messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » เปิดแผนยุทธศาสตร์ สอวช. 5 ทิศทางขับเคลื่อนประเทศ ด้วย อววน. สู่เป้าหมาย…ประเทศพัฒนาแล้วภายใน ปี’80

เปิดแผนยุทธศาสตร์ สอวช. 5 ทิศทางขับเคลื่อนประเทศ ด้วย อววน. สู่เป้าหมาย…ประเทศพัฒนาแล้วภายใน ปี’80

วันที่เผยแพร่ 26 มกราคม 2023 1375 Views

ประเทศไทยกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง หลังเปิดศักราชใหม่เป็นต้นมา ด้วยสถานการณ์โควิด 19 เริ่มคลี่คลาย รัฐบาลประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่น ส่งสัญญาณบ่งบอกถึงการสิ้นสุดของการระบาดใหญ่ ส่งผลให้ธุรกิจเริ่มคึกคักในหลาย ๆ ภาคส่วนสำคัญ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว ที่คาดการณ์กันว่า จะฟื้นตัวก่อนใคร 

ในปีที่ผ่านมา สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการทำนโยบายสำคัญ ขับเคลื่อนการทำงาน ทั้งในด้านการพัฒนาระบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อววน.) ของประเทศให้ก้าวหน้าและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากระบบ อววน. ให้เกิดประสิทธิผลต่อการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ด้วยหวังว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการฟื้นฟู และนำพาประเทศไทยไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2580 ให้ได้

5 ทิศทางขับเคลื่อนประเทศ

โดยในปี 2566 นี้ สอวช. จะร่วมขับเคลื่อนประเทศไปในทิศทางใด ไปฟังคำตอบ จาก ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช.

สอวช. จะดำเนินการ ใน 5 ทิศทางหลัก คือ ทิศทางแรก ยกระดับประเทศไทยให้หลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง โดยใช้ 2 มาตรการหลักคือสร้างผู้ประกอบการธุรกิจฐานนวัตกรรม หรือ Innovation Driven Enterprise (IDE)  โดยเน้นการพัฒนามาตรการและกลไกส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจนวัตกรรม สู่การเติบโตแบบก้าวกระโดด ผ่านกลไกสำคัญคือ การส่งเสริมการจัดตั้ง Holding Company ของมหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัย ร่วมลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมและ Deep-tech Startups รวมถึงการปลดล็อกให้หน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะองค์การมหาชนในกระทรวง อว. ให้สามารถร่วมลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมได้จริง อีกหนึ่งกลไกคือ การพัฒนา “E-Commercial and Innovation Accelerator” เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการนวัตกรรมให้สามารถขยายการผลิตและส่งสินค้าสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยใช้ความเชี่ยวชาญเดิมของอุทยานวิทยาศาสตร์ มาพัฒนาเพิ่มเติม เพิ่มกลไกด้านการผลิตและตลาด เชื่อมโยงกับผู้ผลิตและผู้กระจายสินค้าในพื้นที่ นอกจาก นี้ยังได้สร้างต้นแบบเครือข่ายที่ปรึกษาทางด้านธุรกิจนวัตกรรมและการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการนวัตกรรมให้สามารถเข้าถึงตลาดโลกได้ พร้อมทั้งออกแบบมาตรการการลงทุนของภาครัฐเพื่อดึงดูดการลงทุนของภาคเอกชน ในสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพให้สามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด

อีกมาตรการคือ การเตรียมความพร้อมรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เพื่อความพร้อมเป็นหัวรถจักรชุด ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ คือสาขาการผลิตและบริการใหม่ ๆ อาทิ มุ่งเน้น อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต หรือ Future Food ของไทย ผลิตอาหารฟังก์ชั่น หรือ Functional ingredients ที่ได้มาตรฐานสากลและแข่งขันได้ในระดับโลก อีกสาขาคือ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ฐานนวัตกรรมโดยส่งเสริมให้ไทยเป็นฮับ  Creative Content ที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียน และสาขายานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง หรือ EV Conversion แก้ปัญหาพลังงานและเร่งเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เป็นต้น

