messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. – ส.อ.ท. หารือแนวทางความร่วมมือขับเคลื่อนโครงการสำคัญ เชื่อมโยงการทำงานรัฐ-เอกชน มุ่งผนึกกำลังยกระดับรายได้ผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม ผ่านกลไกการสนับสนุนด้านนโยบาย

สอวช. – ส.อ.ท. หารือแนวทางความร่วมมือขับเคลื่อนโครงการสำคัญ เชื่อมโยงการทำงานรัฐ-เอกชน มุ่งผนึกกำลังยกระดับรายได้ผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม ผ่านกลไกการสนับสนุนด้านนโยบาย

วันที่เผยแพร่ 8 กันยายน 2022 805 Views

(6 กันยายน 2565) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ประชุมหารือความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในการขับเคลื่อนโครงการสำคัญต่างๆ ผ่านความร่วมมือทั้งในภาคนโยบายและภาคอุตสาหกรรม ณ สำนักงานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการประชุมผ่านระบบออนไลน์

ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ได้นำเสนอแผนการดำเนินงานโครงการสำคัญของ สอวช. หลายโครงการ ได้แก่ นโยบายการพัฒนาผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (Innovation-driven enterprises: IDE) 1,000 ล้านบาท 1,000 ราย ภายในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้มีการริเริ่มแนวทางการสนับสนุนไว้แล้วหลายส่วน ทั้งการพัฒนากำลังคน โครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาความรู้ รวมถึงเครือข่ายการทำงาน สิ่งที่จะต้องเพิ่มเติมเข้าไปคือการสร้างโมเดลทางธุรกิจที่ตอบสนองกับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะในกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) หากต้องการขยับให้มีรายได้ถึง 1,000 ล้านบาท ต้องอาศัยการนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ รวมถึงการหาแหล่งทุนและหาตลาดใหม่ๆ ที่จะเติบโตขึ้นได้ โดยกลไกการสนับสนุนผู้ประกอบการเหล่านี้ มีการพัฒนาระบบ mentorship เพื่อสนับสนุนให้คำปรึกษาด้านการทำนวัตกรรมและดึงดูดการลงทุนสู่การเป็น scaleup firm ดึงเอานักศึกษาระดับปริญญาโท เข้าไปช่วยทำงานด้านนวัตกรรมในโรงงานอุตสาหกรรมร่วมกับพี่เลี้ยงและวิศวกรที่ปฏิบัติงานจริง

อีกทั้งมีแนวทางผลักดันให้เกิด E-Commercial & Innovation Park (ECIP) เป็นการพัฒนาอุทยานวิทยาศาสตร์หรือโรงงานต้นแบบในพื้นที่ เพื่อสนับสนุนการเจาะตลาด (online & offline) และการพัฒนาและผลิตสินค้าสำหรับการค้าขายภายในประเทศและการส่งออกครบวงจร โดยปัจจุบัน ในพื้นที่ 15 จังหวัด มี 21 อุทยานวิทยาศาสตร์และโรงงานต้นแบบระดับกึ่งอุตสาหกรรม แบ่งเป็นด้านเกษตรอาหาร 17 แห่ง ด้านพลังงานและวัสดุชีวภาพ 2 แห่ง และด้านสุขภาพและการแพทย์ 2 แห่ง

ในด้านการพัฒนากำลังคนสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม การดำเนินงานในปัจจุบัน ได้แก่ มาตรการ Thailand Plus Package ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการจ้างงานบุคลากรด้าน STEM 1.5 เท่า และสิทธิประโยชน์ทางภาษีในการส่งบุคลากรเข้ารับการฝึกอบรม 2.5 เท่า ในหลักสูตรที่ผ่านการรับรองของกระทรวง อว. ซึ่งล่าสุดผ่านการรับรองแล้วกว่า 400 หลักสูตร มีสถานประกอบการส่งบุคลากรเข้ารับการอบรมแล้วกว่า 450 แห่ง และมีผู้ผ่านการฝึกอบรมรวมกว่า 14,000 คน อีกทั้งยังมีกลไกการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง ทั้งแนวทางการจัดการศึกษาที่แตกต่างไปจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) การจัดการเรียนการสอนที่บูรณาการกับการทำงาน (Work-integrated Learning) เช่น โครงการ Hi-fi โครงการ Time โครงการ Talent Mobility เป็นต้น

สอวช. ยังได้มีการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ผลักดันให้ธุรกิจนำแนวคิดออกแบบหมุนเวียนไปใช้ (Circular Design) ยกระดับการผลิตสินค้าและบริการให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สอวช. เป็นสมาชิกของสมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (RE100) และยังทำงานเชื่อมโยงกับกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ซึ่งการมุ่งไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon net zero) นอกจากจะผลักดันเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนแล้ว สอวช. ได้ทำงานร่วมกับ ส.อ.ท. ในเรื่องมาตรฐานการตรวจสอบคาร์บอน (Carbon Verification Standard: CVS) ตั้งเป้าผลิตผู้เชี่ยวชาญขึ้นมาเป็น Carbon Verifier และผลักดันไปสู่การสร้างเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพให้เกิดเป็นหน่วยรับรอง (certifying body) ในประเทศ

นอกจากนี้ สอวช. ยังได้มีการขับเคลื่อนการดำเนินการในด้านต่างๆ อีกหลายด้าน ที่สามารถเชื่อมโยงกับการทำงานของ ส.อ.ท. ได้ อาทิ การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-curve) การสนับสนุนเงินทุนค่าใช้จ่ายบุคลากรหรือการฝึกอบรมบุคลากรของสตาร์ทอัพ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมในยานยนต์ไฟฟ้า (EV) หรือยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV conversion) เป็นต้น ในฝั่งของ ส.อ.ท. มองเห็นถึงความร่วมมือในหลายประเด็น ทั้งการพัฒนายกระดับความสามารถกลุ่ม IDE ที่มองว่าเป็นการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนและเห็นโอกาสในการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างผู้ประกอบการในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น ส่วนของพื้นที่ตั้ง ECIP การขยายพื้นที่ไปในจังหวัดอื่นเพิ่มเติม ยังมีเครือข่ายของ ส.อ.ท. อยู่ในแต่จุดที่สามารถเชื่อมโยงการทำงานได้

นอกจากนี้ ส.อ.ท. ยังชี้ให้เห็นถึงประเด็นที่จะเป็นแนวทางการขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน (Quick win) สำหรับประเทศไทยได้ เช่น การส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture Industry) ที่ไทยยังมีโอกาสทำให้ก้าวหน้าได้มากขึ้น ซึ่งการประชุมหารือในครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้เห็นว่า ทางฝั่งนโยบาย หรือหน่วยงานภาครัฐได้เตรียมความพร้อมการดำเนินงานไว้แล้วในหลายส่วน ต้องมีการทำงานร่วมกันกับภาคอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิด เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายในทิศทางเดียวกัน

เรื่องล่าสุด