messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. แลกเปลี่ยนแนวทางความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด เน้นเสริมสร้างความร่วมมือแบบใต้-ใต้ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2030

สอวช. แลกเปลี่ยนแนวทางความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด เน้นเสริมสร้างความร่วมมือแบบใต้-ใต้ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2030

วันที่เผยแพร่ 16 กันยายน 2022 556 Views

ดร. กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เข้าร่วมเป็นผู้อภิปรายในเวทีเสวนาโต๊ะกลม “Fourth Asia-Pacific Directors-General Forum on South-South and Triangular Cooperation” จัดโดย คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมของเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific: ESCAP) ร่วมกับ สำนักงานสหประชาชาติเพื่อความร่วมมือใต้-ใต้ (United Nations Office for South-South Cooperation: UNOSSC ) เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2565 ณ ศูนย์ประชุมแห่งสหประชาชาติ และผ่านระบบออนไลน์ โดยมีผู้เข้าร่วมอภิปรายจากหลายประเทศทั่วโลก

เวที Asia-Pacific DG Forum จัดต่อเนื่องขึ้นเป็นครั้งที่ 4 ซึ่งครั้งนี้จัดขึ้นสำหรับรัฐบาลและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญในภูมิภาคให้ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ และแนวทางการพัฒนาความร่วมมือใต้-ใต้ (South-South Cooperation) ซึ่งเป็นการช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน ที่สามารถร่วมกันแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดี รวมถึงการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่จะสามารถปรับเข้ากับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละประเทศได้

ดร. กาญจนา ได้ร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นเกี่ยวกับบทบาทของความร่วมมือใต้-ใต้ ในการหาแนวทางรับมือและแนวทางการฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยต้องหันกลับมามองถึงเป้าหมายที่ได้ตั้งเอาไว้ในปี 2030 ที่จะมุ่งสู้เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ซึ่ง SDGs ถือเป็นเป้าหมายร่วมที่ทุกประเทศเห็นพ้องร่วมกัน และกำหนดเป็นวาระที่สำคัญของชาติที่จะช่วยพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

“ความร่วมมือแบบใต้-ใต้ เป็นกลไกที่ประเทศต่างๆ สามารถใช้ขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน หลังเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายประเทศต่างก็พยายามหาแนวทางฟื้นฟูและสร้างให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งไทยเองมีการริเริ่มหลายโครงการขึ้นมาเช่นกัน สิ่งที่เราจะให้ความสำคัญในการทำความร่วมมือระหว่างประเทศ คือการเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน จาก Project-based ไปเป็นรูปแบบ Platform-based เน้นการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อกำหนดเป้าหมาย และแผนงานดำเนินงานในรูปแบบ co-creation นอกจากนี้ เรายังให้ความสำคัญกับการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมในภูมิภาคอาเซียน และอนุภูมิภาคแม่โขง และส่งเสริมการพัฒนาและสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการท้องถิ่น (local entrepreneurs)  ที่จะช่วยเป็นฟันเฟืองสำคัญในการไขปัญหา ค้นหาแนวทาง และร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงาน ให้ตอบสนองต่อความต้องการของพื้นที่ได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน โดยรัฐบาลควรมีแนวทางปรับรูปแบบการสนับสนุนการดำเนินงานที่คู่ขนานกับการให้ทุนในแต่ละโครงการ ควรมุ่งเน้นการสร้างกลไกเพื่อให้โครงการเหล่านั้นอยู่ได้อย่างยั่งยืนต่อไปด้วย” ดร. กาญจนา กล่าว

ดร. กาญจนา ยังได้ยกประเด็นการทำงานสำคัญ ที่แต่ละประเทศสามารถขับเคลื่อนร่วมกันได้ เช่น 1) เกษตรอาหาร ที่ต้องได้รับการพัฒนาตลอดห่วงโซคุณค่า ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการด้านการเกษตรและนวัตกรรมการเกษตร สร้างขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วย รวมทั้งผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการหรือสตาร์ทอัพใหม่ๆ ด้านการเกษตร ผ่านการจัดโครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการ และเชื่อมโยงเรื่องของตลาดในอนาคต 2) เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว เรื่องขยะพลาสติก ที่ถือเป็นหนึ่งในความท้าทายเรื่องการจัดการปัญหาขยะ (Waste management) นอกจากนี้ ยังมีการพูดถึงการแบ่งปันนวัตกรรมและมองหานวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค เพื่อนำไปสู่การบริโภคอย่างยั่งยืน หรือแม้แต่การร่วมลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาในรูปแบบต่างๆ เพื่อไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Greenhouse gas emission) 3) เศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาระบบนิเวศในกลุ่มเอสเอ็มอี ให้พร้อมสู่การเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล และต้องดึงภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วม ในการสร้างความเข้าใจให้เห็นถึงโอกาสและความท้าทายจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล และ 4) การแบ่งปันเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในระดับภูมิภาคร่วมกัน เช่น อุทยานนวัตกรรมดิจิทัล (Digital innovation park) ศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการใหม่ (Incubation center) รวมถึงแนวทางเข้าถึงกลไก และมาตรการสนับสนุนต่างๆ

ดร. กาญจนา ให้ความเห็นว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งในการทำความร่วมมือระหว่างประเทศคือการสร้างความเชื่อมั่น ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน รวมถึงการสร้างเป้าหมายร่วมที่นำไปสู่การแบ่งปันคุณค่าร่วมกัน ควรเริ่มจากการกำหนดเป้าหมาย การจัดลำดับความสำคัญ และความท้าทายร่วมกัน ในบางครั้งเราอาจมีบทบาทเป็นพันธมิตร เป็นผู้มีส่วนร่วม และในบางครั้งเราก็จำเป็นต้องก้าวออกมาเป็นผู้นำในการริเริ่มทำอะไรบางอย่าง นอกจากนี้ ดร. กาญจนา ยังได้เน้นย้ำถึงสร้างการมีส่วนร่วมกับพันธมิตรเพื่อการพัฒนา (development partner) และภาคเอกชน ในการขับเคลื่อนความร่วมมือใต้-ใต้ รวมถึงการสร้างโอกาสให้กับกลุ่มเยาวชน สตรี และผู้ด้อยโอกาสในสังคม ในการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายและพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย

เรื่องล่าสุด