ทิศทางที่ 2 การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและลดความเหลื่อมล้ำด้วย อววน. ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า ในปี 2566  สอวช. จะเน้นการออกแบบกลไกสนับสนุนการยกสถานะทางสังคมของคนหรือครัวเรือน ในประชากรฐานราก 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเยาวชน ให้มีหลักประกันโอกาสทางการศึกษาและเข้าสู่เส้นทางอาชีพ โดยการพัฒนา Inclusive Higher Education Platform เพื่อให้มีโอกาสใช้ประโยชน์ หรือ เข้าถึงอุดมศึกษาที่เหมาะสม อีกกลุ่มคือ คนวัยทำงาน ให้เข้าถึงตำแหน่งงานทักษะกลาง-สูง เน้นยกระดับศักยภาพแรงงานเชื่อมโยงสู่การจ้างงาน โดยใช้กลไกการพัฒนากำลังคน Reskill/ Upskill Account เพื่อส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรค่าตอบแทนสูงหรือ Premium Workers รวมทั้งกระตุ้นการจ้างงานแรงงานกลุ่มฐานรากผ่านการอุดหนุนค่าจ้าง ค่าอบรม ร่วมกับภาคเอกชน และกลุ่มสุดท้ายคือ ผู้ประกอบการชุมชน โดย ส่งเสริมการสร้างผู้ประกอบการชุมชน สร้างเครือข่ายที่มีความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม ศึกษาแนวทางการขยายพื้นที่ดำเนินงานในระดับจังหวัดกลุ่มจังหวัด และการติดตามประเมินผล

ทิศทางที่ 3 ลดก๊าซเรือนกระจก 10 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดย สอวช. ส่งเสริมผู้ประกอบการให้เกิดการปรับตัวตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศและสอดคล้องกับมาตรการของนานาชาติ โดยตั้งเป้าหมายการทำงาน “50% ของบริษัทส่งออกบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)และมีแผนสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions)” โดยมีแนวทางการขับเคลื่อน สร้างเมืองต้นแบบที่ จ.สระบุรี และ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง และพื้นที่ EEC คือ จ.ระยอง ให้เป็นจังหวัดต้นแบบที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ สร้างระบบเมืองน่าอยู่เชิงนิเวศน์ เพื่อลดปัญหาหมอกควันไฟป่า และสนับสนุนการทำงานของวิสาหกิจชุมชน อีกแนวทางหนึ่งคือ การพัฒนาให้เกิดมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green Campus) พัฒนาเครือข่ายมหาวิทยาลัยในบทบาทผู้ให้บริการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Service Provider) สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของภาคส่วนต่างๆ โดยใช้ของมหาวิทยาลัยในการลดก๊าซเรือนกระจกภายในมหาวิทยาลัย และขยายการให้บริการ ออกไปสู่สังคมด้วย

ทิศทางที่ 4 สัดส่วนแรงงานทักษะสูง เพิ่มขึ้นเป็น 25% ในปี 2570 ซึ่ง ดร.กิติพงค์ ให้ความเห็นว่า กำลังคนสมรรถนะสูงในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2562 พบการรายงานเพียง 13.8%  ซึ่งยังคงเป็นสัดส่วนที่ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ดังนั้น เพื่อไปสู่เป้าหมายสัดส่วน 25%  สอวช. จึงดำเนินการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยการออกแบบระบบสนับสนุนการพัฒนาแพลตฟอร์ม Upskill/Reskill/New Skill (URN): STEM One Stop Service (STEM-OSS) ระบบการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศไทย (E-Workforce Ecosystem (EWE) Platform) ที่เป็นตัวกลางสำคัญในการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลสำคัญด้านกำลังคนสมรรถนะสูง เพื่อต่อยอดและนำไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบายและทิศทางการพัฒนากำลังคนของประเทศ ให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานและอุตสาหกรรมในอนาคต นอกจากนี้ ยังได้จัดทำมาตรการส่งเสริมการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง รวมทั้งพัฒนาข้อเสนอกลไกการพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศด้วย

ดร.กิติพงค์ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน สอวช. ยังได้ดำเนินการ พลิกโฉมระบบการอุดมศึกษาให้ตอบโจทย์อนาคต โดยสภานโยบายฯ ออกข้อกำหนดว่าด้วยการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา หรือ Higher Education Sandbox ให้เป็นระบบและกลไกรองรับสำหรับสนับสนุนการทดลองจัดการศึกษาเชิงนวัตกรรมในระดับอุดมศึกษา ผ่านการจัดการศึกษารูปแบบใหม่โดยจะศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลความต้องการกำลังคนทักษะสูงในสาขาที่เป็นความต้องการสูงแบบเร่งด่วนของประเทศ และทดลองนำร่องกลไกในรูปแบบ Co-creation ทำงานร่วมกันระหว่างภาคการศึกษา ภาคผู้ประกอบการ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

ทิศทางที่ 5 ปฏิรูประบบ อววน. ซึ่ง ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า ปี 2566 สอวช. จะดำเนินการปฏิรูประบบ อววน. ทั้งในมิติ โครงสร้างของหน่วยงาน ระบบงบประมาณและการประเมินผลนโยบาย โดยได้กำหนดชิ้นงานสำคัญที่จะดำเนินการ คือ 1. จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางด้านศิลปะ สุนทรียะ อารยะ เพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อทำหน้าที่บ่มเพาะวัฒนธรรมไทย ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น ศิลปะและการช่างชั้นสูง อนุรักษ์มรดกทางศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ และสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยมุ่งเน้นการสร้างคุณค่าและรักษารากวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งรวมถึงศิลปะไทย สถาปัตยกรรมไทยและการช่างไทย อาหารไทย ดนตรีและนาฏศิลป์ไทย จารีตประเพณี ภูมิปัญญาและวิถีไทย และความรู้เกี่ยวกับประเทศและวัฒนธรรมไทยทุกมิติ เพื่อสร้าง ส่งเสริม และพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมไทย บุคลากรด้านศิลปะ สุนทรียะ อารยะ นวัตกรรมและผู้ประกอบการที่ใช้ทุนทางวัฒนธรรมและทุนทางปัญญามาสร้างสรรค์ผลงานเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของไทย เพื่อสร้างสังคมอันดีงาม

2. จัดทำ National Quality Infrastructure (NQI) System Alignmentเพื่อการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ ตลอดจนการพัฒนาการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพ การปรับปรุงการให้บริการ การปรับปรุงมาตรฐาน และการกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพิ่มขีดความสามารถการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ อันจะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพของภาคการผลิตและภาคอุตสาหกรรม และยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้

มาตรการฟื้นฟูประเทศเร่งด่วนหลังโควิด 

ผู้สื่อข่าวถามถึง มาตรการฟื้นฟูประเทศอย่างเร่งด่วน ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของภาคอุตสาหกรรมมากมาย โดยเฉพาะกิจกรรมในภาคการผลิตที่จำเป็นต้องเร่งเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล และปรับไปใช้ระบบอัตโนมัติ ส่งผลให้ความต้องการกำลังแรงงานเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งการเปลี่ยนแปลงข้างต้นส่งผลกระทบอย่างมากต่อรูปแบบการจ้างงาน ทักษะและสมรรถนะใหม่ที่จำเป็นของแรงงาน การเกิดอาชีพใหม่ รวมถึงตำแหน่งงานบางประเภทจะหายไปหรือมีจำนวนน้อยลง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของตำแหน่งงานที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต สอวช. จึงได้ดำเนินงานพัฒนานโยบาย มาตรการและกลไก โดยการใช้ อววน. ครอบคลุมการดำเนินงานเป็น 2 ส่วน คือ การพัฒนาแพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงรองรับการลงทุนซึ่งประกอบด้วยการพัฒนาศูนย์ประสานงานและบริการเบ็ดเสร็จ (STEM One-Stop Service) ภายใต้แพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงตอบการลงทุนของภาคการผลิตและบริการ ซึ่งทำหน้าที่ในการเชื่อมโยงระหว่างภาคอุตสาหกรรมที่มีความต้องการกำลังคนในรูปแบบต่างๆ และภาคการศึกษาซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ รวมถึงพัฒนากลไกการดำเนินงานเพื่ออำนวยความสะดวกในด้านสิทธิประโยชน์ให้แก่ภาคเอกชน ตามมาตรการ Thailand Plus Package เพื่อรับรองหลักสูตรฝึกอบรมสำหรับการพัฒนาบุคลากรและการจ้างแรงงานลูกจ้างที่มีทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ โดยร่วมกับกรมสรรพากร จัดให้มีมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้ นิติบุคคล 200% สำหรับค่าใช้จ่ายอบรมบุคลากรในหลักสูตรที่ สอวช. รับรอง และ 150% สำหรับค่าใช้จ่ายเงินเดือนที่เกิดจากการจ้างงานบุคลากร ทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีในตำแหน่งที่ สอวช. รับรอง รวมไปถึงการร่วมกับกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของบีโอไอ ในการสนับสนุนทางการเงินสำหรับบริษัท Start up ในการอบรมบุคลากรในหลักสูตรที่กระทรวง อว.ให้การรับรองสูงสุดถึง 100,000 บาท รวม 5 ล้านบาทต่อบริษัท หรือค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการจ้างงานบุคลากรทักษะสูง โดยมีวงเงินสนับสนุน

