messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » งานวิจัยและพัฒนา กับการเปลี่ยนผ่านประเทศสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน

งานวิจัยและพัฒนา กับการเปลี่ยนผ่านประเทศสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน

วันที่เผยแพร่ 7 กันยายน 2022 1161 Views

จะเปลี่ยนผ่านประเทศสู่ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” อย่างไร และไทยมีแนวทางส่งเสริมด้านใดบ้าง? ไปดูกัน!

🔸 เศรษฐกิจหมุนเวียนให้ความสำคัญกับการเกิดระบบการหมุนเวียน เพื่อเป็นวงจรปิดของทรัพยากร (Close Loop) ซึ่งมีความจำเป็นที่ต้องมีการเปลี่ยนทั้งระบบด้วยกรอบแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ให้ระบบการผลิตต้องมีการวางแผนให้มีการนำทรัพยากรถูกกลับมาสู่ระบบได้อีกครั้ง (Return)

ด้วย 3 แนวทางการคงมูลค่า คือ

1. ลดการใช้วัตถุดิบใหม่

2. คงคุณค่าผลิตภัณฑ์ส่วนประกอบและวัสดุ

3. ลดผลกระทบทางลบให้เหลือน้อยที่สุด ผ่านรูปแบบ Business Model ต่าง ๆ

สำหรับประเทศไทยได้มีการกำหนดให้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นวาระแห่งชาติ และได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อน การพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2570

ซึ่งเน้นยกระดับการพัฒนา 4 อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ โดยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นฐานที่สำคัญ ได้แก่

1. เกษตร และอาหาร

2. สุขภาพ และการแพทย์

3. พลังงานวัสดุ และเคมีชีวภาพ

4. การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจสร้างสรรค์

🔸 สำหรับเศรษฐกิจหมุนเวียนมีแนวทางการดำเนินงาน ลักษณะโปรแกรมปักหมุด 📌✨ เพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนของไทยอย่างมีเป้าหมาย กำหนดไว้ 5 ด้าน ได้แก่

1. การสร้างต้นแบบในห่วงโซ่คุณค่าที่มีผลกระทบสูง (CE Champion)

2. การพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องได้ใช้ประโยขน์ (CE Platform)

3. การพัฒนาและส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรม (CE RDI)

4. การสร้างกำลังคน ความตระหนักและตลาดด้านการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน (CE Citizen)

5. การพัฒนาปัจจัยเอื้อ (CE Enabling factors)

🔸 งานวิจัยและพัฒนาปัจจัยเอื้อที่สำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน !

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ได้ดำเนินการส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนา ที่เป็นปัจจัยเอื้อที่สำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ผ่านการสนับสนุนงานวิจัย ซึ่งมีหน่วยงานผู้ใช้ประโยชน์ร่วมลงทุน โดยดำเนินงานตั้งแต่ปี 2563 – 2565 ซึ่งมีหลายโครงการที่น่าสนใจ และยังช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อีกด้วย

🔹 กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก–บรรจุภัณฑ์

เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก รวมถึงเตรียมความพร้อมรองรับมาตรการทางการค้า และการผลิต ที่กำหนดให้ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์พลาสติกต้องมีสัดส่วนรีไซเคิลตามเกณฑ์ของคู่ค้า และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล

– ข้อมูลฐานและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (EPR)

– กลไกตลาดและปัจจัยเอื้อต่อการเพิ่มการหมุนเวียนของพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (SUP)

– ระบบทดสอบและรับรองพลาสติกรีไซเคิล (r-Plastic, PCR)

– การพัฒนาระบบศูนย์ข้อมูลอุตสาหกรรมพลาสติกรีไซเคิล

– การศึกษาปริมาณขยะพลาสติกในพื้นที่ EEC เพื่อพัฒนา Smart Recycling Hub

– การวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ทดแทนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และเสนอกลไกการขับเคลื่อนตามโรดแมปการจัดการขยะพลาสติกของประเทศตามแนวทาง CE

🔹 กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร-อาหาร

สนับสนุนข้อมูลทางวิชาการสำหรับการอนุญาต โดย อย. และได้ค่ากลางของสารอาหารของประเทศ นำไปสู่การปรับปรุงลดปัจจัยการผลิตและของเสีย

– นวัตกรรมและข้อมูลด้านความปลอดภัยของเม็ดพลาสติกรีไซเคิล rPET ในการผลิตบรรจุภัณฑ์สัมผัสอาหาร

– ค่าการหมุนเวียนสารอาหาร (Nutrient circularity) เช่น ไนโตรเจนและคาร์บอน ตั้งแต่การปลูก แปรรูป บริโภค และการจัดการเศษเหลือทิ้งหลังบริโภค

🔹 กลุ่มอุตสาหกรรมวัสดุ-ก่อสร้าง

ได้ค่ากลางที่สามารถใช้เป็นค่าฐานสำหรับตัวชี้วัด ตาม (ร่าง) แผนฯ 13 หมุดหมายที่ 10 ที่กำหนดให้ดัชนีการหมุนเวียนวัสดุที่สำคัญเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ในปี พ.ศ. 2570

– ค่าการหมุนเวียนวัสดุ (Material Circularity Index: MCI) และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของวัสดุก่อสร้าง 6 ประเภท ได้แก่ ปูนซีเมนต์ คอนกรีต โลหะ ไม้และวัสดุเทียมไม้ ฉนวนกันความร้อน และวัสดุทนไฟ (และเพิ่มเติมอีก 7 กลุ่มในปี 2565 – 2566 ได้แก่ อิฐ กระจก หลังคา ฝ้า เพดาน กระเบื้องปูพื้น ท่อ และสุขภัณฑ์)

🔹 กลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ

เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจพร้อมกับแก้ไขปัญหาขยะแผงโซลาร์เซลล์, E-waste และกากอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มมากขึ้นในอนาคต ส่งเสริมให้เข้าถึงแหล่งทุน Green Finance ได้สะดวกขึ้น เพื่อสร้างเครื่องมือทางการตลาดที่เป็นฉลากผลิตภัณฑ์หมุนเวียนแรกของไทย และภูมิภาค ที่ใช้เกณฑ์ครบตามหลัก CE

– ฐานข้อมูลสมรรถนะและปริมาณแผงโซลาร์เซลล์ใช้แล้ว รวมทั้ง (ร่าง) แนวปฏิบัติการทดสอบ และข้อเสนอแนะการจัดการแผงโซลาร์เซลล์ใช้แล้ว

– ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการจัดการและมาตรฐานการปฏิบัติงานของศูนย์รวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-waste)

– ฐานข้อมูลและแนวทางการจัดการกากอุตสาหกรรมตามหลักการ CE

– ข้อมูลผลประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมและก๊าซเรือนกระจกตลอดวัฏจักรชีวิตของนวัตกรรมบริการ : การณีศึกษาธุรกิจการให้เช่าที่นอนในอุตสาหกรรมที่พัก

– ระบบรองรับฉลากหมุนเวียน (Circular Mark) ของผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์

– ระบบการตรวจสอบและรับรองระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนขององค์กรเพื่อผลักดันนโยบาย CE ของประเทศ

🔸 จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าการพัฒนาปัจจัยเอื้อเป็นสิ่งสำคัญสำหรับ Sector ในการนำพาประเทศไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อเป็นฐานในการ “ขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG และการพลิกโฉมประเทศไทยสู่สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน” ได้ตามเป้าหมาย พร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย

ที่มา : CIRCULAR ECINOMY POLICY FORUM REPORT 2022

เรื่องล่าสุด