messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. ชี้โมเดลเศรษฐกิจบีซีจีช่วยแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ มุ่งผลักดันการขับเคลื่อนในทุกภาคส่วน เพื่อตอบเป้าหมาย GHG Net Zero ในปี 2065

สอวช. ชี้โมเดลเศรษฐกิจบีซีจีช่วยแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ มุ่งผลักดันการขับเคลื่อนในทุกภาคส่วน เพื่อตอบเป้าหมาย GHG Net Zero ในปี 2065

วันที่เผยแพร่ 6 สิงหาคม 2022 1116 Views

(5 สิงหาคม 2565) ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เข้าร่วมการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย (Thailand Climate Action Conference: TCAC) “อนาคตไทย อนาคตโลก: โอกาสและความรับผิดชอบ (Our Future: Our Responsibility, Our Opportunity)” ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดย ดร. กิติพงค์ ได้เข้าร่วมเวทีเสวนา “เสริมพลังไทยสู่ความยั่งยืนด้านสภาพภูมิอากาศ (Powering Thailand for Climate Resilience and Sustainability) ในประเด็น “Climate Change Pathway on Bio-Circular-Green (BCG) Economy: สภาพภูมิอากาศไทยกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG”

ดร. กิติพงค์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สอวช. ในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ทำงานร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาเป็นระยะเวลาหลายปี โดยส่วนของ สอวช. จะมองในมุมการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมเข้ามาช่วย รวมถึงการพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับและตอบโจทย์เป้าหมายของประเทศตามที่รัฐบาลตั้งไว้ ที่จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (GHG Net Zero) ให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2065

สำหรับโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี แบ่งออกเป็น Bio Economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ คือการสร้างมูลค่าเพิ่มในภาคการผลิตและบริการบนจากความได้เปรียบทางทรัพยากรชีวภาพ Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน คือการยืดระยะเวลาในวงจรการใช้ทรัพยากรให้ได้ยาวนานมากขึ้น และ Green Economy หรือเศรษฐกิจสีเขียว คือการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือการทำให้เกิดความยั่งยืน โดยเมื่อทำเรื่องบีซีจี ในปัจจุบันจะให้ความสำคัญกับ 4 สาขาที่สำคัญ ได้แก่ สาขาเกษตรและอาหาร สาขาพลังงานและวัสดุ สาขาสุขภาพและการแพทย์ สาขาการท่องเที่ยวและบริการ ที่เมื่อรวมทุกสาขาจะคิดเป็นสัดส่วนกว่า 21% ของจีดีพี แต่ขณะเดียวกันในหลายสาขายังมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมาก การส่งเสริมการทำนวัตกรรม จึงทำเพื่อช่วยแก้ปัญหาได้ใน 2 ส่วนคือการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ภาคอุตสาหกรรมต้องมีการปรับตัว และอีกส่วนหนึ่งคือจะช่วยลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นกับทุกคนด้วย

ตัวอย่างแนวทางการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแต่ละสาขา เช่น ในสาขาเกษตรและอาหาร เรื่องการปลูกพืชหรือปศุสัตว์ มีแนวทางการทำสูตรอาหารที่เหมาะสมกับสัตว์ เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ มีแนวความคิดเรื่องธุรกิจไมซ์ (Meetings, Incentive Travel, Conventions, Exhibitions: MICE) ที่การจัดการประชุมหรือสัมมนาแต่ละครั้ง จะมองถึงภาคท่องเที่ยวและบริการตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การเดินทางมาถึงสถานที่จัดงาน ที่พัก สถานที่ท่องเที่ยว ไปจนถึงการเดินทางกลับ ซึ่งหากทำได้ทุกภาคส่วนจะช่วยสร้างรายได้ให้กับภาคบริการและช่วยเป็นหนทางไปสู่เป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้

ด้านการเชื่อมโยงโมเดลเศรษฐกิจบีซีจีกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีเป้าหมายและตัวชี้วัดที่สำคัญที่ตั้งเป้าให้สำเร็จภายในปี 2570 คือการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติลง 1 ใน 4 จากปัจจุบัน และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20-25% นับตั้งแต่ปี 2548 ในส่วนของ สอวช. มีการดำเนินการที่สำคัญ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ได้ตั้งกรอบการพัฒนายุทธศาสตร์เศรษฐกิจหมุนเวียนในปี ค.ศ. 2030 ได้แก่ 1) การลดการใช้ทรัพยากรลง 1 ใน 4 ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างน้อย 30 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ และการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากเศรษฐกิจหมุนเวียนให้ได้ 3% ของจีดีพี มีตัวอย่างการดำเนินการสำคัญที่ สอวช. ขับเคลื่อนคือ การจัดทำหลักสูตร CIRCO (Creating Business Through Circular Design) ร่วมกับสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย นำหลักสูตรจากประเทศเนเธอร์แลนด์มาช่วยให้สร้างความสามารถให้ผู้ประกอบการสามารถเริ่มต้นเส้นทางสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งในประเทศไทยมีผู้ประกอบการจากหลายกลุ่มธุรกิจเข้าร่วมการอบรมรวมกว่า 100 บริษัท และในอนาคตมีแนวทางที่จะสนับสนุนการฝึกอบรมให้กับผู้ประกอบการเพิ่มเติม นอกจากนี้ ในด้านเกษตร ยังมีการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านเทคโนโลยี (TAP: Technology Adaptation Plan) เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยด้วย

ดร. กิติพงค์ ยังได้กล่าวถึงกลไกและความท้าทายของโมเดลบีซีจีในการมุ่งสู่เป้าหมายของประเทศ โดยเน้นย้ำว่า บีซีจี เป็นโอกาสที่จะช่วยประเทศไทยได้ แต่ต้องอาศัยการรวมพลังของทุกภาคส่วน ซึ่งในมุมเทคโนโลยี นวัตกรรม มีเครือข่ายการทำงานทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา มีการจัดตั้ง Net Zero Emissions Policy Forum และได้ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมในการจัดทำ Consortium ในเรื่อง Decarbonization พูดคุยกันในประเด็นสำคัญเกี่ยวกับเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะเป็นโอกาสของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น Fuel Switching, Electrification,  Carbon Capture Utilization and Storage (CCUS) และพลังงานทางเลือกไฮโดรเจน ขณะเดียวกัน การสร้างระบบนิเวศในการทำงานก็เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ ต้องมีระบบนิเวศรองรับ และเชื่อมโยงการดำเนินการไปยังปลายทางคือฝั่งอุตสาหกรรม ซึ่งล่าสุด สภาอุตสากรรมแห่งประเทศไทยก็ได้มีการพัฒนาจัดทำแพลตฟอร์มหลักในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตของประเทศขึ้นแล้ว ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทยเอง ยังต้องคำนึงถึงการเชื่อมโยงเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Transfer) กับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยทำงานเป็นส่วนหนึ่งในกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) และขับเคลื่อนในเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยมุ่งหวังจะผลักดันให้เกิดการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาและสร้างโอกาสให้กับประเทศได้

เรื่องล่าสุด