เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2566 ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ได้เป็นประธานคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง ด้านการส่งเสริมนวัตกรรมการอุดมศึกษา ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ อนุมัติหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์หลักสูตรใหม่เพิ่มเติมอีก 2 หลักสูตร คือหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งเป้าผลิตกำลังคนในกลุ่มวิศวกรคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล 1,200 คน จุดเด่นของหลักสูตรนี้คือการเปิดโอกาสให้นิสิตได้ฝึกประสบการณ์วิชาชีพผ่านการฝึกงานสม่ำเสมอทุกชั้นปี คือเรียนทฤษฎีของแต่ละชั้นปีจบก็จะได้ฝึกงานทุกปี โดยจะได้รับประกาศนียบัตร (Certificate) รับรองรายภาคการศึกษา หรือกล่าวง่ายๆ ว่าเมื่อเรียนจบแต่ละชั้นปีนักศึกษาสามารถออกไปประกอบอาชีพได้ด้วยโดยสะสมหน่วยกิตไว้ในคลังหน่วยกิต เมื่อพร้อมกลับมาเรียนก็สามารถมาเรียนต่อได้ทันที รวมทั้งใช้เทคโนโลยีออนไลน์ในการสอนทำให้สามารถรองรับนิสิตได้จำนวนมากขึ้น และใช้โจทย์จริงจากภาคอุตสาหกรรมในการทำโครงงาน และในอนาคตยังสามารถใช้ประโยชน์จากมาตรการ Thailand Plus Package ในการจับคู่ตำแหน่งงานให้นิสิตมีงานทำทั้งในระหว่างเรียนและหลังจบการศึกษา และการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับสถานประกอบการสำหรับการจ้างงานบุคลากรอีก 1.5 เท่า ซึ่ง อว. จะใช้เป็นต้นแบบเพื่อขยายกำลังการผลิตกำลังคนด้านดิจิทัลในกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล การบินและโลจิสติกส์ หุ่นยนต์ ยานยนต์แห่งอนาคต อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การเกษตรและเทคโนโลยี ชีวภาพ การท่องเที่ยวกลุ่มผู้มีรายได้สูงและเชิงสุขภาพ ซึ่งมีความต้องการบุคลากรรวมมากถึง 37,205 คน
รมว.อว. กล่าวต่อว่า ยังได้อนุมัติหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ การจัดการบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการบินนานาชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ตะวันออก เพิ่มการผลิตกำลังคนในกลุ่มพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน จุดเด่นของหลักสูตรนี้เป็นการจัดการศึกษาร่วมกับภาคผู้ใช้บัณฑิตอย่างเข้มข้น ใช้ผู้สอนที่มีประสบการณ์ตรงในสายงาน อีกทั้งเป็นหลักสูตรมาตรฐานระดับสากลได้รับการรับรองจากองค์กรการบินนานาชาติ ICAO/IATA พร้อมประกาศนียบัตร โดยบัณฑิตทุกคนจะได้รับการจ้างงาน 100% รวมถึงยังเปิดโอกาสให้กลุ่มนักศึกษาชั้นปีที่ 3-4 จากหลักสูตรอื่นสามารถเข้าศึกษาและได้รับปริญญาใบที่สอง หรือ Double Degree ได้ โดยทั้ง 2 หลักสูตรที่ได้รับการอนุมัตินี้ สามารถให้สถาบันอุดมศึกษาอื่นใช้เป็นต้นแบบในการดำเนินการในลักษณะเดียวกันได้
“หลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ที่ผ่านการอนุมัติ ส่งผลต่อการพัฒนากำลังคนที่ตรงกับความต้องการของประเทศอย่างรวดเร็วและเป็นจำนวนมาก และยังช่วยพัฒนาทักษะในสาขาอาชีพที่จำเป็นในอนาคตให้กับนักศึกษาด้วย สามารถเข้าไปเสริมความต้องการของภาคอุตสาหกรรมได้ทันที”
ด้าน ศ.ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. และประธานคณะทำงานเพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา กล่าวว่า ปัจจุบันมีข้อเสนอเชิงหลักการฯ รวม 162 ข้อเสนอที่ยื่นเข้ามาเพื่อขอรับการอนุมัติเป็นหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ดีและเป็นมิติใหม่ของอุดมศึกษาไทย แต่หลักสูตรส่วนใหญ่ที่เสนอเข้ามา คณะทำงานได้เห็นชอบให้สามารถดำเนินการได้เลยตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2565 ไม่จำเป็นต้องขอผ่านแซนด์บ็อกซ์ เพราะเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรใหม่ เปิดกว้างและปลดล๊อกข้อจำกัดต่างๆ ไปมากแล้ว
ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ในฐานะเลขานุการการประชุมฯ กล่าวว่า สำหรับความก้าวหน้าของข้อเสนอที่ได้รับการอนุมัติไปแล้วอย่างหลักสูตรการผลิตกำลังคน High tech Entrepreneur ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และหลักสูตรการผลิตกำลังคนด้านวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์และดิจิทัล มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ปัจจุบันได้เปิดรับสมัครนักศึกษาเข้าสู่หลักสูตรแล้ว