สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ สภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (สสวทท) จัดงาน COSTAT Pre-Summit Workshop เรื่อง การส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ณ โรงแรมเซนจูรี่ปาร์ค กรุงเทพฯ โดยงานในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อนำเสนอผลการศึกษาการส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนและข้อริเริ่มของ สสวทท และจัดทำกลไกการขับเคลื่อนข้อริเริ่มของ สสวทท และแนวทางการขยายผลสู่ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน เพื่อให้เกิดเป็นเป้าหมายการส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน กลไกการขับเคลื่อนข้อริเริ่มของ สสวทท และแนวทางการขยายผลสู่ความยั่งยืน รวมถึงภาคีเครือข่าย (Champions) ที่จะร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงาน โดยได้รับเกียรติจาก ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นผู้กล่าวเปิดงาน
นพ. สิริฤกษ์ กล่าวว่า การประชุมระดมความเห็นในวันนี้เป็นโอกาสที่สำคัญอย่างยิ่ง ในวงการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ที่ได้ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เกี่ยวข้องในหลายภาคส่วนมาร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องสำคัญของประเทศ ซึ่งหัวใจหลักของการพัฒนาประเทศคือทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 สิ่งที่ต้องมุ่งเน้นคือการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่เชื่อว่า วทน. จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่เสริมให้เกิดความยั่งยืนขึ้นได้

“เราเชื่อว่า วทน. มีความสำคัญ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องทำให้คนอื่นเชื่อเหมือนกันด้วย โจทย์หลักคือทำอย่างไรให้คนทั่วไปมีความตระหนักรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และเมื่อเกิดความตระหนักแล้ว ต้องนำเอากลไก วิธีการด้านนี้ไปใช้ต่อ รวมถึงถ่ายทอดไปยังรุ่นสู่รุ่นได้ด้วย โดย กระทรวง อว. มีแนวคิดหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงานที่จะต้องทำให้บรรลุใน 3 ส่วน คือ 1) ต้องทำให้สำเร็จ มองให้เห็นว่าความสำเร็จหลังจากการประชุมหารือกันคืออะไร และเป้าหมายสำคัญของการจัดเวทีนี้ขึ้นคืออะไร 2) ต้องทำให้ไว ทำให้เสร็จโดยเร็ว มุ่งสู่เป้าหมายในเวลาที่เหมาะสม 3) ต้องทำให้เยอะ ให้มาก และมีธงที่ชัดเจนว่า การหารือร่วมกันจะสร้างให้เกิดประโยชน์หรือผลกระทบกับคนในวงกว้างได้อย่างไร การระดมความเห็นในวันนี้จึงถือเป็นโจทย์ที่ยาก แต่ด้วยขุมกำลังนักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ ผู้มีความเชี่ยวชาญ เชื่อว่าผลที่ได้ในครั้งนี้จะนำไปสู่การจัดทำแผนปฏิบัติการของของกระทรวงไปจนถึงแผนในระดับประเทศต่อไป” นพ. สิริฤกษ์ กล่าว
ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวถึง บริบทการทำงานด้านนโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ที่มีโจทย์หลักๆ ที่ประเทศไทยต้องขับเคลื่อนไปให้ได้ใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) การขยับการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ประเทศไทยหลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง ซึ่งทางออกที่จะช่วยได้คือการใช้นวัตกรรม ทำให้นวัตกรรมเข้าไปสู่การประกอบอาชีพ เข้าถึงผู้ประกอบการ โดย สอวช. ได้ตั้งเป้าสร้างผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (Innovation-Driven enterprises: IDE) ที่มีรายได้ 1,000 ล้านบาท ให้ได้ 1,000 ราย ในเวลา 5 ปี 2) การขยับสถานะทางสังคมและรายได้ของประชากรกลุ่มฐานรากหรือ Social Mobility จำนวน 1 ล้านคน จากโครงสร้างประชากรของไทยที่เป็นรูปพีระมิด ยอดของพีระมิดเป็นกลุ่มคนที่มีวุฒิการศึกษาสูง มีอาชีพรายได้สูง มีโอกาสทางการศึกษา แต่กลับเป็นสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับกลุ่มประชากรทั้งหมด จึงต้องมองหาแนวทางขยับสถานะกลุ่มฐานราก ผ่านการสนับสนุนทั้งในด้านการศึกษา อาชีพ สุขภาพ รายได้ และการเข้าถึงสวัสดิการ สิทธิประโยชน์ต่างๆ ของรัฐ 3) ความยั่งยืนที่มีความเกี่ยวโยงกับการมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (GHG Net Zero Emission) ต้องมองถึงการหาข้อริเริ่มที่เข้มข้น ต้องจับให้ถูกจุดว่าควรขับเคลื่อนต่อไปอย่างไร โดยอาจทำได้ 2 แบบ คือมุ่งดำเนินการลงไปในแต่ละอุตสาหกรรม หรือการดำเนินการในเชิงพื้นที่ (area based) สร้างพื้นที่ต้นแบบหรือผู้นำในพื้นที่มาร่วมขับเคลื่อน และ 4) บุคลากรสมรรถนะสูงในการขับเคลื่อนประเทศ เป็นส่วนที่นักลงทุนให้ความสำคัญอย่างมาก ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน โดยจะพิจารณาสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากรัฐบาล ควบคู่กับการพิจารณาว่ามีกำลังคนเพียงพอและมีคุณภาพ พร้อมรองรับการประกอบธุรกิจได้ ซึ่ง สอวช. ได้ทำแพลตฟอร์มพัฒนาบุคลากรสมรรถนะสูง เป็นกลุ่มที่ไม่ต้องรอปริญญา ปีที่ผ่านมาได้ขอแรงจูงใจทางภาษี และทำแพลตฟอร์มผลิตกำลังคนไปได้แล้วกว่า 15,000 คน มีหลักสูตรพัฒนากำลังคนที่มาจากภาคอุตสาหกรรม ที่ช่วยเสริมทักษะอาชีพได้อย่างตรงจุด และช่วงปลายเดือนนี้ เตรียมเปิดอีกแพลตฟอร์ม ที่เน้นหลักสูตรด้าน soft skill คัดมาจากบริษัทชั้นนำ เบื้องต้นรวมกว่า 300 หลักสูตร ที่จะเปิดให้นักศึกษามหาวิทยาลัยเรียนฟรี

