
(10 สิงหาคม 2565) ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สอวช.) ได้รับเชิญเป็นหนึ่งในผู้กล่าวเปิดงาน Launch of the Co-Creation Process จัดโดย คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมของเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific: ESCAP) นับเป็นกิจกรรมแรกภายใต้โครงการ “South-South and Triangular Collaboration Programme on Science, Technology and Innovation among Cambodia, Lao PDR, Thailand and Viet Nam” โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนจากทั้ง 4 ประเทศ

ในมุมของประเทศไทย ดร. กิติพงค์ กล่าวว่า ปัจจุบันเรากำลังเผชิญกับความท้าทายมากมายที่เกิดขึ้นบนโลก ทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ปัญหาสังคม ความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เป็นกลไกในการขับเคลื่อนที่สำคัญ ที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs) และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน ประเทศไทยได้นำเอานโยบายด้าน วทน. เข้ามาเพื่อสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถภายในประเทศ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังต้องการความรู้ด้านนวัตกรรมและโมเดลการพัฒนาใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุนเพิ่มเติมด้วย โดย สอวช. มีบทบาทในการกำหนดและสนับสนุนการพัฒนาด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ วทน. เพื่อบรรลุเป้าหมายของประเทศ รวมทั้งมีบทบาทสำคัญในการประสานงาน ทำงานร่วมกับหน่วยงานด้าน วทน. ทั้งของไทยและระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ดร. กิติพงค์ ยังได้กล่าวถึง โมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นวาระสำคัญของชาติ เป็นแนวคิดการนำ วทน. ไปยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างทั่วถึงและยั่งยืน นับเป็นโมเดลเศรษฐกิจใหม่สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค ซึ่งการสร้างความร่วมมือระหว่าง กัมพูชา ลาว เวียดนาม และไทย นี้ จะเป็นการขยายการใช้เทคโนโลยี และความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ นำไปสู่การสร้างโมเดลเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อโลกและประชาชนทุกคน
นอกจากนี้ ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งได้รับเชิญให้เป็นคณะกรรมการกำกับโครงการ ยังได้ให้มุมมองเชิงนโยบาย โดยได้กล่าวถึงการสร้างความร่วมมือในระดับบุคคล เพื่อให้เกิดการทำงานในเชิงลึกและเกิดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ยั่งยืน ซึ่งเทคโนโลยีด้านดิจิทัลในปัจจุบัน สามารถเอื้อให้เกิดการทำงานระหว่างประเทศได้อย่างสะดวก นอกจากนั้น ดร. พิเชฐ ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของภาคเอกชน ซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างแท้จริง โดยมีภาครัฐบาลให้การสนับสนุน
สำหรับโครงการข้างต้น มีวัตถุประสงค์ในการเสริมสร้างความร่วมมือซึ่งก่อให้เกิดพันธมิตรที่ได้รับประโยชน์ร่วมกัน สร้างโอกาส และแก้ปัญหาที่แต่ละประเทศเผชิญ โดยเน้นการพัฒนาความสามารถด้าน วทน. ระหว่างกัมพูชา ลาว เวียดนาม และไทย โดยความริเริ่มจากโครงการนี้ รวมถึงเครือข่ายวิจัยและฝึกอบรมด้านนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Research and Training Network on Science, Technology and Innovation Policy: ARTNET on STI) ซึ่ง สอวช. ร่วมก่อตั้ง จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการทำงานร่วมกันเพื่อกำหนดนโยบายที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับภูมิภาคได้
