สอวช. ร่วมกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific: UNESCAP) สมาคมมหาวิทยาลัยภาคพื้นแปซิฟิก (Association of Pacific Rim Universities: APRU) มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University: ANU) และพันธมิตรภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนโครงการ “AI for Social Good: Strengthening Capabilities and Government Frameworks in Asia and the Pacific” (ชื่อย่อ AI for Social Good) ครั้งที่ 2 ผ่านระบบทางไกล เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2566 เพื่อพิจารณาร่างงานวิจัยและข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความสามารถและกรอบการกำกับดูแลที่จะสนับสนุนและส่งเสริมการใช้ประโยชน์ปัญญาประดิษฐ์เพื่อสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ
การประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการ “AI for Social Good” ครั้งนี้ ดำเนินการต่อเนื่องจากการประชุมเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2565 ซึ่ง สอวช. และเครือข่ายพันธมิตรภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ได้ร่วมกันพิจารณาและให้ความเห็นต่อการนำเสนอเค้าโครงงานวิจัยเกี่ยวกับนโยบายปัญญาประดิษฐ์ โดยมีทีมวิจัยที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 4 ทีม ได้แก่ ทีมของประเทศไทย จำนวน 2 ทีมในหัวข้อ 1) “Responsible Data Sharing, AI Innovation and Sandbox Development: Recommendations for Digital Health Governance in Thailand” และ 2) “Raising Awareness of the Importance of Data Sharing and Exchange to Advance Poverty Alleviation in Thailand” และทีมของสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ จำนวน 2 ทีมในหัวข้อ 1) “AI in Pregnancy Monitoring: Technical Challenges for Bangladesh” และ 2) “Mobilizing AI for Maternal Health in Bangladesh” โดยสถานะปัจจุบันการดำเนินการจัดทำงานวิจัยทั้ง 4 ฉบับ/หัวข้อ ทีมวิจัยหลักได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐและเครือข่ายมหาวิทยาลัยภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ส่งผลทำให้งานวิจัยได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบและมีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก
ในโอกาสนี้ ดร.กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการ สอวช. หัวหน้าโครงการ AI for Social Good (ฝ่ายไทย) ได้กล่าวขอบคุณทีมวิจัยและพันธมิตรภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในความทุ่มเทดำเนินงานวิจัยและมีความคืบหน้าเป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังได้ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะว่า การวิจัยที่ดีควรมีความสมดุลอย่างเหมาะสมระหว่างความเป็นวิชาการและความเป็นไปได้ที่จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมต่อไป
ในช่วงการอภิปรายให้ความเห็นและข้อเสนอแนะ ผู้แทนฝ่ายไทย ได้แก่ ดร.คมเมธ จิตวานิชไพบูลย์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายคาดการณ์อนาคต สอวช. ดร.สุทธิพงศ์ ธัชยพงษ์ นักวิจัยอาวุโสและหัวหน้าทีมวิจัยการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) ดร.วราสิณี ฉายแสงมงคล อาจารย์ประจำสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (FIBO มจธ.) เป็นต้น ได้ร่วมพิจารณาให้ความเห็นอันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางานวิจัย เพื่อการใช้ประโยชน์เชิงสาธารณะและการนำองค์ความรู้จากการวิจัยไปใช้ในการพัฒนาสังคมและประเทศได้อย่างเต็มที่
อนึ่ง งานวิจัยทั้ง 4 ฉบับมีกำหนดจะแล้วเสร็จและนำเสนอในการประชุมระดับประเทศและภูมิภาคในช่วงปลายปี 2566 ทั้งนี้ สามารถติดตามความคืบหน้าได้ที่เว็บไซต์และสื่อประชาสัมพันธ์ของ สอวช. www.nxpo.or.th สวทช. www.nectec.or.th และ APRU www.apru.org
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ:
“APRU on Bloomberg: The next stage: APRU-Google-UN ESCAP AI for Social Good Project now working directly with government agencies”
“‘AI for Social Good: Strengthening Capabilities and Government Frameworks in Asia and the Pacific’ informing AI Policies and Strategies in Thailand”