เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ดร.ศรวณีย์ สิงห์ทอง ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายเพื่อความยั่งยืน กลุ่มนโยบายเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้บรรยายเรื่อง “กรอบนโยบายนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน” ในงานสัมมนา “มาตรฐานและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน” จัดโดย สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ณ ห้องประชุม 230 สมอ. และผ่านระบบออนไลน์ โดยงานสัมมนาในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานการจัดการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน การประยุกต์ใช้ในองค์กรและการขับเคลื่อน ตลอดจนรับฟังข้อคิดเห็นต่อแนวทางในการกำหนดมาตรฐานเศรษฐกิจในอนาคต มีผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ที่ปรึกษา สถาบันการศึกษา หน่วยงานวิจัย และหน่วยรับรองรวมกว่า 200 คน
ดร.ศรวณีย์ ได้กล่าวถึงเหตุผลหลักที่ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน จากข้อจำกัดของทรัพยากรที่เริ่มมีอัตราการลดลง 1.3 ต่อปี เกิดการแย่งการใช้ทรัพยากร จนนำไปสู่ต้นทุนการผลิตและบริการที่สูงขึ้น รวมทั้งประเทศไทย โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดเป้าหมายที่ไทยจะไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 และเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy: CE) จะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 39% อีกทั้งยังมีประเด็นเรื่องมาตรการทางการค้าที่สหภาพยุโรปจะเริ่มจัดเก็บภาษีคาร์บอนในปี พ.ศ. 2566 และสร้างข้อต่อรองในการเจรจาการค้า มาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษีศุลกากร ที่สำคัญจากประเทศคู่ค้าอื่นๆ นอกจากนี้การขับเคลื่อนในเรื่องนี้ ยังช่วยดึงดูดนักลงทุน เพิ่มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) เนื่องจากตลาดรีไซเคิลในต่างประเทศมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง และตลาดสินค้ามือสอง ในเอเชียยังเติบโตรวดเร็วเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นด้วย
ในส่วนของระบบนิเวศนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทย ต้องให้ความสำคัญใน 4 ด้าน ตั้งแต่ด้านนโยบาย ในการมีข้อตกลง ข้อริเริ่มของภาคเอกชนในระดับนานาชาติ กฎ ระเบียบ พันธกรณี ระหว่างรัฐบาล รวมถึงการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในระดับประเทศ ด้านโครงสร้างและปัจจัยเอื้อ มีการสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถ มีระบบการรับรองคุณภาพ/มาตรฐาน มีโปรแกรมการวิจัยและพัฒนา มีกฎ ระเบียบ แรงจูงใจทางการเงิน มีเครื่องมือการลงทุน และมีการส่งเสริมการขายและส่งออก ด้านผู้ประกอบการ จะต้องเข้าไปสนับสนุนทั้งในด้านข้อมูล แพลตฟอร์ม การออกแบบ การใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เข้าไปช่วย สร้างให้เกิดโมเดลธุรกิจใหม่ วงจรการใช้ทรัพยากรหรือการใช้วัตถุดิบแบบใหม่ และด้านประชาชน ในการเข้าไปสร้างความตระหนัก ขับเคลื่อนเชิงสังคม พฤติกรรมการบริโภค และการจัดเก็บวัสดุส่งคืนผู้จัด เป็นต้น
สำหรับกรอบการพัฒนายุทธศาสตร์เศรษฐกิจหมุนเวียน ค.ศ. 2030 ของประเทศไทย ตั้งเป้าลดการใช้ทรัพยากรลง 1 ใน 3 ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างน้อย 30 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ และสร้างมูลค่าจากเศรษฐกิจหมุนเวียน 3% ของจีดีพี โดยการกระตุ้นผู้ประกอบการ จะต้องเริ่มตั้งแต่การออกกฎ ระเบียบ เช่น หลักการที่ขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility: EPR) Zero waste ที่ต้องกำหนดให้เป็นข้อบังคับในบางสาขาของผู้ประกอบการ เป็นต้น แรงจูงใจทางการเงิน/การคลัง เช่น ภาษี เครื่องมือของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เครื่องมือในการลงทุนต่าง ๆ รวมถึงการส่งเสริมการขายและการส่งออกด้วย
