สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สอวช.) ร่วมกับเครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย (SDSN Thailand) และเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย (SUN Thailand) ได้จัดกิจกรรมภายใต้งานประชุม Side Meeting หัวข้อ “Collaborative actions towards Thailand Net Zero driven by University Network” ในการประชุมรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล (Prince Mahidol Award Conference: PMAC) เป็นงานประชุมวิชาการด้าน Global Health ระดับนานาชาติ ประจำปี 2566 ภายใต้หัวข้อเรื่อง “Setting a New Health Agenda: At the Nexus of Climate Change, Environment and Biodiversity” ในวันที่ 25 มกราคม 2566 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ โดยมีวัตถุประสงค์แลกเปลี่ยนเชื่อมโยงพัฒนาเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืน และกิจกรรมของสถาบันอุดมศึกษาอื่น ๆ สู่การเป็นแพลตฟอร์มขับเคลื่อนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ของประเทศไทย
ในเวทีเสวนาช่วงแรก รศ.ดร.กิติกร จามรดุสิต รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำเสนอที่มาและทิศทางการดำเนินงานของเครือข่าย SUN และผู้แทนจาก SDSN ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอกรอบแนวคิดเชิงนโยบายและมุมมองที่ท้าทายในด้านต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนเป้าหมาย Net Zero ของประเทศไทย ผ่านกลไกเครือข่ายมหาวิทยาลัยและเครือข่ายอื่น ๆ รวมถึง ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สอวช. กลุ่มนโยบายเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ได้สรุปภาพรวมการเสวนาในครั้งนี้และนำเสนอถึงบทบาทสำคัญของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ สอวช. ที่มีทั้งหน่วยงานรัฐและมหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพ องค์ความรู้ นวัตกรรม และผู้เชี่ยวชาญที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันและขับเคลื่อนเป้าหมาย Net Zero ของประเทศไทยร่วมกับภาคส่วนต่างๆ อาทิ ชุมชนและภาคเอกชนต่อไป โดย ดร.ศรวณีย์ สิงห์ทอง ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายเพื่อความยั่งยืน สอวช. และนายนรชัย รังสีวิจิตรประภา ผู้เชี่ยวชาญนโยบาย สอวช. เป็นผู้ดำเนินรายการ
นอกจากนี้ ได้มีการจัดกิจกรรม Policy Design Workshop ร่วมกับผู้เข้าร่วมประชุม โดยมี ดร.สุชาต อุดมโสภกิจ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สอวช. เป็นกระบวนกร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยสมาชิกจากเครือข่าย SUN Thailand ผู้แทนจากเครือข่าย ONE Health และผู้แทนจากตลาดหลักทรัพย์เข้าร่วมกิจกรรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ผลลัพธ์ที่ได้จากการจัดกิจกรรมจะเป็นจุดเริ่มต้นของการออกแบบวิสัยทัศน์และแนวทางการทำงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดการดำเนินงานในรูปแบบเครือข่ายของเครือข่าย (Network of Network) เชื่อมโยงเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้บทบาทของมหาวิทยาลัยในการผลักดันและขับเคลื่อนเป้าหมาย Net Zero ของประเทศไทยในรูปแบบแพลตฟอร์ม มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green Campus) และการนำเอาศักยภาพและความสามารถทางวิทยาการและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยไปสนับสนุนภาคการผลิตและบริการ ชุมชน สังคม (Green Innovation) โดยอาศัยแพลตฟอร์มการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงทรัพยากรและองค์ความรู้เชื่อมต่อระหว่างหน่วยงานภายในประเทศและระดับนานาชาติอย่างเป็นระบบ เพื่อช่วยส่งเสริมและต่อยอดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก สนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่หนุนเสริมภาคส่วนต่าง ๆ ในการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านการทำงานในรูปแบบเครือข่ายต่อไป