ดร. กิติพงค์ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ต้องร่วมกันหารือและตกผลึกถึงผลกระทบสำคัญที่จะเกิดขึ้น รวมถึงกลไกที่จะทำให้เกิดผลสำเร็จ ต้องมองหากลไกที่เป็น end-to-end นำไปสู่การปฏิบัติได้จริง นำมาประกอบกับกลไกการสนับสนุนจากภาครัฐหรือภาคนโยบายที่จะเข้ามาหนุนเสริม เพื่อพัฒนาไปเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่จะผลักดันเป็นนโยบายในระดับประเทศ

ด้าน ดร.ทรงศักดิ์ ศรีอนุชาต ประธานคณะทำงานฯ สสวทท กล่าวว่า จากการทำงานที่ผ่านมา คณะทำงานฯ ได้กำหนดประเด็นสำคัญที่จะขับเคลื่อนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยหยิบยกประเด็นที่สามารถสร้างให้เกิดผลสำเร็จในภาพรวมของประเทศได้ก่อน แบ่งเป็น 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Health and well-being) 2) อาหารและเกษตรกรรม (Food and agriculture) 3) พลังงานและสิ่งแวดล้อม (Energy and environment) และ 4) ดิจิทัลและเทคโนโลยี (Digital technology) และจากการพูดคุยหารือ ระดมความเห็นผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการ รวมถึงการรวบรวมข้อมูล ทั้งในรูปแบบเอกสาร การสัมภาษณ์ การอภิปราย ทำให้ได้ผลสรุปเป็นโครงการริเริ่มสำคัญ รวม 3 โครงการ ที่จะขับเคลื่อนนำไปปฏิบัติจริงต่อไป ได้แก่ โปรแกรมที่ 1 โรงเรียนสร้างสรรค์เพื่อความยั่งยืน โปรแกรมที่ 2 การขับเคลื่อนอาหารและเกษตร (ชุมชน) ยั่งยืน และโปรแกรมที่ 3 การสร้างสังคมคาร์บอนต่ำเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

โดยในงานยังได้มีการจัดกิจกรรมแบ่งกลุ่มระดมสมองตามโปรแกรมที่จะขับเคลื่อน เพื่อหาจุดเน้นของข้อริเริ่มในแต่ละส่วน และเชื่อมโยงไปถึงการมองหาผลกระทบ เป้าประสงค์ ผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญ ไปจนถึงแผนงานและกิจกรรมที่จะดำเนินการต่อไปในอนาคตด้วย


