ดร. กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เข้าร่วมเป็นผู้อภิปรายในเวทีเสวนา “The Business Innovation for the SDGs Forum” จัดโดย คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมของเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific: ESCAP) ร่วมกับ Agencia Presidencial de Cooperación International de Colombia (APC-Colombia) เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 ณ ศูนย์ประชุมแห่งสหประชาชาติ กรุงเทพฯ และผ่านระบบออนไลน์



การเสวนาในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อนำเสนอแนวคิดธุรกิจแบบมีส่วนร่วมที่เกื้อกูลสังคม (Social and Inclusive Business) ซึ่งจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติได้เร็วยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นเวทีสำหรับผู้กำหนดนโยบาย และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และลาตินอเมริกาในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดเห็น แบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดี โดยเฉพาะประเด็นการส่งเสริมนวัตกรรมทางธุรกิจ สนับสนุนโมเดลทางธุรกิจเพื่อสร้างความยั่งยืน และแนวทางการพัฒนาความร่วมมือใต้-ใต้ (South-South Cooperation) ระหว่างสองภูมิภาค โดยมีผู้เข้าร่วมจากเอเชีย-แปซิฟิก และลาตินอเมริกา

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินงานของภาคเอกชน ในการพัฒนาที่ทั่วถึงและยั่งยืน (Inclusive and Sustainable Development) นำนวัตกรรมมาใช้ในการทำงาน เกิดวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) และธุรกิจแบบมีส่วนร่วม (Inclusive Business) เพื่อตอบโจทย์ความท้าทายทางสังคมและสิ่งแวดล้อม นโยบายของภาครัฐ มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดธุรกิจเหล่านี้ โดย ดร. กาญจนา ได้ร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นการกำหนดนโยบายเพื่อการพัฒนาความร่วมมือใต้-ใต้ โดยได้ยกตัวอย่างโครงการความร่วมมือแบบใต้-ใต้ และไตรภาคี (South-South and Triangular Collaboration) ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ระหว่างประเทศกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ไทย เวียดนาม และ ESCAP



ดร.กาญจนา กล่าวถึงความสำคัญของการสร้างความร่วมมือแบบใต้-ใต้ว่า นวัตกรรมเป็นสิ่งที่ประเทศในกลุ่มนี้ต่างให้ความสำคัญ การสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่เหมาะสมเป็นสิ่งที่จะทำให้ประเทศเหล่านี้ได้ประโยชน์ร่วมกัน สำหรับกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว ไทย และเวียดนามนั้น มีประเด็นท้าทายและโอกาสที่คล้ายคลึงกัน เช่น การจัดการกับขยะพลาสติก และการนำนวัตกรรมมาใช้ในกระบวนการเพิ่มมูลค่าให้กับมันสำปะหลังซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ ในปัจจุบัน ประเทศไทยปรับบทบาทจากประเทศผู้รับ (Recipient Country) เป็นประเทศผู้ให้ (Donor Country) การสร้างแพลตฟอร์มที่เป็นกลางเพื่อทำงานในประเด็นที่ประเทศในภูมิภาคนี้มีความสนใจร่วมกันนั้น จะเอื้อต่อการระดมทรัพยากรจากองค์กรต่าง ๆ นอกจากนั้น ความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) เช่น ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) เปิดโอกาสทางการตลาดให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี การลงทุนร่วมกัน และการเข้าถึงตลาดเพิ่มขึ้น ในส่วนของการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนนั้น ดร.กาญจนา ได้ให้ความเห็นว่า ปัจจัยสำคัญ คือการสร้างความไว้วางใจกัน (Trust) โดยอาจเริ่มจากการแบ่งปันความรู้และข้อมูล นอกจากนั้น ภาครัฐควรกำหนดนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชน เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกัน

