(23 กุมภาพันธ์ 2566) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) นำทีมโดย ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. และ นางสาวนิรดา วีระโสภณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สอวช. ได้เข้าเยี่ยมชมเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ณ วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง พร้อมด้วยผู้บริหารและพนักงาน สอวช.
ในช่วงเช้า สอวช. ได้เข้าเยี่ยมชมสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) และได้รับการต้อนรับโดย รศ.ดร. ธนิต ผิวนิ่ม ผู้ช่วยอธิการบดี รศ.ดร.สรณะ นุชอนงค์ คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (School of Information Science and Technology: IST) และ ศ.ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น คณบดีสำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล (School of Molecular Science and Engineering: MSE) ซึ่งสถาบันวิทยสิริเมธีเป็นสถาบันที่มุ่งเน้นการจัดการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยี เป็นศูนย์รวมนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญสูง สร้างความร่วมมือทางด้านวิจัยกับสถาบันการศึกษา ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมและหน่วยงานด้านการวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
จากนั้น สอวช. ได้เข้าเยี่ยมชมโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ได้รับการต้อนรับโดย ผศ.ดร.บุญโชติ เผ่าสวัสดิ์ยรรยง ผู้อำนวยการโรงเรียนกำเนิดวิทย์ โดยโรงเรียนกำเนิดวิทย์ได้ดำเนินการจัดตั้งเพื่อเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำให้กับผู้มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมปลาย
ในช่วงบ่าย สอวช. ได้เข้าศึกษาดูงานอาคารศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ (Intelligence Operation Center หรือ IOC) ของกลุ่ม ปตท. ซึ่งออกแบบภายใต้แนวคิดเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ครบทั้ง 7 ด้าน ตามหลักเกณฑ์ที่จะต้องมีศูนย์กลางในการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคของเมืองอย่างเบ็ดเสร็จและมีประสิทธิภาพ ด้วยระบบปฏิบัติการและระบบติดตามที่ทันสมัย
ต่อมาได้เข้าเยี่ยมชมเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor of Innovation (EECi) ซึ่งเป็นแหล่งพัฒนางานวิจัยขยายผล (Translational Research) และเป็นแหล่งปรับแปลงเทคโนโลยีขั้นสูงจากต่างประเทศ (Technology Localization) ให้เข้ากับบริบทของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน และได้เข้าชม EECi ARIPOLIS: ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center: SMC) และ EECi Biopolis: โรงเรือนปลูกพืชและโรงงานผลิตพืช (Smart Green house) อีกด้วย
ขณะนี้ สอวช. อยู่ในขั้นตอนการศึกษาแนวทางการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ อาหารแห่งอนาคต และ Creative content การเดินทางเยี่ยมชมครั้งนี้ สามารถเป็นแนวทางในการจัดทำนโยบายแบบมุ่งเป้าเพื่อดึงดูดให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งในมิติของเทคโนโลยี แรงงานทักษะสูง และโครงสร้างพื้นฐาน เช่น นิคมอุตสาหกรรมนวัตกรรม (Innovation Industrial Park) เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการของไทยให้มีขีดความสามารถในการเป็นห่วงโซ่อุปทานโลก (Global supply chain)