บริษัท ซียู เอ็นเทอร์ไพรส์ จำกัด และศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub) จัดโครงการฝึกอบรม “หลักสูตรวุฒิบัตรสำหรับกรรมการบริษัทโฮลดิ้งของมหาวิทยาลัย University Holding Company Directorship Certification Program (UHCDP) รุ่นที่ 2” เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2566 ณ ห้องจามจุรี 1 และ 2 ชั้น M โรงแรมปทุมวันปริ้นเซส โดยมีผู้ให้ความสนใจร่วมอบรมเป็นจำนวนมาก
ในพิธีเปิดโครงการฝึกอบรมได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ และ ศ.สพ.ญ.ดร.เกวลี ฉัตรดรงค์ รองอธิการบดี ด้านการวางและกำหนดยุทธศาสตร์ นวัตกรรม และพันธกิจสากล จุฬาฯ เป็นผู้กล่าวเปิดงาน และนางสาวนิรดา วีระโสภณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ กลุ่มยุทธศาสตร์เศรษฐกิจนวัตกรรม สังคมและความร่วมมือ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) บรรยายพิเศษเกี่ยวกับนโยบายส่งเสริม University Holding Company หรือบริษัทโฮลดิ้งของมหาวิทยาลัย เพื่อผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์
นางสาวนิรดา ได้บรรยายเกี่ยวกับนโยบายของสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยจัดตั้งและดำเนินการบริษัทโฮลดิ้ง เพื่อร่วมลงทุนในธุรกิจนวัตกรรม เพื่อการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ โดยสภานโยบายฯ มีนโยบายให้มหาวิทยาลัยสามารถนำเงินรายได้ไปร่วมลงทุนได้ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จะสนับสนุนการปรับปรุงกฎระเบียบภายในมหาวิทยาลัยให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจดังกล่าว เพื่อสร้างให้เกิด spin-off และ สตาร์ทอัพที่สามารถนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น พร้อมทั้งส่งเสริมให้นักวิจัย อาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่มีความสนใจดำเนินธุรกิจนวัตกรรมสามารถไปปฏิบัติงานในบริษัทโฮลดิ้งได้ สามารถไปเป็น CTO หรือ Chief Technology Officer ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี และ CEO หรือ Chief Executive Officer ประธานเจ้าหน้าที่บริหารได้ โดยให้ทำความตกลงกับมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังสามารถอนุญาตให้ธุรกิจนวัตกรรมใช้โครงสร้างพื้นฐานของมหาวิทยาลัยได้อัตราพิเศษในช่วงตั้งต้นที่ยังไม่มีกำไรได้ด้วย
สำหรับหลักสูตรประกาศนียบัตรสำหรับกรรมการบริษัทโฮลดิ้งของมหาวิทยาลัย รุ่นที่ 2 ส่งเสริมให้ผู้บริหารของบริษัทโฮลดิ้งที่เข้ารับการอบรมที่มีการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา และการลงทุนในบริษัทที่นำผลงานนวัตกรรมจากงานวิจัยของคณาจารย์และนักวิจัยในมหาวิทยาลัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงสังคมและพาณิชย์ ได้เรียนรู้บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในฐานะกรรมการบริษัท เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลองค์กร นำมาซึ่งการดำเนินงานที่ส่งผลให้เกิดความยั่งยืนของบริษัท และมีการปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย