messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. แบ่งปันประสบการณ์ พร้อมชี้แนวทางการจัดทำการประเมินความต้องการเทคโนโลยีเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บนเวที UN

สอวช. แบ่งปันประสบการณ์ พร้อมชี้แนวทางการจัดทำการประเมินความต้องการเทคโนโลยีเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บนเวที UN

วันที่เผยแพร่ 3 มีนาคม 2023 770 Views

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) นำโดย ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สอวช. ในฐานะผู้ประสานงานหลักของหน่วยประสานงานกลางด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (National Designated Entity: NDE) ภายใต้กลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Mechanism) ของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ได้รับเชิญให้เข้าร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในการจัดทำการประเมินความต้องการเทคโนโลยีเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ในงาน Global Technology Needs Assessment project workshop จัดโดย UNEP DTU Partnership ได้แก่ UNEP ร่วมกับ UNFCCC Secretariat และ Global Environment Facility (GEF) ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 2 มีนาคม 2566 ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ

ดร.สุรชัย ได้เปิดเผยประสบการณ์และความสำเร็จของการประเมินความต้องการเทคโนโลยี (Technology Needs Assessment: TNA) โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่เข้ารอบในการจัดทำ TNA ในเฟส 1 รอบแรก ซึ่งมีประเทศที่เข้ารอบได้รับทุนจาก GEF ในการจัดทำ TNA เพียง 13 ประเทศ ประเทศไทยดำเนินการจัดทำการประเมินฯ แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2555 โดยรายงาน TNA ของประเทศไทยเผยแพร่บนเว็บไซต์ https://tech-action.unepccc.org/country/thailand/ ประกอบด้วยการประเมินความต้องการเทคโนโลยีเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (TNA) และแผนปฏิบัติการเทคโนโลยี (Technology Action Plan: TAP) ด้านการปรับตัว (Adaptation) ในสาขาการบริหารจัดการน้ำ การเกษตร และเทคโนโลยีแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ และด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Mitigation) ในสาขาการจัดการพลังงาน โดยผลลัพธ์ของรายงาน TNA ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์และอ้างอิงในการทำแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2564 – 2573 (Thailand’s Nationally Determined Contribution (NDC) Roadmap on Mitigation (2021-2030) แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (National Adaptation Plan: NAP) และแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558 – 2593

ปัจจุบันโครงการ TNA ยังมีความสำคัญต่อประเทศไทยในเวทีเจรจาระดับสากลเพื่อขอรับการสนับสนุนในการดำเนินงานภายใต้ Article 4.5 ของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) และ Article 10 ของ ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งรายงาน TNA ของประเทศไทยที่แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2555 ได้รับการยอมรับในด้านคุณภาพจากเวทีนานาชาติและเป็นกรณีตัวอย่างที่สำคัญให้แก่ประเทศที่เพิ่งเริ่มดำเนินการ โดยประเทศไทยได้รับเชิญให้แบ่งปันประสบการณ์การทำ TNA ในการประชุมระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง

เรื่องล่าสุด