ดร.กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา สอวช. เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประชาพิจารณ์ สมัชชาสุขภาพ เพื่อสรุปผลการประชุมระดมความเห็นรวม 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 7, 14, 15 พฤศจิกายน 2565 ร่วมกับกลุ่มหน่วยงานภาครัฐ กลุ่มผู้ประกอบการ และภาคีเครือข่าย ซึ่งมีผู้แทนจากหลากหลายทั้งหน่วยงานภาครัฐ วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน ในประเด็นการขจัดความยากจนตามแนวคิดเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม หรือ บีซีจี เพื่อยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือน
ดร.กาญจนา กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ เพื่อสรุปผลการระดมความคิดเห็น ก่อนนำเข้าสู่การประชุมสมัชชาสุขภาพ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 21-22 ธันวาคม 2565 โดยการประชุมระดมความเห็นทั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่าหลายองค์กร มีโมเดลที่เข้าไปช่วยยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือนได้ในหลากหลายมิติ รวมถึงมีกลไกใหม่ ๆ ผ่านการทำแซนด์บ็อกซ์เพื่อแก้ปัญหาความยากจน โดยร่วมมือกับจังหวัด ไปจนถึงท้องถิ่น และในส่วนของ สอวช. แม้จะเป็นการเข้าร่วมสมัชชาฯ เป็นครั้งแรก แต่ที่ผ่านมาเรามีนโยบายที่ให้ความสำคัญกับการขจัดความยากจน โดยพัฒนาควบคู่กับการยกระดับพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สอดรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ที่ได้บรรจุเรื่องขจัดความยากจนเป็นประเด็นสำคัญ ถือเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศที่ต้องฝ่ายต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหา นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้นำแนวทางโมเดลบีซีจีเข้าไปช่วยในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ในการประชุมเอเปค 2022 ที่ผ่านมาด้วย
ดร. กาญจนา กล่าวว่า บีซีจีเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย ดังนั้นจึงยังมีความเข้าใจที่หลากหลาย บางคนอาจมองเป็นเรื่องของการใช้เทคโนโลยี ซึ่งในส่วนของ สอวช. ที่ได้ดำเนินการมาระยะหนึ่ง โดยได้ใช้ความรู้ เชิงนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ ผนวกกับจุดแข็งของประเทศไทยเข้ามาแก้ปัญหา สร้างโอกาส สร้างงาน สร้างรายได้ ขยายโอกาส ในการประกอบอาชีพพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น การระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ เห็นว่าควรทำใน 2 แกนหลักคือ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ เพราะเชื่อว่าหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ปัญหาความยากจนจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
ดร.กาญจนา กล่าวว่า จากการประชุมระดมความเห็นที่ผ่านมา มีประเด็นที่นำมาถกกันในครั้งนี้ ประกอบด้วยกลุ่มหน่วยงานภาครัฐที่ขานรับเป็นเสียงเดียวกันว่า การใช้ บีซีจี แก้ปัญหาความยากจนควรเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนเพื่อให้เป็นหมุดหมายไปสู่เป้าหมายได้อย่างยั่งยืน โดยขณะนี้หลายหน่วยงานที่ขับเคลื่อน บีซีจี มีกลไกลงไปถึงระดับจังหวัดจนถึงระดับหมู่บ้าน มีโมเดลการทำงานในหลายมิติ เพื่อหากลไกใหม่ที่จะเชื่อมโยงไปสู่การแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน
ส่วนในกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และกลุ่มวิสาหกิจเพื่อชุมชน ได้ลงไปสนับสนุนและให้ความรู้คนในชุมชนให้นำวัตถุดิบที่มีบูรณาการเข้ากับความรู้ สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ เพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือน สามารถช่วยให้คนในพื้นที่ อยู่ร่วมพัฒนาพื้นที่ไม่หนีไปทำงานในเมือง ซึ่งหากคนรุ่นใหม่ไม่ทิ้งบ้านและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ความยากจนก็จะน้อยลง ในขณะที่วิสาหกิจชุมชนหลายราย มองว่าต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนความคิดของคนในชุมชนและพยายามทำความเข้าใจกับชุมชนว่า การตั้งวิสาหกิจชุมชน เพื่อรวบรวมสินค้าในพื้นที่ ให้มีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาดูแล นอกจากนี้ ผู้เข้าประชุมส่วนใหญ่ ยังให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า บีซีจี ไม่ได้ง่ายที่จะเข้าใจ แต่ก็ไม่ยากเกินที่จะเรียนรู้และควรจะปลูกฝังตั้งแต่ยังเด็ก
ส่วนกลุ่มภาคประชาชน ที่ส่วนใหญ่มาจากเครือข่ายยุติธรรมชุมชน มีการหารือกันถึงความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ โดยเฉพาะคนที่ไม่อยู่ในระบบฐานข้อมูลของการสำรวจความยากจน ที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิใด ๆ ได้ ต้องหาแนวทางว่าจะทำอย่างไรให้กลุ่มคนเหล่านี้ เข้าถึงสิทธิ เพื่อเชื่อมโยงกับทรัพยากรในพื้นที่ให้สามารถบริหารจัดการตัวเองได้ รวมไปถึงกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้าไม่ถึงการบริหารทรัพยากรในพื้นที่ของตัวเองด้วย
ดร.กาญจนา กล่าวว่า ปัญหาหลักของการบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วนยังมีความซ้ำซ้อนกันอยู่ในระบบของข้อมูลความยากจน ทำให้การแก้ปัญหาไม่ประสบผลสัมฤทธิ์เท่าที่ควร จึงควรเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมเข้ามาทำงานให้มากขึ้นเพื่อเชื่อมโยงการทำงานร่วมกัน ส่วนความเข้าใจเกี่ยวกับ การใช้ บีซีจี ในการแก้ปัญหาความยากจนนั้น ประชาชนและหน่วยงานในพื้นที่ รับทราบและสนับสนุนแนวคิด เพราะเชื่อว่าจะนําไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ความอยู่ดี มีสุขของคนไทย โดยเป็นการพัฒนาการอย่างมีดุลยภาพทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการรักษาเอกลักษณ์ของความเป็นไทย อนุรักษ์และใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า รวมทั้งเห็นด้วยกับการขับเคลื่อนการขจัดความยากจน ตามแนวคิดเศรษฐกิจบีซีจี ให้เป็นวาระแห่งชาติ และวาระการพัฒนาระดับจังหวัด
รองผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังได้เสนอให้มีการจัดทํายุทธศาสตร์การพัฒนาแบบมุ่งเป้าและแผนปฏิบัติการขจัดความยากจนในระดับจังหวัดเป็นการเฉพาะ บูรณาการกลไกการส่งต่อความช่วยเหลือกลุ่มคนยากจน กลุ่มเปราะบาง กลุ่มคนพิการ และกลุ่มผู้ด้อยโอกาส เข้าสู่ระบบสวัสดิการของรัฐ เชื่อมโยงกลุ่มที่มีศักยภาพสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ โดยบทบาทในการขจัดความยากจนควรถูกกระจายไปในหน่วยงานในทุกกระทรวงและทุกระดับตามภารกิจที่รับผิดชอบ เน้นการบูรณาการหน่วยงานในท้องถิ่นและท้องที่ เปิดโอกาสให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบาย กําหนดเป้าหมายในการขจัดความยากจนที่สอดคล้องกับความต้องการ ศักยภาพและอัตลักษณ์ของพื้นที่ และเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ โดยเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นเจ้าภาพ ในการบูรณาการการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยประสานการดําเนินงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน จัดทําโครงการปฏิบัติการแก้จน โดยระบบการทํางานควรมีความยืดหยุ่นในการทํางานเชิงพื้นที่ โดยเฉพาะการให้ บทบาท ความรับผิดชอบ และการจัดสรรงบประมาณ และจัดให้การติดตามประเมินผลแบบเสริมพลังต่อการดําเนินงานการขจัดความยากจน โดยขอให้มีการรายงานผลการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น “การขจัดความยากจนตามแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และติดตามวิเคราะห์ สถานการณ์เพื่อพัฒนานโยบายสาธารณะให้สอดคล้องกับสถานการณ์ใหม่อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง และรายงานผลการดําเนินงานทุกไตรมาสต่อคณะรัฐมนตรี