(7 ธันวาคม 2565) ผศ.ดร.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เข้าร่วมการเสวนาในหัวข้อ “แนวทางในการพัฒนาการทำงานร่วมกันเพื่อบ่มเพาะผู้มีศักยภาพด้านไอซีทีของประเทศไทย การสร้างระบบนิเวศผู้มีศักยภาพด้านดิจิทัลที่ยั่งยืน และการส่งเสริมการพัฒนาอย่าง ก้าวกระโดดของเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย” ในงาน Thailand Talent Transformation Symposium จัดโดย บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ
โดยงานในครั้งนี้ บริษัท หัวเว่ยฯ ได้ประกาศความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สถาบันอุดมศึกษาและพันธมิตรจากภาคอุตสาหกรรมในประเทศ ร่วมหารือเพื่อนำแนวทางมาพัฒนาบุคลากรไอซีที ต่อยอดสู่แผนแม่บทประเทศ พร้อมเปิดตัวโครงการบ่มเพาะด้านดิจิทัลที่หลากหลายและการแข่งขันสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยกว่า 200 คน ใน “ICT Competition 2022” เพื่อยกระดับระบบนิเวศด้านบุคลากรดิจิทัลในประเทศไทย
ว่าที่ร้อยเอกมนตรี มั่นคง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังคงเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลระหว่างชุมชนเมืองและชุมชนชนบท จึงเกิดเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวง อว. และหัวเว่ย ประเทศไทย ในการจัดทำและเผยแพร่สมุดปกขาว “การพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลของประเทศไทย (Thailand National Digital Talent Development)” ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมประเด็นปัญหาการขาดแคลนบุคลากรและความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล ความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นการสร้างโอกาสที่ดีในการพัฒนาบุคลากรไอซีทีให้แก่ประเทศ สอดคล้องกับนโยบายแผนแม่บทการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2565 – 2570) ที่มีเป้าหมายในการเตรียมความพร้อมให้บุคลากรทุกกลุ่มมีความรู้และทักษะที่เหมาะสมต่อการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพในยุคดิจิทัล
ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัลส่งผลให้เกิดภาวะการขาดแคลนแรงงานทักษะดิจิทัล โดยสมุดปกขาวหรือรายงานเชิงลึกระบุว่า ประเทศไทยจะเผชิญกับ
การขาดแคลนบุคลากรดิจิทัลถึงกว่า 500,000 คน ภายในปี พ.ศ. 2573 กระทรวง อว. จึงมุ่งให้ความสำคัญในการเร่งพัฒนาทักษะและเสริมองค์ความรู้ด้านดิจิทัลให้แก่บุคลากรรุ่นใหม่ให้มีคุณภาพและมีทักษะที่จำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยมีแนวทางในการพัฒนาหลักสูตรดิจิทัลสำหรับสถาบันการศึกษาไทย ส่งเสริม
การปฏิรูปการศึกษาทั้งด้านหลักสูตรและการปฏิบัติจริง สร้างบุคลากรดิจิทัลให้เพียงพอต่อความต้องการในภาคอุตสาหกรรมไทยในอนาคต
นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บุคลากรดิจิทัลนับเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลักสำคัญที่หัวเว่ยลงทุนอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย โดยหัวเว่ยได้ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวง อว. เผยแพร่สมุดปกขาว “การพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลของประเทศไทย” พร้อมระบุความท้าทายหลัก 11 ด้าน และข้อแนะนำด้านนโยบาย 5 ประการ โดยหัวเว่ยมุ่งที่ 3 แนวทางหลักในการพัฒนาบุคลากรที่มีศักยภาพ ประกอบด้วย ความเป็นผู้นำ ทักษะ และองค์ความรู้
นอกจากนี้ สมุดปกขาว “การพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลของประเทศไทย” ที่จัดทำร่วมกับ โรแลนด์ เบอร์เกอร์ (Roland Berger) บริษัทผู้ให้คำปรึกษาด้านการจัดการระดับโลก ได้ระบุถึงกรอบแนวคิดองค์รวม 5 ประการ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านบุคลากรไอซีที โดยจะมาจากการผสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ประกอบด้วย 1) การจัดทำนโยบาย การปรับมาตรฐาน และการติดตาม
การดำเนินการ 2) การพัฒนาทักษะ 3) การสร้างอาชีพและการหางานเพื่อรองรับบุคลากร 4) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และ 5) การระดมทุนและสนับสนุนเงินทุน
ด้าน ดร.พูลศักดิ์ ได้เผยให้เห็นบทบาทของ สอวช. ภายใต้กระทรวง อว. ในการผลักดันด้านนโยบาย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล โดย สอวช. ได้ขับเคลื่อนด้านนโยบายก่อนส่งต่อไปที่กองทุน โดยเฉพาะกองทุนสำคัญของกระทรวง อว. อาทิ กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือกองทุนส่งเสริม ววน. รวมถึงในอนาคตจะมีกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา ที่จะเน้นเรื่องการพัฒนากำลังคนด้วย และนโยบายยังได้ถูกส่งต่อไปที่หน่วยบริหารและจัดการทุน เพื่อเป็นแนวทางในการเปิดรับข้อเสนอในโปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล นอกจากนี้ สอวช. ยังมี One-Stop Service หรือ STEM-OSS ทำหน้าที่ประสานความร่วมมือในการสร้างคนหรือการวิจัยพัฒนาที่ตรงตามความต้องการภาคการผลิต บริการและการลงทุน ตลอดจนสนับสนุนการจ้างงานบุคลากรทักษะสูงตามมาตรการ Thailand Plus Package ซึ่งการให้บริการเหล่านี้ สามารถประสานงานร่วมกับภาคเอกชน สร้างการมีส่วนร่วมในการจัดโปรแกรมได้ เพื่อขยายให้มีพลังมากขึ้น ครอบคลุมตามเป้าหมายที่วางไว้ในสมุดปกขาวได้ง่ายขึ้น
ขณะที่ ในกลุ่มอาชีวศึกษา ปวช. ปวส. ปัจจุบัน มีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา สนับสนุนเรื่องเด็กยากจนให้เข้าสู่เส้นทางวิชาชีพ มีทุนปีละประมาณ 2,500 ทุน และส่วนหนึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล ซึ่งเราสามารถเชื่อมโยงหรือบูรณาการการทำงานกับกองทุนนี้ ในการให้ทุนการศึกษากับเด็กเหล่านี้ให้มากขึ้น โดยเฉพาะความร่วมมือจากภาคเอกชน หากบริษัทต่าง ๆ เข้ามาร่วมสนับสนุน ทำงานร่วมกัน ในการสรรหาคนดี
คนเก่ง และมหาวิทยาลัยช่วยพัฒนาในด้านวิชาการก็จะทำให้เราสามารถขยายจำนวนเด็กด้อยโอกาสให้เข้าสู่การศึกษา และเป็นผู้มีทักษะด้านดิจิทัล (digital talent) ต่อไปข้างหน้าได้ด้วย