messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. – บพค. ร่วมมือ 5 สมาคมวิชาชีพสื่อและกองทุนพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ ขับเคลื่อนพัฒนากำลังคนด้านสื่อสร้างสรรค์ วางเป้าหมายผลิตคนตอบโจทย์อุตสาหกรรม พร้อมทำโรดแมปพัฒนานวัตกรรมพลิกโฉมสื่อสร้างสรรค์

สอวช. – บพค. ร่วมมือ 5 สมาคมวิชาชีพสื่อและกองทุนพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ ขับเคลื่อนพัฒนากำลังคนด้านสื่อสร้างสรรค์ วางเป้าหมายผลิตคนตอบโจทย์อุตสาหกรรม พร้อมทำโรดแมปพัฒนานวัตกรรมพลิกโฉมสื่อสร้างสรรค์

วันที่เผยแพร่ 2 กันยายน 2022 1089 Views

(31 สิงหาคม 2565) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา
การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) จัดการประชุมรูปแบบและแนวทางความร่วมมือ การพัฒนากำลังคนและงานวิจัยเพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์สำหรับอุตสาหกรรมภาพยนตร์และสื่อ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ Creative Economy Agency (CEA) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสถาบันอิศรา โดยเป็นการจัดประชุมผ่านระบบออนไลน์

ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. กล่าวว่า บพค. มีวัตถุประสงค์หลักในการพัฒนากำลังคนและพัฒนางานวิจัยในหลายรูปแบบ โดยเฉพาะด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปศาสตร์ (Social Sciences, Humanities and Art: SHA) มีเป้าหมายในการขับเคลื่อน Soft Power ด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และส่งเสริมความเป็นไทยสู่สากล ซึ่งทิศทางในการขับเคลื่อนแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือการพัฒนากำลังคน และการพัฒนาองค์ความรู้จากการวิจัย ในการพัฒนากำลังคน มุ่งเน้นการสร้าง Brainpower, Content creator, Change Agent รวมถึงกลุ่มที่มีทักษะขั้นสูง นักวิจัยปฏิบัติการ ในส่วนขององค์ความรู้ มองถึงการต่อยอดไปสู่ Global content การสร้างระบบนิเวศ แนวทางการสนับสนุนการวิจัย มีเวทีในการพัฒนาและนำเสนอผลงาน สำหรับรูปแบบการพัฒนากำลังคน มีหลายแนวทาง อาทิ การสร้างแพลตฟอร์มในระดับประเทศ ระบบฝึกอบรมเชิงกลยุทธ์ การฝึกอบรมจากผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงโอกาสจากกลุ่มผู้ประกอบการ หรือ Gig Economy สื่อสร้างสรรค์ เป็นต้น

“ปัจจุบัน บพค. ได้เริ่มให้ทุนสนับสนุนในการพัฒนาค่ายหนัง พัฒนารูปแบบการฝึกอบรมด้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และอยู่ในระหว่างการรวมกลุ่มเพื่อจัดตั้งเป็น Consortium ร่วมกัน ที่จะมีทั้งหน่วยงานด้านนโยบาย นักลงทุน ผู้ประกอบการ นักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาที่จะเข้ามารวมตัวกัน และมีแนวทางการผลิตกำลังคนออกไปทำงานได้ทั้งในรูปแบบของ Gig workers และยังสามารถแข่งขันในระดับประเทศ ระดับนานาชาติ หรือไปสู่ตลาดโลกได้” ดร.สมปอง กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีแนวทางโครงการที่จะเข้ามาช่วยในการพัฒนากำลังคน อาทิ โครงการวิจัยเพื่อศึกษารูปแบบการพัฒนาคนเขียนบทให้สนุกและขายได้ โดยสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย โครงการยกระดับกลุ่มอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทยสู่ระดับสากล (CEA Content Lab) โครงการพัฒนาระบบนิเวศสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาโลกเสมือนจริง (CEA Metaverse Ecosystem Lab) โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่จะเข้าไปตอบโจทย์การสนับสนุนการผลิตกำลังคนในอุตสาหกรรมสื่อรูปแบบต่างๆ ได้

ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า การทำงานร่วมกันต้องมองถึงภาพใหญ่ในการตั้งโจทย์ของประเทศ โดยโจทย์ที่สำคัญคือการสร้างคุณค่าและมูลค่า (Value Creation) แบ่งได้เป็น 3 มิติ ได้แก่ 1) สังคมสร้างสรรค์ สื่อที่จะผลิตออกมา หรือผู้ผลิตสื่อ จะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างมูลค่าเพิ่ม ควบคู่ไปกับการมีความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างสร้างสรรค์ 2) กลุ่ม Gig Economy จะต้องได้รับการดูแลบ่มเพาะ และ 3) Creative content เชื่อมโยงถึงการสร้างบุคลากรสร้างสรรค์ที่เป็นหัวใจในการผลิตสื่อ โดยสามารถพัฒนาบุคลากรได้หลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอบรมอย่างสร้างสรรค์ การให้คำปรึกษา และการสร้างแนวคิดที่ดีให้กับบุคลากรเหล่านี้ ที่สำคัญคือการสนับสนุนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงระบบนิเวศต่างๆ และเพื่อให้เกิดความยั่งยืนจะต้องมีการสนับสนุนเรื่องการวิจัยและพัฒนา (R&D) ทุนทางวัฒนธรรม หรือประเด็นที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย

“เพื่อให้เกิดการทำงานขับเคลื่อนร่วมกันต่อไปในอนาคต หน่วยงานทั้ง สอวช. บพค. กองทุนสื่อฯ สมาคมสื่อฯ และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ควรมีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือร่วมกัน กำหนดวิสัยทัศน์ เป้าหมายในการทำงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเมื่อเกิดความร่วมมือขึ้นแล้ว จะต้องมีการจัดทำแผนที่นำทางตามมา เพื่อตอบวิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้ ต้องมีการออกแบบกลไกการทำงานแบบ Co-creation แนวทางการสนับสนุน Co-funding รวมถึงต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา และสร้างกลไกเพื่อผลักดันให้เกิดแผนโครงการริเริ่มที่สำคัญ (Flagship project) ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง” ดร.กิติพงค์ กล่าว

นอกจากนี้ ยังต้องมองถึงการเชื่อมโยงกับเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิตและบริการ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในการทำงานร่วมกัน และอาจจะสามารถเข้ามาร่วมสนับสนุนได้ทั้งในด้านการเงิน และด้านทรัพยากร ผู้เชี่ยวชาญ เทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งการทำความร่วมมือต้องมีการทำต่อเนื่องให้เกิดผลในระยะยาว ส่วนแนวทางการผลักดันประเด็นนี้ให้ขึ้นไปสู่การเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ (National Agenda) สอวช. จะมีการยกประเด็นนี้เข้าสู่ที่ประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เพื่อผลักดันไปสู่การเป็นนโยบายของประเทศ ซึ่งจะช่วยให้หน่วยงานที่อยู่ในระบบอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมหันมาร่วมกันสนับสนุนการพัฒนาในด้านนี้มากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ความเห็นของที่ประชุมมองว่า การสร้างความร่วมมือในครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในทำงานร่วมกัน ซึ่งหลังจากมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือแล้ว ทุกภาคีเครือข่ายจะต้องมาหารือถึงประเด็นที่จะร่วมกันขับเคลื่อนต่อไปในอนาคต เพื่อให้เห็นภาพต่อเนื่องจากการทำนโยบายไปสู่การปฏิบัติจริง อีกทั้งได้พูดคุยถึงแนวทางการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตสื่อให้มีความเข้มข้นมากขึ้น โดยองค์กรสื่อต้องเพิ่มการติดอาวุธให้กับบุคลากร เพื่อทำให้เกิดกำลังคนที่มีทั้งศักยภาพและจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนตั้งแต่ในสถาบันการศึกษาก่อนจะเข้าสู่อุตสาหกรรมและการทำงานจริง เนื้อหาสื่อที่ผลิตออกมา ก็ต้องได้รับการพัฒนาให้มีความสร้างสรรค์ เพื่อส่งต่อเนื้อหาที่มีคุณภาพไปยังผู้รับสื่อได้ นอกจากนี้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ยังได้เสริมมุมมองว่าอุตสาหกรรมสื่อมีแรงงานและกำลังคนนอกระบบจำนวนมาก ดังนั้นนอกจากจะพัฒนาในการด้านทักษะ ความสามารถในการทำงานให้กับกลุ่มคนเหล่านี้แล้ว ยังต้องคำนึงถึงการพัฒนาด้านการคุ้มครอง สวัสดิการ หรือค่าตอบแทนมาตรฐานต่างๆ เพิ่มเติมด้วย

เรื่องล่าสุด