messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. ปลื้ม สมัชชาสุขภาพครั้งที่ 15 ประกาศเจตนารมณ์ สนับสนุนการใช้แนวคิดเศรษฐกิจ บีซีจี ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ลดเหลื่อมล้ำ ขจัดยากจนข้ามรุ่น บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

สอวช. ปลื้ม สมัชชาสุขภาพครั้งที่ 15 ประกาศเจตนารมณ์ สนับสนุนการใช้แนวคิดเศรษฐกิจ บีซีจี ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ลดเหลื่อมล้ำ ขจัดยากจนข้ามรุ่น บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

วันที่เผยแพร่ 27 ธันวาคม 2022 714 Views

ภายหลังจาก สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นเจ้าภาพจัดงาน สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 15 “ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ โอกาสและความหวังอนาคตประเทศไทย” โดยมีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจากทั่วประเทศเข้าร่วมประชุมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) คือ หนึ่งในภาคีเครือข่าย ที่เป็นเจ้าภาพขับเคลื่อนในมิติ “การขจัดความยากจนตามแนวคิดเศรษฐกิจ BCG : การยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือน ซึ่งถือเป็นนโยบายสาธารณะที่มุ่งตอบโจทย์ประเด็นปัญหาสำคัญของประเทศ โดย สอวช. ได้จัดประชุมสมัชชาสุขภาพรายประเด็น ระดมความคิดเห็นไปยังจังหวัดต่าง ๆ รวมทั้งจัดประชุมระดมความคิดเห็น ร่วมกับภาครัฐ ผู้ประกอบการ และภาคีเครือข่าย ตลอดจนทำประชาพิจารณ์เสร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยมีฉันทามติว่าจะผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ

เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2565 ดร. กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า การขจัดความยากจนตามแนวคิดเศรษฐกิจ BCG  เป็นนโยบายสาธารณะ ที่มุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนและทุกระดับของสังคม ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและภาคประชาชนมีความรู้ รู้เท่าทันและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความยากจนที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยเสนอแนะแนวทางการบูรณาการในเชิงระบบ โครงสร้าง และประเด็นที่มีความแตกต่างกันไปตามบริบทของพื้นที่ ผ่านการประยุกต์ใช้แนวคิดโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน BCG Model ที่เป็นการนำองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีอย่างครบวงจร มาหนุนเสริมทุนทางธรรมชาติ ทุนทางศาสนา ความเชื่อ และวัฒนธรรม โดยไม่ขัดกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ผ่านมา

ดร.กาญจนา กล่าวว่า  เพื่อเป็นการสร้างโอกาสในการยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือนฐานรากมุ่งเน้นในเรื่องความสามารถด้านการบริหารการเงินโดยการเพิ่มรายได้และลดรายจ่าย โดยใช้ กรอบนโยบาย ใน 4 มติ คือ 1.การพัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลคนจนแบบแม่นยำและมุ่งเป้าควบคู่ไปกับการค้นหาสาเหตุความยากจน 2. การบูรณาการกลไกการทำงานการขจัดความยากจนในระดับพื้นที่ ตามแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน Bio-Circular-Green Economy: BCG Model 3. การเสริมสร้างศักยภาพมนุษย์ พัฒนาทักษะอาชีพ สร้างผู้ประกอบการ BCG แก้จน และชุมชน BCG และ 4. การปรับโครงสร้างการบริหารและกลไกสนับสนุนเพื่อกระจายโอกาสสู่กลุ่มฐานราก

“โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบต่อสังคมของทุกภาคส่วน ก่อให้เกิดเครือข่ายพลังของภาคประชาชนที่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนวิธีคิดและพฤติกรรมใหม่ ตลอดจนแนวทางการทำงานที่นำไปสู่การสร้างเสริมสุขภาพและภาวะแวดล้อม สร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการเรียนรู้ การศึกษาและสังคม มุ่งเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในระดับสังคมและชุมชน ตอบโจทย์การสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำของประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตครัวเรือน ขจัดความยากจนข้ามรุ่น และการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการจัดการในเชิงระบบ ทั้งนี้ การตีความแนวคิดเศรษฐกิจ BCG และการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการฯ จะต้องไม่นำไปสู่การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนทั้งในระดับสังคมและระดับชุมชน สอดรับกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นหลักสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย” รองผู้อำนวยการ สอวช. กล่าว

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ของเครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพื่อร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายหลักของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 โดยจะสนับสนุนให้มีการใช้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG  เพื่อยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือนฐานราก ลดความเหลื่อมล้ำ ขจัดความยากจนข้ามรุ่น และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 

ด้าน นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ครั้งที่ 15 พ.ศ.2565 กล่าวว่า การประกาศเจตนารมณ์ของทุกฝ่ายในครั้งนี้ ถือเป็นการให้คำมั่นสัญญาที่ทุกฝ่ายได้ร่วมกันสร้างฉันทมติและเดินหน้าขับเคลื่อน ในมติที่การขจัดความยากจนตามแนวคิดเศรษฐกิจ BCG: การยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือน มีเนื้อหาที่มุ่งให้ทุกภาคส่วนของสังคม มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความยากจน ผ่านการประยุกต์ใช้แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG ที่มีการนำองค์ความรู้และนวัตกรรม มาหนุนเสริมทุนทางธรรมชาติและทุนทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างโอกาสในการยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือนฐานราก

เรื่องล่าสุด