messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. ลงนามความร่วมมือผลักดัน 5 ข้อเสนอด้านนโยบาย ในโครงการความร่วมมือใต้-ใต้ และไตรภาคีด้าน วทน. ระหว่างประเทศ CLTV หวังเพิ่มขีดความสามารถระดับประเทศเชื่อมโยงความร่วมมือระดับภูมิภาค

สอวช. ลงนามความร่วมมือผลักดัน 5 ข้อเสนอด้านนโยบาย ในโครงการความร่วมมือใต้-ใต้ และไตรภาคีด้าน วทน. ระหว่างประเทศ CLTV หวังเพิ่มขีดความสามารถระดับประเทศเชื่อมโยงความร่วมมือระดับภูมิภาค

วันที่เผยแพร่ 1 เมษายน 2023 560 Views

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) นำโดย ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ร่วมการลงนามความร่วมมือและเสวนาโต๊ะกลม ภายใต้โครงการความร่วมมือใต้-ใต้ และไตรภาคี ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ระหว่างประเทศกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ไทย และเวียดนาม (CLTV) (South-South and Triangular Collaboration Programme on Science, Technology and Innovation among Cambodia, Lao PDR, Thailand and Viet Nam) เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 จัดโดย คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมของเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific: ESCAP) ร่วมกับ หน่วยงานภาคีของทั้ง 4 ประเทศ ได้แก่ สอวช. หน่วยงานภาคีของประเทศไทย General Department of Science, Technology and Innovation, Ministry of Industry, Science, Technology & Innovation หน่วยงานภาคีของประเทศกัมพูชา Department of Science, Ministry of Education and Sport of the Lao People’s Democratic Republic หน่วยงานภาคีของ สปป. ลาว และ State Agency of Technology Innovation of the Ministry of Science and Technology หน่วยงานภาคีของประเทศเวียดนาม จัดขึ้น ณ ศูนย์ประชุมแห่งสหประชาชาติ และผ่านระบบออนไลน์

สำหรับความสำคัญของความร่วมมือ ใต้-ใต้ เป็นการช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน ที่สามารถร่วมกันแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดี รวมถึงการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่จะสามารถปรับเข้ากับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละประเทศได้ อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมให้ประเทศกำลังพัฒนามีเสียงและมีพลังที่มากขึ้นในเวทีโลก โดยแนวทางที่ ESCAP นำมาใช้เพื่อสนับสนุนการพัฒนาความร่วมมือภายใต้โครงการนี้ ส่วนสำคัญคือการใช้นวัตกรรม รวมถึงกระบวนการทำงานร่วมกันที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้ทำนโยบายได้กำหนดเป้าหมายร่วมและประเด็นสำคัญในการทำงาน อีกทั้งยังมีการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างพันธมิตรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษาจากกัมพูชา ลาว ไทย และเวียดนาม เพื่อผลักดันให้เกิดข้อเสนอที่จะดำเนินการร่วมกันทั้งหมด 5 ข้อเสนอ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทั้ง 4 ประเทศจะมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนไปพร้อมกันได้

ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า จากข้อเสนอทั้ง 5 ข้อเสนอที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการนี้ ประเทศไทยเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนข้อเสนอการจัดทำแพลตฟอร์มด้าน วทน. สำหรับการจัดทำบรรจุภัณฑ์พลาสติกในรูปแบบวงจรปิด และทำงานร่วมกับ สปป. ลาว ในข้อเสนอการสร้างความยั่งยืนในห่วงโซ่คุณค่าของมันสำปะหลัง ซึ่งทั้ง 2 ข้อเสนอนี้สอดคล้องกับการดำเนินงานตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติ ที่จะทำให้เกิดการส่งเสริมการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีประสบการณ์ในการริเริ่มกำหนดและดำเนินการด้านนโยบาย วทน. ที่จะสามารถสนับสนุนข้อเสนออีก 3 ข้อเสนอได้ ตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์ม ASEAN Talent Mobility และแพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง เช่น โครงการบูรณาการการเรียนรู้ร่วมกับการทำงาน (Work-integrated Learning : WiL) ที่ เป็นความคิดริเริ่มที่สามารถเป็นประโยชน์ต่อข้อเสนอการพัฒนาทุนมนุษย์ที่กัมพูชาเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนได้ ส่วนข้อเสนอเกี่ยวกับการพัฒนาสตาร์ทอัพในระดับภูมิภาค รวมถึงศูนย์ถ่ายทอดและนำเทคโนโลยีไปใช้ ที่นำโดยเวียดนาม ยังสามารถใช้ประโยชน์จาก Innovation Club Thailand ได้

“เชื่อมั่นว่าภายใน 3 ปีที่ดำเนินโครงการความร่วมมือนี้ ผนวกกับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องของ ESCAP เราจะสามารถสร้างเครือข่ายผู้กำหนดนโยบายด้าน วทน. และเพิ่มพูนประสบการณ์ในการกำหนดและการพัฒนานโยบาย รวมถึงส่งเสริมการกำหนดนโยบายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในภูมิภาคของเราได้ โดย สอวช. พร้อมที่จะสนับสนุนโครงการความร่วมมือนี้อย่างเต็มที่” ดร.กิติพงค์ กล่าว

ในส่วนของการจัดเวทีเสวนาโต๊ะกลม ได้เปิดให้ผู้แทนในการดำเนินการแต่ละข้อเสนอ นำเสนอสิ่งที่แต่ละประเทศจะขับเคลื่อน และแนวทางในการทำงานร่วมกัน โดยข้อเสนอทั้ง 5 ข้อเสนอประกอบด้วย 1) ข้อเสนอ Scale-up readiness program for regional startups นำโดย ประเทศเวียดนาม 2) ข้อเสนอ Human capital development: Expanding technology and digital skills in the workforce and STEM education นำโดย ประเทศกัมพูชา 3) ข้อเสนอ Regional Alliance of Technology Transfer and Adoption Centers นำโดย ประเทศเวียดนาม 4) ข้อเสนอ STI Platform for Closed Loop Plastics Packaging นำโดย ประเทศไทย และ 5) ข้อเสนอ Policy Design and Implementation Support – Sustainability of Cassava Value Chain นำโดย ประเทศไทย ร่วมกับ สปป. ลาว

เรื่องล่าสุด