สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สอวช.) เป็นเจ้าภาพร่วมในการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อกำหนดแนวทางความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ระหว่างประเทศกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ไทย และเวียดนาม (CLTV) เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 จัดโดย คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมของเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific: ESCAP) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นภายใต้โครงการความร่วมใต้-ใต้ และไตรภาคี ด้าน วทน. ระหว่างประเทศ CLTV (South-South and Triangular Collaboration Programme on Science, Technology and Innovation among Cambodia, Lao PDR, Thailand and Viet Nam) ได้รับเกียรติจาก Ms. Armida Salsiah Alisjahbana, Under-Secretary-General of the United Nations and Executive Secretary of United Nations ESCAP เป็นผู้กล่าวเปิดงาน โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุม 60 คน จาก 4 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว เวียดนาม และไทย จัดขึ้น ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ สาทร และการประชุมผ่านระบบออนไลน์

วัตถุประสงค์หลักของการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ เพื่อเป็นการพบปะและเชื่อมโยงเครือข่ายผู้จัดทำนโยบายและผู้เชี่ยวชาญทั้งในไทยและต่างประเทศ ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมองถึงศักยภาพ ขีดความสามารถในการนำความรู้ด้าน วทน. เข้ามาจัดลำดับความสำคัญของประเด็นด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงเพื่อเลือกสมรรถนะด้าน วทน. ที่มีศักยภาพ ในการนำไปพัฒนาหรือยกระดับภายใต้โครงการความร่วมใต้-ใต้ และไตรภาคี ด้าน วทน. ระหว่างประเทศ CLTV โดย สอวช. มีบทบาทในการกำหนดและสนับสนุนการพัฒนาด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ วทน. เพื่อบรรลุเป้าหมายของประเทศ รวมทั้งมีบทบาทสำคัญในการประสานงาน ทำงานร่วมกับหน่วยงานด้าน วทน. ทั้งของไทยและระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่ง 5 ประเด็นสำคัญที่จะมุ่งเป้าสร้างความร่วมมือในด้าน วทน. ได้แก่ เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital economy), ทุนมนุษย์ (Human capital), เกษตรกรรม (Agriculture), เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Circular & Green economy), ความร่วมมือของภาคเอกชน (Private sector collaboration)





สำหรับความสำคัญของความร่วมมือ ใต้-ใต้ (South-South Collaboration) เป็นการช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน ที่สามารถร่วมกันแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดี รวมถึงการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่จะสามารถปรับเข้ากับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละประเทศได้ อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมให้ประเทศกำลังพัฒนามีเสียงและมีพลังที่มากขึ้นในเวทีโลก โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่โลกต้องประสบกับความท้าทายมากมาย ทั้งความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ภัยพิบัติทางธรรมชาติและการระบาดของโควิด–19 นอกจากนี้ ความร่วมมือใต้–ใต้ ยังเป็นพลังสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (SDGs) ทั้งในมิติของการแก้ไขปัญหาความยากจน ความมั่นคงทางอาหาร ปัญหาภาวะโลกร้อน เป็นต้น


ภายหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการ ในช่วงเช้าวันที่ 25 สิงหาคม 2565 ยังได้จัดให้มีการลงพื้นที่เยี่ยมชมศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ในสังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยได้มีการบรรยาย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น การนำเสนองานวิจัยที่เป็นความร่วมมือแบบใต้-ใต้ รวมทั้งแนวทางความร่วมมือกับหน่วยงาน รวมถึงได้เยี่ยมชมศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย โรงงานต้นแบบผลิตอนุภาคนาโนและเครื่องสำอาง (Nanoparticles and Cosmetics Production Plant) และศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ ในช่วงบ่าย ผู้แทนจาก 4 ประเทศ และจาก UN ESCAP ยังได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมทรู ดิจิทัล พาร์ค พื้นที่ทำงานที่มีระบบนิเวศสมบูรณ์แบบสำหรับสตาร์ทอัพแห่งแรกในประเทศไทยและใหญ่ที่สุดในภูมิภาค มีกลุ่มผู้ใช้งานจากหลากหลายประเภทธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์, โซเชียลแพลตฟอร์ม, EnterprisePlatform, อี-คอมเมิร์ซ, หุ่นยนต์ รวมถึงธุรกิจสายเทคโนโลยีต่างๆ อาทิ ฟินเทค, ทราเวลเทค, มาร์เก็ตติ้งเทค, พร็อพเทค (PropTech) และ AgriTech ในปัจจุบันมีบริษัท Startup SME และ VC เข้าใช้บริการทรู ดิจิทัล พาร์ค มากถึง 1,400 ราย และทำให้เกิดยูนิคอร์น (Unicorn) หรือธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ รวม 4 ราย



