ดร. เอนก กล่าว
ดร. เอนก ยังได้กล่าวถึง สิ่งที่กระทรวง อว. ได้ช่วยปลดล็อกอุปสรรคต่างๆ ในการพัฒนาด้านการอุดมศึกษา เพื่อไม่ให้ติดกับดักในรูปแบบเดิม ทั้งการผลักดันในเรื่อง Sandbox เกิดเป็น Higher Education Sandbox หรือการจัดการศึกษาที่แตกต่างไปจากมาตรฐานการอุดมศึกษา เพื่อเปิดโอกาสให้สถาบันอุดมศึกษาได้ออกแบบหลักสูตรที่ตอบโจทย์กับภาคเอกชนหรือภาคที่ใช้งานกำลังคนได้อย่างตรงจุด รวมถึงแนวทางการจัดทำธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ (National Credit Bank) เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนในสิ่งที่สนใจโดยไม่ติดข้อจำกัดเรื่องสถาบันการศึกษา นอกจากนี้ ดร. เอนก ยังได้ให้ความเห็นว่า อีกส่วนที่สำคัญคือการทำให้คนไทยมองเห็นว่าศิลปะกับวิทยาศาสตร์มีความเชื่อมโยงกัน และต้องเรียนรู้ควบคู่กันไป แสดงให้เห็นว่าศิลปะในรูปแบบใหม่มีการพัฒนาไปได้ด้วยความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ ในขณะเดียวกันงานด้านวิทยาศาสตร์หากนำด้านศิลปะมาผสมผสานก็จะทำให้เกิดผลงานที่สวยงามมากยิ่งขึ้น
ด้าน ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. เปิดเผยถึงหลักคิดของการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่จะจัดตั้งเป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ มุ่งเน้นการอนุรักษ์ รวบรวม สืบสาน และเผยแพร่งานด้านทัศนศิลป์ งานฝีมือและหัตถกรรมของไทยในวงกว้าง เป็นแหล่งผลิตทรัพยากรบุคคลด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดช่วงวัย บ่มเพาะผู้มีความสามารถเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษา เป็นหน่วยงานที่มีนวัตกรรมการศึกษาที่เอื้อต่อการสร้างให้เกิดการบูรณาการศาสตร์กับการฝึกประสบการณ์ร่วมกับภาคเอกชน ชุมชน และสังคม เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่มีภารกิจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ เป็นพื้นที่เปิดให้เกิดการทำงานในด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อีกทั้ง สามารถนำบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถทางด้านสร้างสรรค์เข้ามาทำงานในสถาบันทั้งในรูปแบบของการเป็นอาจารย์ผู้สอน หรือเป็นบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางตามภารกิจของสถาบัน
สำหรับกลุ่มเป้าหมายของสถาบัน จะเป็นกลุ่มนักศึกษา กลุ่มศิลปินและแรงงานทักษะมืออาชีพ ผู้ประกอบการสร้างสรรค์อิสระรวมถึงผู้ประกอบการที่สถาบันสนับสนุน (Entrepreneur) ส่วนผลผลิตของสถาบัน คือการสร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพและความสามารถด้านศิลปะและการออกแบบ สร้างผลงานที่คุณค่าและมีมูลค่า
ต่อเศรษฐกิจและสังคม สร้างนวัตกรรมการศึกษาและพัฒนานวัตกรรมให้เกิดย่านวัฒนธรรมสร้างสรรค์ และพัฒนางานวิจัยให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ให้ความเห็นในภาพรวมว่า ระบบการบริหารจัดการของสถาบันที่จะจัดตั้งขึ้นต้องทำให้มีความคล่องตัว ทันสมัย ไม่ยึดติดกับระบบราชการรูปแบบเดิม โดยอาจศึกษาต้นแบบสถาบันด้านศิลปะในต่างประเทศเป็นแนวทาง และยังได้ให้ข้อเสนอแนะให้มองถึงความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาที่มีอยู่แล้ว โดยมองเป็นภาพใหญ่ในระดับประเทศให้มีการทำงานร่วมกัน แก้ไขช่องว่างที่พบในสถาบันอุดมศึกษาแบบเดิม แต่ขณะเดียวกันก็ให้สามารถดึงบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในสถาบันอุดมศึกษาเดิมเข้ามาร่วมพัฒนาการเรียนการสอน หรือการทำให้เกิดสถาบันที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการบริหารจัดการในมหาวิทยาลัยและคณะที่มีการเรียนในสาขาที่เหมือนกันด้วย
ส่วนประเด็นการพัฒนากำลังคนและงานวิจัยเพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในการขับเคลื่อน Thailand Soft Power “Reinventing the Media Industry” โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) เห็นแนวทางที่จะช่วยขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในมุมของการพัฒนาอุตสาหกรรมสื่อ มีการทำงานร่วมกับสมาคมด้านสื่อหลายสมาคม โดยเห็นว่าสิ่งสำคัญที่ต้องเติมเต็มในอุตสาหกรรมสื่อ คือการเสริมทักษะใหม่ๆ ให้กับบุคลากร เช่น ทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การผลิตเนื้อหาอย่างสร้างสรรค์ รวมถึงการผลิตเนื้อหาสื่อไทยให้ไปสู่ระดับโลก ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อภาคเศรษฐกิจ และต้องทำงานร่วมกับฝั่งอุปสงค์ (demand) เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของภาคที่ใช้งานกำลังคนด้วย
สำหรับเป้าหมายที่ชัดเจนในการพัฒนากำลังคนด้านสื่อของ บพค. คือพัฒนาให้เกิดคนเก่ง คนดี มีความสามารถ สร้างกลุ่มคนที่เป็นมันสมอง สร้างความรู้และปัญญาที่นำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ มีแนวคิดการทำสื่อที่อาศัยทั้งจิตวิญญาณ ความเป็นไทย ความเป็นผู้นำ การทำงานเป็นทีม มีวิธีการเรียนรู้ใหม่ๆ และเรียนรู้อย่างมุ่งเป้า โดยรูปแบบการทำงานของ บพค. มีเป้าหมายการขับเคลื่อน Soft Power ด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ส่งเสริมความเป็นไทยสู่สากล ด้วยการสร้าง Brainpower แบบ co-creation สร้าง Highly skilled content creator และการทำให้สื่อสร้างสรรค์เป็นสะพานเชื่อมความเป็นไทยไปสู่สากล