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) จัดทำแผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลเพื่อขับเคลื่อนประเด็นสำคัญของประเทศ พ.ศ. 2566 – 2570 และร่วมกับกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) แผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์  มหาวิทยาลัยราชภัฏ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – พ.ศ. 2570) โดย สอวช. สนับสนุนเครื่องมือและกระบวนการ Policy Design Process เพื่อแปลงวิสัยทัศน์เเละพันธกิจของหน่วยงานให้เป็นนโยบายที่จับต้องได้ผ่านแพลตฟอร์มพัฒนานโยบายนวัตกรรม Thailand Higher Education and Innovation Policy Accelerator (THIPA) เป็นแผนที่นำทางในการดำเนินงานที่สอดรับสถานการณ์โลก

ผลงานชิ้นโบว์แดง..ขับเคลื่อน BCG สู่เวทีเอเปค

สอวช. โดยศูนย์คาดการณ์อนาคต ได้ขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งต่อมาได้จัดทำโครงการ Circular Economy Technology Foresight ร่วมกับเขตเศรษฐกิจไทเป ชิลี และอินโดนีเซีย โดยได้สำรวจความต้องการและโอกาสทางการตลาดของเทคโนโลยีที่มีความต้องการหรือจำเป็น และประเมินศักยภาพด้านเทคโนโลยีและจัดทำแผนที่นำทางเทคโนโลยีด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับเขตเศรษฐกิจเอเปค พร้อมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาที่ยืดหยุ่นและยั่งยืนของภูมิภาคเอเปค โดยมีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “Circular Economy Technology Foresight” จำนวน 2 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 127 คน จาก 14 เขตเศรษฐกิจในเอเปค และ 5 ประเทศนอกเอเปค โดยผลลัพธ์ที่ได้ถูกนำไปเสนอในเวทีการประชุม Policy Partnership on Science, Technology and Innovation ครั้งที่ 20 ที่จัดขึ้นในประเทศไทย และมีการเชื่อมโยงข้อมูลที่ได้กับการประชุมเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่ง สอวช. ได้มีส่วนในเสนอประเด็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียนเข้าไปใน Bangkok Goals on Bio-Circular-Green (BCG) Economy ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค เป็นกรอบแนวทางความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า ข้อสรุปจากการประชุมเอเปคเห็นตรงกันว่า ควรมีการตั้งเป้าหมายและการดำเนินการในเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนร่วมกันในเขตเศรษฐกิจ ดังนั้นควรจัดกิจกรรมร่วมกันในเรื่องโมเดลธุรกิจใหม่ในภูมิภาค หาแนวปฏิบัติที่ดี รวมถึงพยายามตั้งกองทุนในการสนับสนุนให้เกิดการดำเนินงานได้จริง เกิดการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี ทำให้ทุกเขตเศรษฐกิจสามารถทำเศรษฐกิจหมุนเวียนร่วมกันได้ และต้องมีตัวชี้วัดความก้าวหน้าในการดำเนินงาน โดยจะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนมีความสำคัญและโอกาสอย่างมาก ประเทศไทยต้องเริ่มขยับตัวให้เร็วขึ้นเพื่อธุรกิจไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของโลกสามารถปรับตัวให้เข้ากับแนวโน้มทางธุรกิจรูปแบบใหม่ กฎระเบียบและมาตรฐาน และความต้องการของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

สำหรับแผนการดำเนินงานต่อไปนั้น ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า อยู่ในกระบวนการพัฒนาโครงการความร่วมมือระดับนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ร่วมกับพันธมิตรที่สำคัญในเขตเศรษฐกิจเอเปค เพื่อสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในต่างประเทศ ตลอดจนสร้างช่องทางการได้มาซึ่งข้อมูลความต้องการ สถานภาพ และศักยภาพทางเทคโนโลยีของประเทศสมาชิก ซึ่งจะสามารถก่อให้เกิดประโยชน์กับการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของผู้เล่นในประเทศไทยและเขตเศรษฐกิจเอเปคต่อไป

เรื่องล่าสุด