โดย 7 Flagship สำคัญในการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน ได้แก่ 1) การแลกเปลี่ยนของเสีย/วัสดุเหลือใช้ซึ่งกันและกัน (Waste Symbiosis) การขนส่งสินค้าคืนสู่ผู้ขายและรีไซเคิล (Reverse Logistic & Recycle) โดยอาจทดลองทำในรูปแบบแซนด์บ็อกซ์ในบางพื้นที่ ให้เห็นรูปแบบการเก็บกลับของวัสดุ 2) การสร้างความตระหนักและสร้างขีดความสามารถ (Capacity Building & Awareness) เห็นได้จากแพลตฟอร์มออกแบบหมุนเวียน (Circular Design) ที่ สอวช. ทำร่วมกับ CIRCO ประเทศเนเธอแลนด์และสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ซึ่งในปีนี้ตั้งเป้าพัฒนา 600 ผู้ประกอบการผ่านแพลตฟอร์มนี้ ที่จะช่วยริเริ่มไอเดีย และพัฒนาโมเดลธุรกิจ เป็นการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ให้ผู้ประกอบการมองเห็นตลอดห่วงโซ่คุณค่าในการผลิตและนำไปปรับโมเดลธุรกิจให้เหมาะสม 3) การจัดซื้อสินค้าสีเขียว (Green Purchasing) ต้องมองถึงมาตรการการสนับสนุนการขยับสู่การค้าระหว่างผู้ค้ากับหน่วยธุรกิจ (Business to Business: B2B) ทำให้เกิดผลกระทบที่สูงขึ้นและเกิดตลาดอย่างรวดเร็ว 4) ปลดล็อกการออกกฎ ระเบียบในบางประเด็นที่ยังคงเป็นอุปสรรคการดำเนินการและโอกาสต่างๆ 5) การทำ CE Solution Platform ที่จะเข้าไปช่วยผู้ประกอบการแก้ปัญหาหรือสร้างนวัตกรรมให้เกิดการดำเนินการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนต่อไปได้ 6) CE Guideline เป็นสิ่งที่ช่วยยกระดับการทำให้ผู้ประกอบการเห็นแนวทางในการพัฒนาในแต่ละขั้นและมีมาตรฐาน และ 7) ร่างกฎหมายส่งเสริม CE เห็นกติกากลางและเครื่องมือสนับสนุน นำไปสู่การขับเคลื่อนร่วมกันได้ทุกภาคส่วนอย่างเป็นระบบ
ที่ผ่านมา สอวช. โดย ศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค (APEC Center for Technology Foresight) ยังได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการคาดการณ์เทคโนโลยีรองรับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy Technology Foresight Workshop) เพื่อระบุประเด็นสำคัญ ข้อเสนอการแก้ไขปัญหา ปัจจัยสนับสนุนสำคัญ รวมทั้งกลไกความร่วมมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อนำไปสู่การจัดทำแผนที่นำทางเทคโนโลยีรองรับเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับกลุ่มเขตเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก โดยได้จัดการประชุมรวม 2 ครั้ง และมีการเชื่อมโยงข้อมูลที่ได้กับการประชุมเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่ง สอวช. ได้มีส่วนในเสนอประเด็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียนเข้าไปใน Bangkok Goals Statement ที่เกิดขึ้นหลังการประชุมในครั้งนี้ด้วย
“ข้อสรุปจากการประชุมเอเปคเห็นตรงกันว่า ควรมีการตั้งเป้าหมายและการดำเนินการในเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนร่วมกันในเขตเศรษฐกิจ ดังนั้นควรจัดกิจกรรมร่วมกันในเรื่องโมเดลธุรกิจใหม่ในภูมิภาค หาแนวปฏิบัติที่ดี รวมถึงพยายามตั้งกองทุนในการสนับสนุนให้เกิดการดำเนินงานได้จริง เกิดการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี ทำให้ทุกเขตเศรษฐกิจสามารถทำเศรษฐกิจหมุนเวียนร่วมกันได้ และต้องมีตัวชี้วัดความก้าวหน้าในการดำเนินงาน โดยจะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนมีความสำคัญและโอกาสอย่างมาก ประเทศไทยต้องเริ่มเอาจริงว่าเราจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งเรื่องมาตรฐานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนก็เป็นหนึ่งในประเด็นที่ได้ให้ความสำคัญ โดยมีการจัดประชุมเฉพาะในหัวข้อนี้ของคณะอนุกรรมการด้านมาตรฐานและการรับรองของเอเปค (The Sub-Committee on Standards and Conformance, SCSC) เช่นกัน” ดร.ศรวณีย์ กล่าว