messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. ร่วมเป็นพลังสำคัญสร้างระบบนิเวศขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนในไทย ดึงกลไกการสนับสนุนทั้งด้านการเงิน การปลดล็อกข้อจำกัดด้านกฎหมายและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

สอวช. ร่วมเป็นพลังสำคัญสร้างระบบนิเวศขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนในไทย ดึงกลไกการสนับสนุนทั้งด้านการเงิน การปลดล็อกข้อจำกัดด้านกฎหมายและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

วันที่เผยแพร่ 25 พฤศจิกายน 2022 1017 Views

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง “กลไกความร่วมมือ โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม (วทน.) ในด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในกลุ่มประเทศเอเปค” (Mechanism for STI Collaboration on Circular Economy toward Net Zero Target in APEC Regions) ในการจัดประชุมวิชาการระดับภูมิภาค 16th Asia Pacific Roundtable on Sustainable Consumption and Production ในหัวข้อ “การขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจหมุนเวียน ให้บรรลุเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์” (Bridging Net Zero Transition by SCP and Circular Economy) จัดโดย สมาคมส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (ประเทศไทย) (Thai-SCP) ร่วมกับเครือข่ายส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนแห่งเอเซียแปซิฟิก (APRSCP) โดยพิธีเปิดจัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 ณ โรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส กรุงเทพฯ

ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า กลไกความร่วมมือ โดยใช้ วทน. ในด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ถือเป็นประเด็นที่สำคัญ เพราะการขับเคลื่อนเรื่องนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ รวมถึงความร่วมมือกับต่างประเทศ โดยเฉพาะการดำเนินงานตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนจะเป็นส่วนสำคัญที่จะนำประเทศไทยมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26 ที่จัดขึ้นที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ในปีที่ผ่านมาว่า ประเทศไทยจะไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 และในการประชุม COP27 ประจำปีนี้ ที่เมืองชาร์ม เอล เชค สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ เมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ยังได้มีการหารืออภิปรายเกี่ยวกับประเด็นการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation) ความสูญเสีย (Loss) และความเสียหาย (Damage) ซึ่งในแง่ของการปรับตัว การนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้จะเป็นคำตอบในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตได้

แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นส่วนหนึ่งของโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (BCG Economy model) ที่ สอวช. เสนอให้เกิดเป็นนโยบายของประเทศ และรัฐบาลได้กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ ทำให้ในปัจจุบันทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านนี้ ส่วนของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทย จากมุมมองด้านนโยบาย มองว่าเราต้องการระบบนิเวศในการขับเคลื่อนและทำงานร่วมกัน สอวช. จึงมุ่งพัฒนาระบบนิเวศ ให้พร้อมสำหรับทุกภาคส่วน โดยในปีที่ผ่านมา ได้ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบาย และข้อริเริ่มหลายโครงการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงได้พัฒนาจัดทำกรอบนโยบายนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน: วิสัยทัศน์ พ.ศ. 2573 (Circular Economy Innovation Ecosystem: Vision 2030)

นอกจากนี้ สอวช. ยังทำงานร่วมกับอีกหลายหน่วยงานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand) ที่เข้ามาช่วยสนับสนุนโครงการสร้างขีดความสามารถในการออกแบบหมุนเวียน (Circular Design) ผ่านหลักสูตร CIRCO จากประเทศเนเธอแลนด์ เพื่อให้บริษัทที่เข้าร่วมโครงการมีแนวทางในการนำเอาโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนไปใช้ในธุรกิจได้ ซึ่งที่ผ่านมาจัดหลักสูตรไปแล้วใน 8 กลุ่มอุตสาหกรรม มีบริษัทเข้าร่วมกว่า 100 แห่ง และในอนาคตมีแผนที่จะยกระดับโครงการนี้ให้กลุ่ม SME ได้เข้าร่วมมากขึ้น โดยได้มีการหารือร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในการส่งเสริมและช่วยเหลือกลุ่ม SME โดยตรงด้วย

สำหรับกลไกที่จะเข้าไปช่วยสนับสนุนการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนมีหลายส่วนด้วยกัน ในส่วนของการสนับสนุนเงินทุนวิจัย หลังจากตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ขึ้นมา ได้มีการจัดตั้งหน่วยบริหารและจัดการทุน (Program Management Unit: PMU) ขึ้นมาเพื่อเป็นหน่วยงานให้ทุนดูแลรับผิดชอบการให้ทุนในสาขาที่แตกต่างกัน ตัวอย่างการดำเนินงานของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) จะมุ่งเน้นการจับคู่การให้ทุนร่วมกับบริษัทและหน่วยวิจัย ทั้งมหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิจัย โดยให้ความสำคัญกับการเข้าถึงตลาด หรือการนำผลงานวิจัยหรือเทคโนโลยีออกไปสู่เชิงพาณิชย์ได้

กลไกต่อมาคือเรื่องกฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ ต้องมีการปลดล็อกให้สามารถดำเนินงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างราบรื่น มีการริเริ่มการทำแซนด์บ็อกซ์ขึ้นมา เพื่อเป็นโอกาสในการเชื่อมโยงประสานงาน กระตุ้นให้เกิดการทำงานร่วมกับองค์กรต่าง ๆ และร่วมกันแก้ปัญหา แก้ไขข้อติดขัดในด้านกฎระเบียบที่เรากำลังเผชิญอยู่ อีกส่วนสำคัญคือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่ประเทศไทยยังขาดผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้เฉพาะในด้านที่เกี่ยวข้อง เช่น มาตรฐานการตรวจสอบคาร์บอน (Carbon Verification Standard: CVS) การซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit Trading) จึงยังต้องมีการสนับสนุนการพัฒนากำลังคนที่มีทักษะในด้านนี้เพิ่มมากขึ้น และกลไกสำคัญในส่วนสุดท้าย คือหน่วยประสานงานกลาง (Intermediary) ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานร่วมกัน ซึ่ง สอวช. ได้ดำเนินงานในส่วนนี้มาอย่างต่อเนื่อง มีการจัด CE innovation policy forum ร่วมกับ Thai-SCP จัดเวทีหารือในด้านนโยบาย แลกเปลี่ยนความเห็นและความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ทำให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม และยังนำไปสู่แนวทางการขับเคลื่อนงานในอนาคตร่วมกับพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศต่อไป

ทั้งนี้ ในพิธีเปิดงานยังได้มีการปาฐกถาพิเศษ “ทิศทางของนานาชาติและประเทศไทยในการขับเคลื่อนสู่เป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์” โดย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิร่วมให้การบรรยาย ได้แก่ ดร.มุชตาค มีมอน ผู้แทนสหประชาชาติ ด้านสิ่งแวดล้อมของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก บรรยายเรื่อง “สถานการณ์การขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนในระดับภูมิภาค” และ ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บรรยายเรื่อง “บทบาทของภาคเอกชนในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์”

นอกจากนี้ สอวช. ยังจัดกิจกรรมต่อเนื่องในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ได้มีการจัดเวทีเสวนาโต๊ะกลมในหัวข้อ “แรงขับเคลื่อนของการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจหมุนเวียน” (Driving Forces for SCP & Circular Economy) โดยมี ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สอวช. เป็นประธานในที่ประชุม และมีผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ทั้งในไทยและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศเนเธอแลนด์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และ Stockholm Environment Institute (SEI) ที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิด แนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงนำเสนอตัวอย่างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจเพื่อเป็นแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) เป็นแบบอย่างในการนำแนวทางไปปรับประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับบริบทของประเทศต่อไป

เรื่องล่าสุด