messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช.  เข้าร่วมการประชุมและร่วมกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมคณะกรรมการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ UN และ OECD

สอวช.  เข้าร่วมการประชุมและร่วมกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมคณะกรรมการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ UN และ OECD

วันที่เผยแพร่ 4 พฤศจิกายน 2022 718 Views

ผู้แทนจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้เข้าร่วมในการประชุม UN Commission on Science and Technology for Development (CSTD) 2022-2023 Inter-sessional Panel ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ระหว่างวันที่ 25-26 ตุลาคม 2565 และ 121st Session of the Committee for Scientific and Technological Policy (CSTP) ภายใต้องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development – OECD) ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 27-28 ตุลาคม 2565

ดร. ปราณปรียา ศรีวรรณวิทย์ ลุนด์แบร์ย ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศ เป็นผู้แทนเข้าร่วมในการประชุมระหว่างประชุมสมัยประจำปี 2022-2023 ของคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนา (UN Commission on Science and Technology for Development (CSTD) 2022-2023 Inter-sessional Panel) ณ สมาพันธรัฐสวิส และได้กล่าวถ้อยแถลงในฐานะผู้แทนประเทศไทยใน 2 หัวข้อ

ในหัวข้อแรก Technology and Innovation for Cleaner and More Productive and Competitive Production ดร.ปราณปรียา ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการปรับตัวทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของประเทศไทย โดย สอวช. ได้วางแนวทางข้อริเริ่มในการทำงานเชิงพื้นที่ร่วมกับภาคอุตสาหกรรม ในโปรแกรมนำร่อง 2 พื้นที่ ได้แก่ อำเภอแม่เมาะและจังหวัดสระบุรี โดยแม่เมาะสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการอนุรักษ์พลังงาน และการดำเนินการด้านเชื้อเพลิงถ่านหินอย่างเป็นมิตรกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ ในขณะที่สระบุรี ซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมาก นำร่องเป็น สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ ตั้งเป้าเป็นจังหวัดต้นแบบที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในหัวข้อที่สอง Ensuring Safe Water and Sanitation for All: A Solution by Science, Technology and Innovation ผู้แทนจาก สอวช. ได้กล่าวถ้อยแถลงว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จในการบรรลุตัวชี้วัดบางข้อของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ 6 ในการจัดให้มีน้ำและสุขอนามัยสำหรับทุกคน (Sustainable Development Goal 6: Ensure access to water and sanitation for all) โดยจากข้อมูลของ WHO และ UNICEF ในปี 2020 พบว่า 100% ของประชากรในประเทศไทยใช้บริการน้ำดื่มที่มีการจัดการอย่างปลอดภัย และได้กล่าวถึงความพยายามของรัฐบาลไทยในการยกระดับการบริหารจัดการน้ำ โดยได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกำหนดนโยบายขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ

นอกจากนั้น นายรองวุฒิ วีรบุตร เอกอัครราชทูต รองผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ยังได้ประกาศโครงการ STI Capacity Building for Female Researchers and Entrepreneurs on the BCG Economic Model ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง UNCTAD, CSTD, คณะผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เพื่อมุ่งเน้นการส่งเสริมศักยภาพของนักวิจัยและผู้ประกอบการสตรีจากประเทศกำลังพัฒนา เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้หลักการโมเดลเศรษฐกิจ BCG ต่อการพัฒนาอย่างทั่วถึงและยั่งยืน โดย สอวช. เป็นหน่วยงานร่วมดำเนินการ

สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีครั้งที่ 121 (121st Session of the Committee for Scientific and Technological Policy: CSTP) ภายใต้ OECD นั้น ดร. ปราณปรียา เป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุมที่กรุงปารีส และ ดร.อภิชาติ อภัยวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญนโยบาย สอวช. เป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุมแบบออนไลน์

ดร. ปราณปรียา ได้รับเชิญให้บันทึกวิดีโอสัมภาษณ์ในการให้คำรับรอง (Testimonial) และแบ่งปันประสบการณ์ในโอกาสที่ไทยเข้าร่วมในคณะกรรมการฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการฉลองครบรอบ 50 ปีของ CSTP รวมถึงได้กล่าวถ้อยแถลงและให้ความเห็นในวาระต่าง ๆ เช่น นโยบายวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสำหรับการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green transition) นโยบายนวัตกรรมเชิงพันธกิจเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Mission-Oriented Innovation Policies for Net Zero) ความท้าทายและความต้องการใหม่ ๆ ในกลุ่มนักวิจัย โดยเฉพาะในประเด็น ความทั่วถึง ความหลากหลาย และความเสมอภาค (Inclusion, diversity and equity: IDE)

นอกจากนี้ ดร. ปราณปรียา ยังได้ประชุมร่วมกับ Division of Science and Technology Policy Division ของ OECD เพื่อหารือกรอบความร่วมมือภายใต้โครงการ OECD-Thailand Country Program Phase II ซึ่งเป็นโครงการระหว่างรัฐบาลไทยและ OECD โดยมีกำหนดเริ่มโครงการปลายปี 2565 และมีระยะเวลาการดำเนินงาน 3 ปี ทั้งนี้ สอวช. ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ เพื่อจัดทำการศึกษาสนับสนุนยุทธศาสตร์วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อความเป็นกลางและการเปลี่ยนผ่านของเศรษฐกิจคาร์บอน (Supporting Science, Technology and Innovation Strategy for Carbon Neutrality and Transitions) ในการหารือนี้ ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. เป็นประธานการหารือ โดยได้เข้าร่วมหารือในรูปแบบออนไลน์ พร้อม ดร. กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการ สอวช. และคณะจาก สอวช.

สามารถสืบค้นข้อมูลการประชุมและถ้อยแถลงใน UN CSTD 2022-2023 Inter-sessional Panel ได้ที่เว็บไซต์การประชุม: https://unctad.org/meeting/cstd-2022-2023-inter-sessional-panel

Tags: #CSTP #UN

เรื่องล่าสุด